กลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมอบรม “Industrial Automation Training Systems” รุ่นที่ 2 ให้กับ อาจารย์ นักศึกษา บุคคลทั่วไป บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน และ 1-3 ธันวาคม 2564 ณ ห้องบุษกร (ชั้น 1) อาคารเนคเทค , อาคาร Nectec Pilot Plant สวทช. จ.ปทุมธานี
ในโอกาสนี้ ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ให้เกียรติกล่าวเปิดการอบรมฯ ณ ห้องบุษกร เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้มีเป้าหมายช่วยภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ต้องเร่งปรับตัวประเด็นที่เราพบว่าหลาย ๆ บริษัทไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มอย่างไร จะปรับปรุงในส่วนไหนของกระบวนการผลิต จะเอาเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้จากจุดไหนก่อน ตรงนี้เรามีบริการประเมินความพร้อมและวิเคราะห์ปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรม การให้คำปรึกษาเพื่อเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่พร้อมปรับตัว ทำให้ทราบความพร้อมในมิติต่าง ๆ ของโรงงานอยู่ตรงไหน สามารถปรับปรุงทำให้เกิดการลงทุนที่คุ้มที่สุด โดยมีนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและช่วยพัฒนาโซลูชัน หรือ ร่วมวิจัยเพื่อแก้ปัญหาต่อไปได้ หวังว่ากิจกรรมอบรมในครั้งนี้สร้างความตระหนักและความเชื่อมั่นการใช้งานประโยชน์ของเทคโนโลยี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยและเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0
ภาพบรรยากาศการอบรมตลอด 5 วัน โดย อาจารย์ศิริโรจน์ งามเขียว บริษัท แอลดี ไดแด็คติค (ประเทศไทย) จำกัด และ คุณธีรัช จันจองคำ ทีมวิจัย CPS เนคเทค ทั้งเชิงทฤษฎี และ ปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) ระบบสกาด้า (SCADA) ระบบแขนกลอุตสาหกรรม (AUBO) การวัดประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (OEE) การสื่อสารระบบ QR Code Reader การประยุกต์ใช้งานสื่อสารระหว่าง PLC และแขนกล และ เรียนรู้การใช้งานการเชื่อมต่อ IIoT พร้อมได้ลงมือปฏิบัติจริงในการประยุกต์ใช้งานและออกแบบระบบ
Industrial Automation Training Systems เป็นชุดสาธิตจำลองระบบการผลิตอัตโนมัติในโรงงาน ที่แสดงองค์ประกอบสำคัญในสายการผลิตแบบอัตโนมัติ อาทิ การจัดการข้อมูลของระบบ การควบคุมการจ่ายและจัดเก็บชิ้นงานแบบอัตโนมัติที่สามารถตรวจสอบและรายงานผลสถานะของชิ้นงานในระบบได้ การวิเคราะห์ประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (OEE) การตรวจวัดความสมบูรณ์ของชิ้นงานด้วยระบบ Machine Vision ที่ทำงานร่วมกับแขนหุ่นยนต์ ไปจนถึงการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ไอโอที ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะต่อยอดระบบอัตโนมัติในยุคอุตสาหกรรม 3.0 ไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0 การจัดอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม อาจารย์ นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ได้รับความรู้ระบบการควบคุมระบบอัตโนมัติและสามารถประยุกต์ใช้งานและออกแบบระบบควบคุมระบบอัตโนมัติ 4.0