วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ผนึกกำลังร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อันได้แก่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี Machine Learning และการรวบรวม Big Data ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการข้อมูลภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายเกษตรอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการเชื่อมโยงและต่อยอดการใช้ประโยชน์ข้อมูล Big Data ภาคการเกษตร รวมทั้ง สร้างเครือข่ายพัฒนาบุคลากรในการสร้างนวัตกรรมใหม่ นำไปสู่เป้าหมายเพื่อการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รวมถึงการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ส่งผลกระทบในทางบวกโดยตรงต่อเกษตรกร ทำให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แพลตฟอร์มความร่วมมือข้อมูลเกษตรประเทศไทย (Thailand Agricultural Data Collaboration Platform : THAGRI) เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวบข้อมูลที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม บูรณาการข้อมูลจากฐานข้อมูลของระบบ Agri-Map โดย เนคเทค สวทช. และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันพัฒนาในรูปแบบแอปพลิเคชัน Agri-Map (https://agri-map-online.moac.go.th/) ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้ประสานรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง Agri-Map เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับข้อมูลด้านการเกษตรในการวางแผนและบริหารพื้นที่เกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) ในรูปแบบอัตโนมัติ โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) เป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้น จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) และจัดทำบัญชีข้อมูล (Data Catalog) ที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน และบริการข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถนำข้อมูลมาพัฒนาต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและมีความปลอดภัย
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวถึง ที่มาและความสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตร ที่มีความจำเป็นจะต้องร่วมมือกันบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล จากหน่วยงานที่สนับสนุนข้อมูล Agri-Map Online มาสู่ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) ในรูปแบบอัตโนมัติ รวมทั้ง ต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านข้อมูลเกษตรกรรมของประเทศไทย เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลภาคเกษตร ให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติ สามารถนำไปวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ข้อมูล สำหรับบริการแก่เกษตรกร หน่วยงานรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ จากความสำคัญดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตรขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตรด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ พัฒนาภาครัฐให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา และบริหารจัดการข้อมูลการเกษตรให้เป็นระบบและครบวงจร รวมถึงสร้างเครือข่ายบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนานวัตกรรมจากข้อมูลการเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะให้การสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการเกษตร และให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการ การบริหารจัดการแพลตฟอร์มที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือนี้ รวมถึงการจัดทำต้นแบบหรือโปรโตไทป์การวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร เพื่อเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร หน่วยงานรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยต่อไป
นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พัฒนาระบบแผนเกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ปัจจุบันข้อมูลจาก Agri-Map ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง Agri-Map ในแง่ของการพัฒนาภาคการเกษตร อย่างไรก็ตามข้อมูลใน Agri-Map มีหลายชั้นข้อมูล มีความจำเป็นต้องพัฒนาเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 กรมพัฒนาที่ดินมีโอกาสได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ เพื่อพัฒนาบุคลากรในการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นเจ้าภาพหลักในการนำข้อมูลทางด้านการเกษตรมาพัฒนาเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ข้อมูลการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลหลักที่จะใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตรในการลงนามครั้งนี้ จะทำให้เกิดเป็นผลงานเชิงประจักษ์ของการบูรณาการข้อมูลซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตรไปสู่ภาคเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการผลิตให้เหมาะสมกับศักยภาพของดิน และเกิดความร่วมมือในการทำวิจัยร่วมกันในการพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ และวิทยากรข้อมูล (data science) ต่อไปในอนาคต
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช) กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีการจัดเก็บข้อมูลภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์มากขึ้น แต่พบว่ายังขาดการบูรณาการในการเชื่อมโยงข้อมูล ทำให้การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการเชื่อมโยงและความร่วมมือในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจากองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญของ เนคเทค สวทช. ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Agri-Map Online เนคเทค จะเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและพัฒนาให้คำปรึกษาและสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาฐานข้อมูล แพลตฟอร์ม รวมทั้งการเชื่อมโยงฐานข้อมูล เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านการเกษตร ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มรูปแบบต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตร
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ กล่าวว่า เรื่องของการเกษตรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลในหลากหลายมิติ ในการจัดระเบียบข้อมูลเหล่านั้น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายและต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุก ๆ ฝ่าย สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ในสังกัดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จะสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ นี้โดยเป็นหน่วยงานหลักในการให้คำปรึกษาในการจัดเตรียมโครงสร้างสารสนเทศพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ การกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) และจัดทำบัญชีข้อมูล (Data Catalog) ที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน และที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาเครือข่ายบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเกษตรให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ
ผลจากความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มที่สนับสนุนการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูล Big Data ภาคการเกษตรที่มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และตัดสินใจบนหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายเกษตรอัจฉริยะ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่จากการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร นวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการต่อยอดแพลตฟอร์มนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และบริหารจัดการเชิงพื้นที่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ให้มีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป