คณะนักวิจัย ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (STL) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เข้าร่วมนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการเครือข่ายพลังงานแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 หรือ 12th Conference On Energy Network of Thailand: E-NETT ซึ่งเป็นเวทีในการสร้างเครือข่ายทางด้านพลังงาน การนำเสนอผลงานทางวิชาการ รวมทั้งระดมความคิด แลกเปลี่ยนแนวความคิดระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน โดยในปีนี้คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับมอบหมายให้จัดการประชุมขึ้น ในระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรม วังจันทน์ ริเวอร์วิว จังหวัดพิษณุโลก
โดยนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (STL) ได้รับรางวัลบทความดีเยี่ยม และบทความดีเด่น จากงานประชุมวิชาการดังกล่าว ดังนี้
- 1. รางวัลบทความดีเยี่ยม เรื่อง การทดสอบคุณสมบัติของวัสดุที่ถูกใช้ในแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิด BIPV ที่มีสีสันสวยงาม
- นำเสนอโดย นายสุทธินันท์ เจริญเสถียรโชค
- ผู้ช่วยวิจัย ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (STL)
- บทความนี้นำเสนอการทดสอบคุณสมบัติการส่องผ่านแสง และการส่งผ่านความร้อนของ polyvinyl butyral (PVB) สีต่างๆที่ถูกใช้ในแผงเซลล์แสง อาทิตย์ชนิดBuilding Intergated Photovoltaic (BIPV) ที่มีสีสันสวยงาม โดยได้ทำการทดสอบทั้งแบบ Indoorและ Outdoor test ซึ่งพบว่า PVBทุกสี มีคุณสมบัติลดการส่องผ่านของรังสี UVได้ ถึง 99% ทำให้ช่วยป้องกันอันตราย จากรังสีUV ได้ และสามารถลดการส่งผ่านความร้อนได้ 15% จึงเหมาะกับการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในแผงเซลล์แสงอาทิตย์สีสันสวยงามที่ใช้ติดตั้งเป็นส่วนนึงของอาคาร
- 2. รางวัลบทความดีเด่น เรื่อง การศึกษาผลกระทบของฝุ่นสามชนิดที่มีผลต่อประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์
- นำเสนอโดย นางสาวศศิวิมล ทรงไตร
- ผู้ช่วยวิจัย ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (STL)
- การสะสมของฝุ่นละอองหน้าแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จะลดการส่องผ่านแสงที่เข้าตัวเซลล์ ส่งผลให้กำลังไฟฟ้าที่ได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น บทความนี้ได้นำเสนอ ผลกระทบของฝุ่นที่มีต่อประสิทธิภาพเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน โดยได้จำลองการสะสมของฝุ่น 3 ชนิด ที่พบมากในประเทศไทย ได้แก่ ฝุ่นทราย ฝุ่นดินแดง และฝุ่นดินดำ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบในกรณีปริมานฝุ่นที่เท่ากัน ฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กมีความละเอียดอย่างดินแดง จะบดบังแสงได้มากกว่า และเมื่อคุณสมบัติการส่องผ่านแสงของกระจกหน้าแผงลดลงต่ำกว่า 80% จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพเซลล์แสงอาทิตย์อย่างชัดเจน
คณะวิจัย:
สุทธินันท์ เจริญเสถียรโชค, ศศิวิมล ทรงไตร, ทรงเกียรติ กิตติสนธิรักษ์, ปฏิภาณ กรุดตาด, พีระวุฒิ ชินวรรังสี, ณัฐกานต์ อุดมเดชาณัติ, อัศวิน หงษ์สิงห์ทอง, อมรรัตน์ ลิ้มมณี และ กอบศักดิ์ ศรีประภา