เนคเทค สวทช. นำเสนอความท้าทายของการพัฒนา AI ในไทย ในเวที “AI Thailand Forum 2023” มหกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ครั้งแรกของประเทศไทย

Facebook
Twitter
งาน “AI Thailand Forum 2023” มหกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ครั้งแรกของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ไทย (AIEAT) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันจัดขั้นเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ซึ่งเทคโนโลยี AI จะเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่นำพาการพัฒนา สร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศในด้านต่างๆ โดยได้รับเกียรติจากดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในนามผู้แทนผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงาน
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. นำเสนอ เรื่องราวความท้าทายของการพัฒนา AI ในประเทศไทย และ ความก้าวหน้าการดำเนินงาน แผนปฏิบัติการด้าน AI ประเทศไทย โดยกล่าวถึง ตัวเลขการประยุกต์ใช้ AI ภายในประเทศยังมีสัดส่วนที่น้อย โดยคิดเป็น 15% ขององค์กรที่มีการประยุกต์ใช้ AI อย่างไรก็ตาม 56.6% ขององค์กรมีแผนที่จะใช้งาน และ 28.2% ยังไม่มีความต้องการใช้งาน หรือ ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม นอกจากนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตัวเลขโครงการภาครัฐและเอกชนด้าน AI มีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมองเห็นโอกาสที่จะนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในองค์กร แต่โอกาสเหล่านี้จะสร้างมูลค่าหรือประโยชน์ได้จริงหรือไม่ยังต้องอาศัยหลากหลายบริบทในการขับเคลื่อน สำหรับความท้าทายที่ประเทศยังต้องเผชิญในการพัฒนา AI ได้แก่ การขาดบุคลากร ขาดแคลนข้อมูล หรือ มีข้อมูลไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะการเก็บข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ที่ต่างหน่วยงานเก็บแยกกัน ไม่สามารถเข้าถึง ไม่สามารถนำมาผนวกรวมกันเป็น Big Data เพื่อพัฒนา AI ให้ตอบโจทย์ประเทศไทยได้ นอกจากนี้ ยังขาดผู้พัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศด้วยความง่าย และพร้อมใช้งานได้ทันที แต่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดและความไม่แน่นอนในพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี
ประเทศไทยมีการประกาศแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) โดยมีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มช่องว่างระบบนิเวศ AI ของไทย ส่งเสริมการพัฒนาและ ประยุกต์ใช้ AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การสร้างจริยธรรม กฎระเบียบ ข้อบังคับการใช้ AI และสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน 2. โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศ 3. สร้างกำลังคน สนับสนุนการศึกษา พัฒนาทักษะ เพื่อผลิตบุคลากรด้าน AI 4. วิจัยและพัฒนานวัตกรรม AI ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5. ส่งเสริมการใช้งาน AI ในภาครัฐ และกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนากลไกในการพัฒนาธุรกิจ

แผนปฏิบัติการด้าน AI ประเทศไทย ส่งผลให้ดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทย (Government AI Readiness Index) ในปี 2022 ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 31 จากลำดับที่ 55-60 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันแผนปฏิบัติการด้าน AI ประเทศไทย ดำเนินงานมาได้เกือบ 1 ปี มีผลการดำเนินงานสำคัญ อาทิ การพัฒนากำลังคน AI โดย แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

(1) กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นสูง (AI Profession) ผ่านการอบรมพัฒนาทักษะด้าน AI และการประยุกต์ใช้งานแพลตฟอร์ม AI for Thai โดยเนคเทค สวทช.
(2) กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นกลาง (AI Engineer) ผ่านโครงการ Super AI Engineer โดยสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ทั้งอบรมทฤษฎีพื้นฐาน การประยุกต์ใช้งาน ทดลองฝึกงานในสถานการณ์ประกอบการจริง
(3) กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นต้น (AI Beginner) ผ่านหลักสูตร AI Sandbox ของสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ AI Engineering Institute; AIEI)
ภายในงานนอกจากนำเสนอวิสัยทัศน์แผนพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) ยังมีความน่าสนใจอีกมากมาย ได้แก่
ภาพความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน 15 หน่วยงาน ในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนากระบวนการตรวจวัดที่เป็นมาตรฐาน (Thailand AI Standard) เพื่อสร้างเป้าหมายตามแนวทางจริยธรรมของการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีด้าน AI ของไทย – หัวข้อการเสวนาการจากเหล่ากูรู ผู้ทรงคุณวุฒิในวงการ AI มากกว่า 60 ท่าน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ นำเสนอมุมมองขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้งาน AI หลากหลายประเด็น อาทิ Beyond Generative AI: Exporing the Next Frontier in Artificial Intelligent, ความรับผิดชอบ มาตรฐาน และการกำกับดูแลจากภาครัฐในการพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจด้าน AI, บทบาทเทคโนโลยี AI อุตสาหกรรมมุ่งเป้าของประเทศ และการพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับ ESG ในระดับสากล

นิทรรรศการนำเสนอผลงานการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน ผู้ประกอบการ AI Start up และผลงานของผู้เข้าร่วมโครงการ Super AI Engineer โดยเนคเทค สวทช. ได้ร่วมนำเสนอ 2 ผลงาน ได้แก่ แพลตฟอร์มให้บริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย (AI for Thai) และ KidBright AI Platform แพลตฟอร์มสื่อการเรียนรู้ที่ผสนผสานการเขียนโค้ดดิ้งแบบบล็อกเข้ากับการเรียนปัญญาประดิษฐ์

พิธีปิด และมอบเหรียญรางวัลโครงการ Super AI Engineer Season 3 ซึ่งเป็นโครงการที่ผลิตบุคลากรที่มีทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญด้าน AI ให้กับประเทศมาแล้วหลายพันคน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมด้าน AI เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
.