“Traffy Fondue” รับรางวัลผลงานวิจัย Impact สูง ปี 2565 ในมหกรรม TRIUP Fair 2022

Facebook
Twitter

โดย | คุณอารีรัตน์ อภัยกุลชร และ คุณกรรวี แก้วมูล
งานพัฒนาองค์กรและสื่อสารภายใน (ODIC) เนคเทค สวทช.

เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2565 ดร. กมล เขมะรังษี ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG) ตัวแทนคณะผู้บริหาร ศอ. และ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) เข้ารับรางวัล ผลงาน “แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองผ่านระบบพูดคุยอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ระดับดี ในสาขา Appropriate Technology จากเวทีผลการประกวดรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูง ประจำปี 2565 (Prime Minister’s TRIUP Award for Research Utilization with High Impact 2022) มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022 ภายใต้แนวคิด: ปลดล็อคความเป็นเจ้าของงานวิจัย สร้างศักยภาพไทยไร้ขีดจำกัด จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2565 ณ Mitrtown Hall 1-2 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์

โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ให้เกียรติมอบรางวัล พร้อมด้วย พลอากาศเอก ดร. ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 16 หน่วยงาน ร่วมพิธีเปิดงานและถ่ายภาพบนเวที

แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองผ่านระบบพูดคุยอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ได้รับรางวัล “ระดับดี” ในสาขา Appropriate Technology ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากประธาน กสว. และเงินรางวัลจากกองทุนส่งเสริม ววน. จำนวน 100,000 บาท โดยมีรายนามคณะผู้วิจัย ดังนี้

  1. ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม (หัวหน้าโครงการ)
  2. นายณพงศ์ วาณิชยพงศ์
  3. นายอรรถพล ก้อมมังกร
  4. นายนพปฎล ชะฎิล
  5. นายสุเมธ ปานกวีรัตน์
  6. นายกมนัช พรหมบำรุง
  7. นายก้องเกียรติ คันทะศรี
  8. นายธนโชติ ทับทิม
  9. นายปิติภูมิ โพสาวัง
  10. นายภาณวิชญ์ หาญพินิจศักดิ์

***สามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และรายละเอียดเพิ่มเติมของ Traffy Fondue ได้ที่ https://www.traffy.in.th

รางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูง 2565 “รางวัล Prime Minister’s TRIUP Award for Research Utilization with High Impact 2022” เป็นกิจกรรมการประกวดผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่สร้างผลกระทบสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อยกย่อง และสร้างความตระหนักในคุณค่าของผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นต้นแบบของผลงานที่สร้างผลกระทบสูง ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย รวมถึงนักวิจัยให้มีการส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งที่เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง (Deep Technology) และเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาสำคัญ หรือ การพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น โดยการจัดทำรางวัลครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจและสื่อให้เห็นความสำคัญและลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง (Deep Technology) และเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) รวมทั้งเป็นโอกาสในการนำเสนอผลงานที่มีคุณค่าให้สาธารณชนได้รับทราบ และเป็นการเปิดรับโอกาสการต่อยอดหรือการขยายผลกระทบให้มีระดับที่สูงขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564

รางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูงประจำปี 2565 คัดสรรมาจากจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวด 119 โครงการ ด้วยวิธีการลงคะแนนร่วมกับการอภิปรายความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ จำนวน 19 ท่าน เพื่อยกย่องและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย จนสามารถสร้างผลกระทบสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 รางวัล จาก 2 สาขา โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินสดมูลค่า 5 แสนบาท และยังมีรางวัลดีเด่น สาขาละ 2 รางวัล รวมเงินรางวัลทั้งสิ้นมูลค่า 1,400,000 บาท


การพิจารณารางวัลแบ่งออกเป็น 2 สาขา ได้แก่

1. สาขาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) เป็นผลงานงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการพัฒนาองค์ความรู้ขั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ลอกเลียนแบบได้ยาก และมีหลักฐานการใช้งานจากผู้ใช้ประโยชน์ สามารถระบุกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ขนาดของการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน
2. สาขาเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) เป็นงานวิจัย เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่มีความง่ายในการใช้งานในระดับที่สามารถบริหารจัดการเทคโนโลยีได้ด้วยตนเองในระดับท้องถิ่น มีความสอดคล้องกับประสบการณ์และความรู้ความสามารถของผู้ใช้ในระดับท้องถิ่นมีหลักฐานการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน หรือยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน และสร้างผลกระทบอย่างชัดเจนในวงกว้าง