กรุงเทพฯ 5 ตุลาคม 2561 – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรภา เทียมจรัส นักวิจัยเนคเทค ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2561 จากผลงานวิจัยหัวข้อ “ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย” ซึ่งจัดโดยบริษัท ลอริอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วย การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประจำปี 2561 เป็นปีที่ 16 ของการจัดงาน เป็นทุนที่มอบให้กับนักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่น มุ่งหวังให้เกิดการสานต่อการค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
สำหรับปีนี้มีผู้เข้ารับทุนเป็นนักวิจัยสตรีทั้ง 5 ท่านจาก 2 สาขา
สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่
- ดร.จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง”
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.วริษา พงศ์เรขนานนท์ จากภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาบทบาทของโปรตีน CAMSAP ต่อความรุ่นแรงของเซลล์มะเร็งปอด”
- ดร.วิรัลดา ภูตะคาม จากห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมิน ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน”
สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่
- ดร.จุฬารัตน์ วัฒนกิจ จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การสังเคราะห์สารอิแนนทิโอเมอร์และการแยกไครัลโมเลกุลด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าบนขั้วโลหะเคมีไฟฟ้า” และ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรภา เทียมจรัส จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กับผลงานวิจัยหัวข้อ “ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรภา เทียมจรัส ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้กล่าวในโอกาสได้รับทุนว่า “ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ประชากรอายุ 60 ปี และมากกว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งประชากรสูงอายุมีความต้องการบริการด้านสุขภาพทั้งในการป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟูอย่างมาก แต่รัฐบาลอาจไม่สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุม นอกจากนี้สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุต่อจำนวนประชากรวัยทำงาน ยังจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแล ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังและดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงได้ศึกษาพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีโครงข่ายเซนเซอร์ร่างกายและไอโอที (Internet of Things: IoT) มาใช้สนับสนุนระบบการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย เริ่มต้นจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้จากผู้ดูแล ผู้ป่วย และผู้สูงอายะจากหลายๆ แหล่ง เพื่อนำมาพัฒนาอุปกรณ์และระบบสำหรับเฝ้าระวัง ตรวจจับ ป้องกัน และเแก้ไขปัญหารสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น ปัญหาแผลกดทับและการลื่นหกล้ม เป็นต้น
เซนเซอร์อัจฉริยะขนาดเล็กจะคอยเฝ้าระวังผู้สวมใส่และแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลหากมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น หรือผู้สวมใส่อยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที ด้วยทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมกิจกรรมของผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กองทุนนิวตัน (Institutional Links) และความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม (บริษัท ไวซ์ไซท์ จำกัด, หสม. ซอฟต์แวร์อิสระ, บริษัทเอเมทเวิร์คส์ จำกัด และบริษัทอัลฟ่า อีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด) สถานพยาบาล (โรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย) และศูนย์แฮมลินอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ทำให้การศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีนี้มีความก้าวหน้า ช่วยเพิ่มองค์ความรู้ให้นักวิจัย ลดเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลได้อีกด้วย
ดร.เบนโน โบเออร์ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ จากองค์การ การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานกรุงเทพฯ หรือ ยูเนสโกกรุงเทพฯ กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับทุนว่า “ยูเนสโก มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับลอรีอัลในการสนับสนุนและเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งจากผลการศึกษาของเราประเทศไทยนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีสตรีทำงานในสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยทางด้านงานวิทยาศาสตร์ โดยมีนักวิจัยสตรีเป็นสัดส่วนมากถึง 53เปอร์เซ็นต์1 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงและสะท้อนถึงการเห็นคุณค่าความสำคัญของสายงานวิทยาศาสตร์ในกลุ่มสตรีเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษา งานวิจัยและความเสมอภาคมาโดยตลอด เรามั่นใจว่า โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) จะเป็นหนึ่งในโครงการฯ ที่ช่วยส่งเสริมให้นักวิจัยสตรีดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพ และเป็นหนึ่งกำลังสำคัญที่เป็นกำลังใจสนับสนุนให้ประเทศไทยมีสตรีนักวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป
ปัจจุบัน โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มีนักวิจัยสตรีที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนี้มากกว่า 3,122 ท่าน จาก 117 ประเทศทั่วโลก ในประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40ปี ซึ่งในปีนี้ได้มีการปรับสาขาในการเปิดรับสมัครเหลือ 2 สาขา แต่ครอบคลุมวิทยาศาสตร์ทุกแขนงมากยิ่งขึ้น ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ และได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการรับสมัครและพิจารณาทุนวิจัย ด้วยการรับสมัครผ่านทางออนไลน์ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสังคมดิจิทัล โดยตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการในประเทศไทยมากว่า 16 ปี โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 69 ท่าน
ท่านสามารถเข้าชม คลิป แนะนำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรภา เทียมจรัส จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กับผลงานวิจัยหัวข้อ “ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Gzv1hD1yWe8
วันที่เผยแพร่ 8 ตุลาคม 2561 08:13