จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ “ไดซิน” ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของไทย วาง Roadmap อย่างชัดเจนในการนำเทคโนโลยีเข้ายกระดับกระบวนการผลิต เพื่อก้าวสู่ “Smart Factory” ภายในปี 2025 โดยไดซินได้ร่วมเป็นหนึ่งในโรงงานนำร่องใช้งาน IDA Platform แพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform) เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการไปสู่เป้าหมาย Smart Factory
คณะผู้บริหาร นักวิจัย และบุคลากร เนคเทค สวทช. นำโดย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ในฐานะหัวหน้าโครงการ IDA Platform เดินทางไปเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการ IDA Platform ณ บริษัท ไดซิน จำกัด เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 คุณธนินทร์ ลี้โกมลชัย ประธาน บริษัท ไดซิน จำกัด กล่าวถึง การวาง roadmap เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ สำหรับการใช้งาน IDA Platform นั้น อยู่ในแผนงานด้าน IIoT & Automation ที่บริษัทเริ่มต้นนำระบบอัตโนมัติที่มีราคาเหมาะสมเข้ามาใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น Karakuri kaizen, หุ่นยนต์, รถขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ (AGV) ไปจนถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตรวบสอบชิ้นงาน
ไดซิน ติดตั้งอุปกรณ์ ใน IDA Platform ณ เครื่องจักร จาก 2 กระบวนการผลิตที่สำคัญและใช้ค่าพลังงานสูง ได้แก่
1) Die Casting เป็นกระบวนการผลิตต้นน้ำในการฉีดขึ้นรูปชิ้นงานและส่งต่อไปยังกระบวนการถัดไป ซึ่งเครื่องจักรสำคัญในกระบวนการนี้ คือ “เตาหลอม”
2) Machining เป็นกระบวนการตกแต่งและเจาะรูชิ้นงานตามแบบ ซึ่งเครื่องจักรสำคัญในกระบวนการนี้ คือ เครื่องอัดอากาศ (Air Compressor)
IDA Platform ได้เข้ามาช่วยลดภาระงานในการเก็บบันทึกข้อมูลทั้งหมด และเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรปกติให้เป็น “Smart Machine” ที่สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ และผู้ดูแลได้ โดยมีกระบวนการเริ่มจากรับค่าสัญญาณจากเครื่องจักรด้วย Sensor ต่างๆ ในส่วนของเตาหลอมที่ให้พลังงานเชื่อเพลิงสูงจะใช้ Recorder ในการส่งต่อข้อมูล และในส่วนของเครื่องอัดอากาศ จะใช้ MK5 GATEWAY ในการส่งต่อข้อมูล โดยทั้งสองอุปกรณ์ที่ทำงานต่างกันค่าต่างๆที่เครื่องจักร ตรวจจับได้ จะถูกส่งต่อมายังอุปกรณ์ URConnect ที่วิจัยพัฒนาโดย NECTEC เพื่อแปลงสัญญาณสู่รูปแบบดิจิทัล จากนั้นข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งผ่าน Siemens Gateway มายัง Cloud ของ NEXPIE เพื่อนำไปตรวจสอบ วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลแบบ real-time บน Dashboard ต่อไป
คุณประสงค์ เกรียงไกรกุล Section Manager เล่าว่า บริษัทมีนโยบายการผลิตบนพื้นฐาน Lean Production system ไม่ผลิตสินค้า และจัดเก็บวัตถุดิบเกินความจำเป็น โดยทำการผลิตตามคำสั่งซื้อ และจัดส่งให้ทันตามรอบที่กำหนด ข้อมูลจาก IDA Plarform ช่วยให้ทราบสถานะของเครื่องจักรแบบ real-time พร้อมการแจ้งเตือนความผิดปกติ ทำให้ทีมเข้าแก้ปัญหา หรือ ป้องกันได้ทันท่วงทีจึงเข้ามาช่วยรักษาประสิทธิภาพ และเสถียรภาพกระบวนการผลิตของบริษัท ง่ายต่อการบริหารจัดการ และตัดสินใจ ทีมได้นำข้อมูลเครื่องจักรจาก IDA Platform มา วิเคราะห์กำหนดค่ามาตรฐานเพื่อกำหนดการแจ้งเตือน (Alarm) ผ่านแอปพลิเคชัน Line เมื่อค่าต่างๆ ผิดไปจากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ เพื่อให้ผู้ดูแลเข้าตรวจสอบ และ แก้ปัญหาที่เกิดกับเครื่องจักรได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสามารถคาดการณ์สถานภาพของเครื่องจักรเพื่อป้องกันก่อนเกิดความเสียหายได้อีกด้วย (Predictive Maintenance)
คุณประสงค์ ยังได้ยกตัวอย่างการนำข้อมูลจาก IDA Platform ไปใช้ลดปัญหาการเกิดน้ำ ในระบบอากาศอัดเข้าสู่ระบบการผลิต เนื่องจากเครื่องอัดอากาศ (Air compressor) เมื่อผลิตอากาศอัดอากาศที่ผลิตได้จะมีอุณหภูมิที่สูง เมื่อเจอกับอุณหภูมิต่ำจึงเกิดการควบแน่นเป็นหยดน้ำ สร้างความเสียหายแก่ระบบการผลิต ทำให้เกิดสนิมภายในท่อ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน ต้องผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Air dryer ที่ทำหน้าที่เป็นตัวทำให้อากาศที่ผลิตได้แห้งก่อนที่จะส่งไปใช้งานในกระบวนการผลิต บริษัทจึงทำการวัดค่าและศึกษาอุณหภูมิจุดน้ำค้าง (Dew point) ของเครื่อง Air dryer และติดตั้งอุปกรณ์ระบายน้ำ (Auto drain) โดยกำหนดค่ามาตรฐานอุณหภูมิจุดน้ำค้างอยู่ที่ 10 – 15 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิสูงกว่าค่าดังกล่าว ระบบจะแจ้งเตือนความผิดปกติให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขทันที
รวมถึงการวัดค่าและแจ้งเตือนอุณหภูมิของเตาหลอม เนื่องจากอุณหภูมิมีผลต่อคุณภาพของน้ำอลูมิเนียมในการฉีดขึ้นรูป รวมถึงสถานะภาพของเตาหลอมที่อาจเสียหายได้จากอลูนิเนียมที่แข็งจากอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ในเรื่องการลดต้นทุนพลังงาน ไดซินยังได้ตรวจวัดพฤติกรรมของเครื่องอัดอากาศในด้าน Load/Unload, Air Pressure เพื่อคำนวณการจ่ายแรงดันให้เหมาะสมกับการใช้งาน พร้อมทั้งดูสถานะการใช้พลังงานของเครื่องจักรในแต่ละกระบวนการผลิตเพื่อวางแผนใช้พลังงานให้คุ้มค่าต่อไป
ด้านคุณเอกณัท สุวรรณศรี Executive Vice President กล่าวว่า ไดซิน ยังมีแผนในการขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้ (Yokoten) ของการใช้งาน IDA Platform ไปยังกระบวนการผลิตอื่น ๆ และสาขาอื่น ๆ ของบริษัทไดซินอีกด้วย
นอกจากนี้ คณะนักวิจัย เนคเทค สวทช. ยังได้นำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับโจทย์จริงของบริษัทไดซินที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้าระดับกระบวนการผลิตในส่วนอื่น ๆ เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ตรวจสอบชิ้นงาน (Visual inspection System & AI) การใช้งานรถขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ (AGV) ผ่านระบบ 5G เป็นต้น สืบเนื่องจากแผนการลงทุนวิจัย พัฒนา และการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตของไดซิน ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) จึงได้เชิญคุณชุติมา ศรีสิทธิรัตน์กุล นักวิเคราะห์อาวุโส งานกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน (RDI) สวทช. แนะนำมาตรการส่งเสริม การเงิน ภาษี และบัญชีนวัตกรรม เช่น มาตรการยกเว้นภาษี 200% สำหรับค่าใช้จ่ายไปเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (RDI) มาตรการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนเพื่อขยายสิทธิประโยชน์ BOI ตามมาตรการ Merit-Based Incentives เป็นต้น