การทดสอบวัสดุชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการผลิตไทย

Facebook
Twitter

บทความ | ปวีณา ครุฑธาพันธ์

สาระจากการบรรยายพิเศษ “การทดสอบ / ตรวจสอบวัสดุชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการผลิตไทย” ในงานเสวนา INTERMACH 2023

โดย คุณอรุณ เจียงศรีเจริญ
ผู้จัดการอาวุโสแผนกรับรองและทดสอบ ศูนย์เทคโนโลยีแม่พิมพ์ เครื่องมือกล และบริการทดสอบ สถาบันไทย-เยอรมัน

ปัจจุบัน ‘ความยั่งยืน’ กำลังกลายเป็นบริบทสำคัญของโลก หลาย ๆ องค์กรธุรกิจเริ่มเห็นความสำคัญ แนวคิดการทำธุรกิจที่ยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน กำหนดให้องค์กรต้องมีการดำเนินการด้าน ESG ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 มิติ คือ มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) มิติด้านสังคม (Social) และมิติด้านธรรมภิบาลขององค์กร (Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดระดับโลกที่ธุรกิจทุกขนาดจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้โลกของเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน และธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้ในอนาคต ในแต่ละมิติจะมีตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลการดำเนินการขององค์กร 

ESG สำคัญอย่างไร? ทำไมต้องดำเนินธุรกิจตามแนวคิดนี้

คุณอรุณ กล่าวว่า ในอดีตนักลงทุนจะเน้นลงทุนในบริษัทที่มีผลกำไรดีเป็นสำคัญ แต่ปัจจุบันบทวิเคราะห์ของบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์หลายแห่งชี้ว่า ในระยะยาวการลงทุนในบริษัทที่มุ่งเน้นแนวคิด ESG ที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่แสวงผลกำไร กล่าวได้ว่า ในอนาคตสถาบันการเงินหลายแห่งจะไม่สนับสนุนเงินลงทุนกับบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึง ESG หรือสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันกระแส Climate change เข้ามาผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นบริษัทที่สามารถระบุปัจจัย ESG ที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลต่อศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งอย่างชัดเจน

สำหรับประเทศไทย BCG Economy Model จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง นำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน BCG โมเดล ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานเชิงคุณภาพของประเทศไทย ( National Quality Infrastructure) หรือ NQI คือระบบที่ประกอบขึ้นจากองค์กรรัฐและเอกชน ที่มีนโยบาย กฎหมาย กรอบการกำกับดูแลและแนวปฏิบัติร่วมกัน โดยแบ่งได้ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การกำหนดมาตรฐาน 2) ระบบรับรองงาน 3) มาตรวิทยา 4) การตรวจสอบรับรอง และ 5) การกำกับดูแลตลาด เพื่อสร้างหลักประกันทางคุณภาพให้แก่ผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์เกษตรกรรม และบริการ รวมไปถึงการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพ คือ หลักประกันสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่สังคมที่ ยั่งยืน” สำหรับงานทดสอบจะอยู่ในบริบท “การตรวจสอบรับรอง” เป็นส่วนหนึ่งของระบบ NQI

งานทดสอบและตรวจสอบมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมให้เป็น BCG อย่างไร

คุณอรุณ อธิบายเพิ่มเติมว่า การทดสอบมีหลายบริบทและหลายวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย

1) การควบคุมและประกันคุณภาพทุกบริษัทต้องมีบางบริษัทมองว่าเป็นค่าใช้จ่าย จริง ๆ แล้วการควบคุมคุณภาพเป็นกลไกหลักเป็นด่านแรกที่ควบคุมผลิตภัณฑ์สินค้าให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นกลไกตัวนึงทำให้เกิดธุรกิจและความยั่งยืน

2) การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน คือ ตรวจสอบสุขสภาพเครื่องจักรบำรุงรักษาเชิงป้องกันวางแผนซ่อมบำรุงก่อนเกิดความเสียหาย

3) ความปลอดภัยค่อนข้างมีความสำคัญผลิตภัณฑ์ใหม่ นวัตกรรมใหม่ ๆ ต้องผ่านการทดสอบเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยต่อมนุษย์แล้วจึงมีการประกาศใช้ ยกตัวอย่างช่วงโควิคทั่วโลกมีการประกาศใช้วัคซีนจะต้องผ่านการทดสอบก่อนถึงจะประกาศใช้ออกมา

4) การออกแบบที่มีประสิทธิภาพ การวางแผนและออกแบบมาเพื่อคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค เศรษฐกิจหมุนเวียนนำวัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานใหม่เพื่อลดผลกระทบภายนอก

5) การวิเคราะห์/ทดสอบวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา เพื่อพัฒนาปรับปรุงแก้ไขดีไซน์การใช้งานรูปร่างวัสดุหรือกระบวกการผลิตใหม่ ป้องกันไม่ให้เกิดการชำรุดเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ถ้าวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาได้ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ และออกแบบการป้องกันให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้นการเกิดขยะก็จะน้อยลงเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

6) วิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ นวัตกรรมใหม่ ต้องทำการทดสอบก่อนว่ามันใช้งานแล้วดีจริงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม ในแง่ของการวิจัยและพัฒนาจึงจำเป็นต้องทดสอบให้แน่ใจเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่าสูงสุด อีกทั้งลดปริมาณของเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด  

การทดสอบแบ่งเป็น 2 หมวดคือ แบบทำลาย และแบบไม่ทำลาย สามารถทำการทดสอบได้ทุกรูปแบบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ เป็นการยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของเราเป็นไปตามข้อกำหนด

ผลประโยชน์และผลกระทบ จากการทดสอบต่อการหมุนเวียนหรือก่อให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว

คุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นสามารถ ลดการใช้วัสดุผลิตภัณฑ์ ผลิตได้ตามมาตรฐานทำให้เกิดของเสียน้อย เป็นการลดการใช้วัสดุสิ่งใหม่ หรือการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตก็จะใช้น้อยลงก็ใช้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดของเสีย และเกิดการป้องกันของเสีย ช่วยลดค่าใช้จ่าย ช่วยลดต้นทุนในการผลิต สร้างผลกำไรได้เพิ่มขึ้น ลดการนำเข้า มองว่าหลายผลิตภัณฑ์ในประเทศสามารถผลิตเองได้ ต้นทุนไม่สูง ยกตัวอย่างชิ้นส่วนทางการแพทย์ ในปัจจุบันนำเข้ามาซะส่วนมาก มองว่าในประเทศมีศักยภาพทำได้ทุกอุปกรณ์ ติดเรื่อง Marketing ถ้าสนับสนุนในส่วนนี้ก็จะลดการนำเข้าได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เมื่อผลิตสินค้าให้เป็น BCG การออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ผู้บริโภคเข้าถึงได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป ลดการนำเข้าด้วยการวิจัย /พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพและประสิทธิผล การทดสอบเพื่อดูผลงานแล้วนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิต ปรับปรุงดีไซน์ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สิ่งที่กล่าวมาก็จะ Return กลับมาที่บริษัททั้งหมด

การทดสอบกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

การทดสอบยังตอบโจทย์กับ Trend อุตสาหกรรมในอนาคต โดยมี 2 รูปแบบ คือ First s-curve ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิตโดยการลงทุนชนิดนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอที่จะทําให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงจําเป็นต้องมีการพัฒนา S-curve ในรูปแบบที่ 2 คือ New S-curve  ควบคู่ไปด้วยซึ่งเป็นรูปแบบของการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่  เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี  โดยอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคตเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ

การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์  3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4) อุตสาหกรรมดิจิทัล 5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร จะเห็นว่าทุก ๆ อุตสาหกรรมจำเป็นต้องทำการทดสอบทั้งหมด เพราะฉะนั้นการทดสอบและการควบคุมคุณภาพนั้นยังคงอยู่กับทุก ๆอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ รวมถึงทุกธุรกิจไม่ว่าจะเป็นงานทดสอบและงานบริการด้วยเช่นเดียวกัน