ติดตามการใช้งาน IDA Platform ยกระดับกระบวนการการผลิตที่ ไทยก้าวไกลกรุ๊ป

Facebook
Twitter

ดร. พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค และ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ในฐานะหัวหน้าโครงการ IDA Platform พร้อมด้วย ดร. กุลชาติ  มีทรัพย์หลาก หัวหน้าทีมระบบไซเบอร์กายภาพ ดร. พรพรหม อธีตนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี และทีมวิจัยเนคเทค สวทช. เดินทางเข้าเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการ IDA Platform ณ บริษัท ไทยก้าวไกลกรุ๊ป (TGG) จำกัด จังหวัดปทุมธานี โดยมี คุณวิรัช ชัยอัศวนันต์ รองกรรมการผู้จัดการฯ พร้อมด้วยคณะให้การต้อนรับ นำชมพื้นที่ติดตั้ง IDA Platform และร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนมุมมองการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิต เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565

คุณวิรัช กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือกับเนคเทคว่า โครงการนี้เกิดจาก Pain Point ของบริษัทเรื่องการบริหารจัดการเครื่องจักรที่ยังไม่เป็น Real-time ทำให้เกิดของเสียมากขึ้น โครงการแรกที่ TGG  ร่วมงานกับเนคเทค คือ การเข้าร่วม แข่งขัน Smart Factory IoT Challenge 2020 และในปีนั้น TGG ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดย TGG ได้ติดตั้ง Sensor เชื่อมต่อกับ URCONNECT เพื่อรับค่าพารามิเตอร์ของระบบ Cooling Tower จากร่วมแข่งขันปีนั้น ช่วยให้ TGG สามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์  วางแผน  กำหนดมาตรการลดต้นทุนได้ สร้างคุณประโยชน์ต่อบริษัทเป็นอย่างมาก  อีกทั้งช่วยเพิ่มผลิตภาพลดภาระการตรวจสอบระบบ ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และมีการลงทุนด้วยค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก นับเป็นกิจกรรมแรก และนำมาสู่ ความร่วมมือกับ NECTEC ในโครงการ IDA Platform 

คุณนัทธวัฒน์ วิริยจิตตโสภณ ผู้ช่วยผู้จัดการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน สรุปสถานภาพปัจจุบันของ IDA Platform ได้ติดตั้งอุปกรณ์ URCONNECT เพื่อดึงสัญญาณการตรวจวัดพลังงานไฟฟ้า ณ โรงงาน TGG ในส่วนของตู้ควบคุมไฟฟ้าหลักภายในโรงงานหรือ Main Distribution Board (MDB) ไลน์การผลิต (Production line) และระบบสนับสนุนกระบวนการผลิต (Utility systems) ทำให้สามารถติดตาม ตรวจสอบผลการใช้ไฟฟ้า ดูปริมาณการใช้ไฟฟ้าแบบ Real-time และย้อนหลังผ่าน Dashboard ได้ เช่น ตัวประกอบการใช้ไฟฟ้า (Load Factor), ตัวประกอบกำลังไฟฟ้า (Power Factor), กำลังไฟฟ้า (Power), ปริมาณการใช้พลังงาน (Energy Consumption) นอกจากนี้ URCONNECT ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตรวจวัดอื่น ๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการวัดอุณหภูมิ ความดัน และระดับน้ำ นอกจากนี้ โรงงานสามารถเพิ่มเติมอุปกรณ์ตรวจวัดในส่วนอื่น ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย 

TGG ให้ความเห็น ว่าโครงการนี้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากช่วยเรื่องการวางแผนการใช้พลังงานไฟฟ้าของโรงงาน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำผลการใช้พลังงานไฟฟ้าแต่ละไลน์ผลิต มาวางแผน เปิด-ปิด เครื่องจักรให้เหมาะสมโดยพิจารณาที่ตัวประกอบการใช้ไฟฟ้า (Load factor) ของระบบเป็นหลัก (>80%) และนำข้อมูลมาช่วยในการวิเคราะห์ เพื่อจัดทำมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า รวมทั้ง เรื่องความยั่งยืนด้านพลังงานไฟฟ้าที่จะรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์เชิงตัวเลขต่อไป

ว่าที่ ร้อยตรี ธานี โกสุม ผู้ติดตั้งระบบฯ (System Integrator : SI ) กล่าวเสริมว่า  TGG เป็นบริษัทผู้นําด้านการผลิตท่อและอุปกรณ์ HDPE ท่อ LDPE และแผน HDPE Geomembrane ในกระบวนการผลิตท่อ HDPE ท่อ LDPE มีการใช้ระบบ Cooling Tower ในการระบาย ความร้อน บริษัทมีความต้องการดึงค่าพารามิเตอร์ของระบบ Cooling Tower ขึ้นระบบ ออนไลน์เพื่ออํานวยความสะดวกในการดูความผิดปกติ ของระบบ ทําให้มีความรวดเร็วในการ ตัดสินใจในการซ่อมบํารุงเมื่อเกิดปัญหากับระบบการผลิต อีกทั้ง ยังสามารถบันทึกข้อมูล เพื่อนําค่าพารามิเตอร์ของระบบมาวิเคราะห์ต่อไปในอนาคต โดยโครงการฯ จัดให้มี SI พร้อมด้วยทีมวิจัยจากเนคเทคร่วมให้คำปรึกษา วิเคราะห์ และ ออกแบบระบบร่วมกัน กับทีมของ TGG ตลอดระยะเวลาโครงการ

คุณรวมลาภ อนันตศานต์  ที่ปรึกษาโครงการฯ ให้ข้อเสนอแนะเรื่อง Dashboard โดยเสนอให้ทีมพัฒนาปรับ-เพิ่มโมดูลต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ทราบข้อมูล ของการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ส่วนระบบ Cooling Tower นั้น  จากการที่ TGG เข้าร่วมโครงการ Smart Factory IoT Challenge 2020 เมื่อปี 2020 นั้น ทำให้ TGG ยังสามารถใช้ตัวเดิมได้ดี อีกทั้งสามารถนำข้อมูลเดิมมาใช้ร่วมกับ IDA Platform ซึ่งมีโมดูล Cooling Tower อยู่แล้ว ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์จากการวางแผนการใช้พลังงาน โดย IDA Platform สามารถจัดการข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ ทั้งการดึงข้อมูล บันทึกข้อมูล ซึ่งสามารถลดภาระงานในส่วนนี้และช่วยให้โรงงานวิเคราะห์และวางแผนได้ง่ายขึ้น 

นอกจากนี้ TGG  และทีม IDA Platform ได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจาก โจทย์วิจัยอื่นๆ ที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้ายกระดับกระบวนการผลิต เช่น การประยุกต์ใช้ IoT ในภาคอุตสาหกรรม การประยุกต์ใช้แขนกลในสายการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้กำลังคน เป็นต้น

ในช่วงท้าย ดร. พนิตา และ ดร. พรพรหม ยังได้นำเสนอบริการให้คำปรึกษาเพื่อขอรับ การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ BOI และสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิกศูนย์นวัตกรรม การผลิตยั่งยืน (SMC) ที่สามารถตอบโจทย์โรงงานที่ต้องเพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิต ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งเชิญ บริษัท ไทยก้าวไกลกรุ๊ป จํากัด เป็นสมาชิก SMC Membership ด้วย

ติดตามรายละเอียดสมัครสมาชิก SMC
https://www.nectec.or.th/smc/services-membership/