ข่าวประชาสัมพันธ์

เนคเทคร่วมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พร้อมเปิดตัว Application MoomMae (มุมแม่)

วันที่ 25 สิงหาคม 2559 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการและเฉลิมฉลองนมแม่โลก 2559 พร้อมเปิดตัว Application MoomMae (มุมแม่) แอปพลิเคชั่นใหม่ที่สนับสนุนการให้นมแม่ สำหรับครอบครัวยุคใหม่ เข้าถึงง่าย สะดวก ปลอดภัย พร้อมเก็บบันทึกประวัติการให้นมได้อีกด้วย เริ่มต้นสู่การมีพัฒนาการด้านสุขภาพที่ดีของลูกน้อย ในปัจจุบันอัตราการเกิดของเด็กไทยอยู่ที่ปีละประมาณ 700,000 กว่าคน เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่อัตราการเกิดอยู่ที่ประมาณ 800,000 คน จะพบว่าอัตราการเกิดในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรายิ่งต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เกิดมาแล้วของประเทศ หากนับตั้งแต่เด็กเกิดมาเป็นทารก สิ่งแรกที่เราจะช่วยพัฒนาทรัพยากรของประเทศได้ก็คือการสนับสนุนให้เด็กได้กินนมแม่ เพราะนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็ก มีสารอาหารที่เด็กต้องการอย่างครบถ้วน ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้แก่เด็กได้ สะอาดและปลอดภัย ประหยัด ไม่ต้องซื้อหา และยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแม่กับลูก ความอบอุ่นที่ลูกได้รับจากกระบวนการให้นมแม่ ตามแนวทางปฏิบัติที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำไว้ เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน

พัฒนาศักยภาพงานวิจัยไทย ต่อยอด MuEye สู่ MuISET

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน Special Talk success case: From MuEye to MuISET นำเสนอผลงานจากห้องวิจัย สู่การริเริ่มแนวคิดเชิงธุรกิจ บ่มเพาะ Startup ด้วยต้นทุนทางปัญญา พร้อมเปิดตัว บริษัท มิวไอเซต จำกัด (MuISET) นำร่องสร้างธุรกิจจากงานวิจัย โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการเนคเทค คุณรนนท์ พงศาจารุ กรรมการผู้ถือหุ้น MuISET และคุณจักรกฤษณ์ กำทองดี นักวิจัยและกรรมการผู้จัดการ MuISET ร่วมในงาน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา จากแนวคิดโครงการวิจัยการใช้ประโยชน์จากเครื่องสมาร์ทโฟนให้กลายเป็นกล้องจุลทรรศน์ภายใต้ชื่อTWI-VIS หรือเลนส์ทวิทรรศน์ติดอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบพกพาเป็นเลนส์ที่ทำจากพอลิเมอร์ ทวิทรรศน์มีสองกำลังขยาย

NECTEC และ SIPA จับมือ 4 จังหวัดพันธมิตร ขยายผลการใช้งานระบบระเบียนสุขภาพบุคคล (PHR)

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดร.ศรัณย์ สัมฤทธ์เดชขจร ผู้อำนวยการเนคเทค ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา การใช้งานระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR) ร่วมกับ สำนักงานอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน จาก 3 กระทรวง ในการขับเคลื่อนขยายผลการใช้งานระบบ PHR ในระดับจังหวัดต่อไป ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR) นี้เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลและโรงพยาบาลกับหน่วยงานเกี่ยวกับสาธารณสุขของประชาชนในแต่ละจังหวัด อาทิ ข้อมูลทั่วไป ประวัติการรักษาที่ผ่านมา การแพ้ยา รวมถึงนำเข้าข้อมูลการดูแลสุขภาพของแต่ละบุคคล การออกกำลังกาย

ภัยเงียบของแบตเตอรี่เถื่อน

ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญอุปกรณ์หนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยสถิติการใช้งานโทรศัพท์มือถือล่าสุด ระบุว่าปี พ.ศ.2559 คนไทยมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมากถึง 83 ล้านคน โดยใช้สำหรับติดต่อสื่อสาร, ทำธุรกรรมทางการเงิน, เพื่อความบันเทิงและผ่อนคลาย รวมถึงการซื้อขาย-แลกเปลี่ยน เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่าเมื่อโทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างแน่นอน ปัญหาที่พบมากในการใช้โทรศัพท์มือถือ คือ แบตเตอรี่เสื่อม ซึ่งมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การใช้งานโทรศัพท์มือถือขณะชาร์จไฟแบตเตอรี่, การใช้อุปกรณ์การชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน และการใช้งานแบตเตอรี่ปลอม เป็นต้น ซึ่งการใช้งานที่ผิดวิธีอาจนำมาซึ่งอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราได้ เนคเทคจึงได้นำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอันตรายและวิธีการเลือกซื้อแบตเตอรี่ที่ได้มาตรฐานมานำเสนอ เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมกันป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานแบตเตอรี่เถื่อน  [Download PDF] แบตเตอรี่เป็นแหล่งเก็บพลังงานของโทรศัพท์มือถือ ประกอบด้วยหลากหลายชิ้นส่วน ทั้งวงจรทางอิเล็กทรอนิกส์ และสารเคมีหลากหลายชนิด แบตเตอรี่เถื่อน คือ แบตเตอรี่ที่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพ ไม่มีกลไกป้องกันแผงวงจรซึ่งเป็นมาตรฐานโดยทั่วไป อาจมีการใช้สารเคมีที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและนำมาจัดจำหน่ายในราคาถูกกว่าปกติ การนำมาใช้งานจึงเสี่ยงต่อการลัดวงจร ไฟไหม้ และระเบิดได้ นอกจากนี้แบตเตอรี่เถื่อนยังเสี่ยงต่อการรั่วซึมของสารเคมีที่บรรจุอยู่ภายใน เนื่องจากในแบตเตอรี่มีสารเคมีมากมายเป็นส่วนประกอบหลากหลายชนิด โดยพิษของสารเคมีในแบตเตอรี่ที่มีต่อร่างกายของเรามีดังนี้ แคดเมียม ซึ่งหากสะสมในร่างกายในปริมาณถึงระดับหนึ่งก็จะก่อให้เกิดโรคไตวายได้ และเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งโดยการสูดดม ตะกั่ว เป็นสารก่อมะเร็ง และมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง