เมื่อวันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2559 โดย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เป็นประธานในการมอบรางวัล ซึ่งผลงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2559 จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่
- รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2559
- รางวัลระดับดี สาขาสังคมวิทยา
- ผลงาน EasyHos: ระบบนำทางคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐ
- โดย ดร. ชาลี วรกุลพิพัฒน์ และทีมวิจัย
EasyHos: ระบบนำทางคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐเป็นระบบที่บอกข้อมูลแก่คนไข้ทุกอย่างระหว่างที่ใช้บริการอยู่ในโรงพยาบาล เช่น ต้องไปทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร รอคิวอีกกี่คิว ต้องจ่ายเงินเท่าไร เบิกได้เท่าไร รายละเอียดใบเสร็จรับเงิน และยาที่จ่ายมีอะไรบ้าง รวมถึงมีแผนที่บอกตำแหน่ง และข้อมูลอื่นๆ เท่าที่โรงพยาบาลสามารถให้ได้ตราบที่คนไข้ควรจะรู้ จุดเด่นที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลไม่ต้องลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด เพราะ EasyHos ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าสูงสุด อีกทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรัฐก็ไม่ต้องปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานแต่อย่างใด EasyHos ช่วยให้คนไข้ไม่หลงขั้นตอนในโรงพยาบาล และลดความเครียดที่ต้องถามเจ้าหน้าที่ เพราะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ อีกทั้งเป็นการลดภาระเจ้าหน้าที่ที่ต้องตอบคำถามคนไข้อีกด้วย
- รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2559
- รางวัลระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์
- ผลงาน: SafeMate ระบบประเมินพฤติกรรมการขับขี่ด้วยโทรศัพท์ Smartphone
- โดย ดร. เฉลิมพล สายประเสริฐ และทีมวิจัย
SafeMate เป็นระบบประเมินพฤติกรรมการขับขี่ด้วยโทรศัพท์ Smartphone มีจุดเด่น คือ สามารถประเมินพฤติกรรมการขับขี่ได้แบบ Real-time และช่วยให้ผู้ขับขี่มีสติในการขับรถมากขึ้นด้วยการแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบเหตุการณ์การขับที่เข้าข่ายอันตราย หลังเสร็จสิ้นการใช้งานระบบจะทำการสรุปข้อมูลการขับรถของทั้งเส้นทาง และให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมการขับขี่เพื่อให้การขับครั้งต่อไปมีความปลอดภัยมากขึ้น ระบบเน้นที่การใช้งานง่าย และเข้าถึงง่าย ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริม แค่เพียงมี Smartphone เครื่องเดียวก็สามารถใช้งานได้ทันที
- รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจําปี 2559
- รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย
- ผลงาน: เครื่องวัดความหนาแบบไม่สัมผัสสำหรับการควบคุมการผลิตเลนส์สายตาและเลนส์ขนาดเล็ก
- โดย บุญส่ง สุตะพันธ์* อาโมทย์ สมบูรณ์แก้ว รัฐศาสตร์ อัมฤทธิ์ และ สถาพร จันทน์หอม ทีมจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ (PTL) หน่วยวิจัยอุปกรณ์และระบบอัจฉริยะ (IDSRU)
เครื่องวัดความหนาแบบไม่สัมผัสสำหรับการควบคุมการผลิตเลนส์สายตาและเลนส์ขนาดเล็ก (Optical apparatus for non-contact central thickness measurement of ophthalmic and small-radius lenses) เป็นผลงานวิจัยของห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ใช้สำหรับวัดความหนาตรงกลางเลนส์ ด้วยเทคนิคทางแสงแบบไม่สัมผัสที่มีความแม่นยำสูง ไม่ทำให้เกิดรอยที่ผิวเลนส์ อีกทั้งยังลดปัญหาในการวัดความหนาผิดพลาดของพนักงานลงได้ โดยบริษัท ไทยออปติคัลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้นำเครื่องมือวัดความหนาเลนส์แบบไม่สัมผัสไปใช้งานในการควบคุมคุณภาพการผลิตเลนส์ เริ่มตั้งแต่ปี 2548 และใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้ รวมระยะเวลากว่า 10 ปี โดยใช้การสุ่มตรวจเลนส์ประมาณ 4,000 ชิ้น/วัน ยังไม่พบว่ามีการวัดผิดพลาด และมีการตีกลับจากคู่ค้าในต่างประเทศเลย ผลงานวิจัยดังกล่าวได้ช่วยลดความเครียดในการปฏิบัติงาน และบันทึกผลการวัดได้อัตโนมัติผ่านโปรแกรมควบคุม บริษัทฯสามารถเรียกข้อมูลมาตรวจสอบหรือแจ้งเตือน ระหว่างการผลิตได้ทันทีหรือนำข้อมูลมาวิเคราะห์ภายหลังได้
*หมายเหตุ: ปัจจุบัน ดร. บุญส่ง สุตะพันธ์ หนึ่งในทีมวิจัยได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี