เนคเทค สวทช. ร่วมเวทีเสวนา “Road to Industry 5.0: Leveraging Automation and IIoT for Smart Manufacturing” ในงาน Intelligent Asia Thailand 2025

Share to...

Facebook
X

6 มีนาคม 2568 เนคเทค สวทช. โดย คุณอุดม ลิ่วลมไพศาล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม เข้าร่วมพิธีเปิดงาน “Intelligent Asia Thailand 2025” งานแสดงเทคโนโลยีการผลิตแห่งอนาคตที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการผลิตอัจฉริยะ โดยได้รับเกียรติจากคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด

ในโอกาสนี้ คุณอุดมได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรบนเวที SPS Stage Bangkok ซึ่งเป็นเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “Road to Industry 5.0: Leveraging Automation and IIoT for Smart Manufacturing” (ประตูสู่อุตสาหกรรม 5.0: ยกระดับระบบอัตโนมัติและ IIoT สำหรับการผลิตอัจฉริยะ) ซึ่งเป็นเวทีเสวนาที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 5.0 เพื่อนำไปสู่การผลิตอัจฉริยะ โดยเวทีนี้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทยได้แลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต

เสวนานี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยที่มาร่วมถ่ายทอดมุมมอง ได้แก่: ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ดร.สุทัด ครองชนม์ นายกสมาคมไทยไอโอที (Thai IoT Association) คุณธีระ กิตติธีรพรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มทีเอ็กซ์ จำกัด (ผู้ดำเนินรายการ) โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญของการเสวนาครอบคลุมหัวข้อสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยุคใหม่ อาทิ:

แนวคิดและกลไกขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 5.0
อุตสาหกรรม 5.0 เป็นแนวทางการผลิตที่ผสมผสานระหว่าง ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) เข้ากับความสามารถของมนุษย์ โดยมุ่งเน้นให้เทคโนโลยีช่วยสนับสนุนการทำงานของมนุษย์แทนที่จะทดแทน อุตสาหกรรมนี้ให้ความสำคัญกับ Mass Personalization หรือการผลิตที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การเสริมศักยภาพมนุษย์และการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี
Industry 5.0 ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการใช้ระบบอัตโนมัติ แต่ยังให้ความสำคัญกับ Human-Centric Manufacturing หรือการผลิตที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง เทคโนโลยีช่วยเสริมศักยภาพของแรงงาน เช่น การใช้หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ (Collaborative Robots) และระบบ AI ที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวตามบริบทของการทำงาน

เทคโนโลยีสำคัญและทักษะที่จำเป็น
เทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 5.0 ได้แก่ Industrial Internet of Things (IIoT), Digital Twin, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), หุ่นยนต์อัจฉริยะ, Blockchain และ 5G โดยบุคลากรในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้าน การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics), การเขียนโปรแกรมระบบอัตโนมัติ และความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความท้าทายระดับสากลและระดับท้องถิ่น
แม้ว่าอุตสาหกรรม 5.0 จะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับการผลิต แต่อุตสาหกรรมไทยยังต้องเผชิญความท้าทาย เช่น ต้นทุนการลงทุนที่สูง, ความพร้อมของแรงงาน, มาตรฐานอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว และการรักษาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีกับแรงงานมนุษย์ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางแผนการปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับทิศทางอุตสาหกรรมโลก และภาครัฐต้องมีนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนเพื่อส่งเสริมให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอัจฉริยะของภูมิภาค

Intelligent Asia Thailand 2025 ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต ผู้จัดงานแสดงสินค้าแถวหน้าของโลกจากเยอรมนี ร่วมมือกับ บริษัท ยอร์คเกอร์ส เทรด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส จำกัด ผู้จัดงานแสดงสินค้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมแถวหน้าของไต้หวัน และ บริษัท จีเอ็มทีเอ็กซ์ จำกัด ผู้จัดงานแสดงสินค้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมและผู้ผลิตสื่ออุตสาหกรรมชั้นนำของไทยภายใต้แนวคิด “งานแสดงเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ที่มุ่งเน้นไปยังการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่และการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วย 3 Highlight หลัก ได้แก่ Automation Thailand 2025 งานแสดงเทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะแห่งเอเชีย, PCB Thailand 2025 งานแสดงเทคโนโลยีแผงวงจรพิมพ์ PCB ที่ครบเครื่องที่สุดที่แรกในประเทศไทย และ SPS Stage Bangkok 2025 สุดยอดเวทีสัมมนาระดับโลกเพื่อมุ่งสู่ความล้ำหน้าด้านการผลิต จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2025 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ