นักวิจัยเนคเทค สวทช. คว้า 6 รางวัลการวิจัยแห่งชาติ เวทีวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565

Facebook
Twitter

โดย | คุณอารีรัตน์ อภัยกุลชร และ คุณกรรวี แก้วมูล
งานพัฒนาองค์กรและสื่อสารภายใน (ODIC) เนคเทค สวทช.

2 กุมภาพันธ์ 2565 ณ  Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ  นักวิจัยจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)  รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565  ครั้งที่ 23 ในแนวคิด “นวัตกรรมวิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี นายดอน  ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  และศาสตราจารย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปีที่ 47 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์  รวมทั้งสิ้น 292 รางวัล แบ่งเป็น 4 ประเภท ใน 12 สาขาวิชาการ ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น  

โดยมีผลงานของเนคเทค สวทช. ที่ได้รับรางวัล ได้แก่

รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์  

เรื่อง “การอนุมานความเป็นผู้นำของกิจกรรมประสานแบบกลุ่มในข้อมูลอนุกรมเวลา”  

โดย ดร.ชัยณรงค์ อมรบัญชรเวช  ทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI) กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (DSARG)

รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์

ผลงาน “นวัตกรรมอุปกรณ์ระบบของไหลจุลภาคเพื่อประยุกต์ใช้ศึกษาด้านวิศวกรรมชีวภาพในทางสัตวแพทย์เป็นรูปแบบการศึกษา”

ร่วมวิจัยพัฒนา โดย ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ และนายวิศรุต ศรีพุ่มไข่ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์

และอีก 2 รางวัลจากผลงานประดิษฐ์คิดค้น  
•    รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช  ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ตัวรับรู้แบบสวมใส่เพื่อเฝ้าระวังภาวะเบาหวานและกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยการตรวจวัดจากเหงื่อ”  ร่วมวิจัยพัฒนา โดย  ดร.ชูศักดิ์   ธนวัฒโน  ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED)

•    ผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณ  สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ผลงาน “นวัตกรรมวัสดุนาโนสีเขียวสำหรับตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสารโดยไม่ทำลายตัวอย่าง”   
ร่วมวิจัยพัฒนาโดย ดร. นพดล  นันทวงศ์  และ ดร. พิทักษ์  เอี่ยมชัย  กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG)

รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก

วิทยานิพนธ์เรื่อง “อุปกรณ์กำเนิดสัญญาณเทระเฮิรตซ์และพลาสโมนิกส์ โดยเทคโนโลยีกราฟีนบนเกรตติ้งระดับนาโน” (Graphene on Nanoscale Gratings for THz Electron-beam Radiation and Plasmonics)

ผลงานโดย ดร.ขวัญชัย ตันติวณิชพันธุ์ ทีมวิจัยเทคโนโลยีเซนเซอร์แสงไฟฟ้าเคมี(OEC) กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์(SSDRG)

รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี

วิทยานิพนธ์เรื่อง “การออกแบบและพัฒนากระบวนทัศน์ด้านการรักษา ความปลอดภัยที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์สนับสนุนเทคโนโลยี เอ็นเอฟวีและเอสดีเอ็น” (Moving Towards Software-Defined Security in the Era of NFV and SDN)

ผลงานโดย ดร.มลธิดา ภัทรนันทกุล ทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (SEC) กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย(CNWRG)

และในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. วรรณี ฉินศิริกุล  ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ  (นาโนเทค) ซึ่งเป็นผู้แทนผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมถ่ายภาพและแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลจากเทคเทค และ สวทช.