สวทช. ผนึกกำลัง มข. ลงนามความร่วมมือเสริมแกร่งทางวิชาการเดินหน้าวิจัย สร้าง และขยายนวัตกรรมการตรวจโรควัณโรค

Facebook
Twitter

24 มีนาคม 2566 : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มุ่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และชีววิทยา ด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมเสริมทัพนวัตกรรมสมัยใหม่ ช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ ในหลากลายมิติ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากเดิมที่ผ่านมาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสวทช.มีความร่วมมือระหว่างอาจารย์นักวิจัย อยู่อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่มากขึ้น และเป็นการยกระดับบรรยากาศในการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ในการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาขึ้นภายในประเทศ

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง 2 หน่วยงานในครั้งนี้มีขึ้น โดยมุ่งหวังให้งานวิจัยและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนั้น สามารถนำไปสู่ผลกระทบต่อสังคม ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ต่อสังคมทุกภาคส่วน และเพื่อการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมการทำงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมร่วมกัน และนำไปสู่ความร่วมมือใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยระดับบัณฑิต ศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูงตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมไปถึงการขับเคลื่อนประเทศในมิติการแพทย์และสาธารณสุขทั้งระดับประเทศและภูมิภาค ที่ผ่านมามีความร่วมมือในด้านการนำเทคโนโลยีทางนาโนจาก สวทช. มาช่วยพัฒนานวัตกรรมตรวจวัดตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ และนวัตกรรมเซนเซอร์ตรวจหาโปรตีนบ่งชี้มะเร็งท่อน้ำดีเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงระยะเริ่มแรกที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมสนับสนุนให้เกิดการขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และชีววิทยา ด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมผลงานวิจัย ตลอดจนผนึกกำลัง อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากภายในประเทศและต่างประเทศ บูรณาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบองค์รวมทั้ง 2 หน่วยงาน รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาสนับสนุนนักศึกษาเพื่อปฏิบัติงานวิจัยและเพิ่มทักษะโดยใช้งานวิจัยเป็นฐานอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ในการทำงานร่วมกับพันธมิตร ซี่งเป็นเจ้าของโจทย์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย  สวทช. พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปเสริมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจต่างๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสร้างเครือข่าย ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและการวิจัย โดยมีกรอบความร่วมมือครอบคลุม การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และชีววิทยา ด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์(AI) นวัตกรรมด้านการเกษตรและอาหาร นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมสมัยใหม่ นวัตกรรม ด้านวัสดุศาสตร์และพลังงาน เป็นต้น การลงนามระหว่าง 2 หน่วยงาน มหาวิทยาลัยขอแก่นซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์บริการประชาชนและโรคประจำถิ่น  ผนวกกับความเชี่ยวชาญของเนคเทค สวทช. ในเรื่องของเทคโนโลยีขึ้นสูง

ในส่วนการพัฒนานวัตกรรการป้องกันดูแลรักษาวัณโรค ได้มีความร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง พื้นผิวขยายสัญญาณ Raman ที่วิจัยพัฒนาโดย เนคเทค สวทช. มีชื่อว่า “ONSPEC” มาร่วมกันวิจัยเพื่อสร้างเป็นเครื่องมือ ที่มี ประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรอง วัณโรคทั้งแบบแสดงอาการและวัณโรคระยะแฝงได้อย่างรวดเร็ว (ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชม จากเดิม 1-2 วัน) พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนายื่นข้อเสนอขอทุนวิจัยไปยังองค์กรต่างประเทศ (On process 80 %) ซึ่งมีเครือข่ายในการนำผลงานไปขยายผลทั่วโลก อันจะเป็นผลในการเพิ่มประสิทธิภาพสู่การยุติอุบัติการณ์ของวัณโรคตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก เพื่อยุติการแพร่ระบาดของวัณโรค ในปี 2035 อีกทั้งยังยกระดับอุตสาหกรรมผลิตเซนเซอร์และการบริการตรวจวัดของประเทศไทยไปสู่ตลาดสากลต่อไป

เนื่องในวัน World TB Day 2023 เนคเทคได้จัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการเรื่องเทคโนโลยีและการวิจัยเพื่อยุติวัณโรค โดย ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ(สวทช.) สายบริหารการวิจัยและพัฒนา กล่าวเปิดกิจกรรม โดยกล่าวถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรม และ World TB Day 2023 ที่สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ กำหนดให้ 24 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันวัณโรคสากล” (World TB Day) และกำหนดหัวข้อรณรงค์ คือ “Unite to End TB” ภาษาไทย คือ“ รวมพลัง ยุติวัณโรค” หมายความว่า “ร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อจะยุติปัญหาวัณโรค”

รองศาสตราจารย์เกียรติไชย ฟักศรี คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการประยุกต์เทคโนโลยีขั้นสูง และร่าง Guideline ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อยุติวัณโรค

ดร.นพดล นันทวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ เนคเทค สวทช. กล่าวถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Raman scattering และ surface-enhanced Raman scattering ในการตรวจวินิจฉัยวัณโรค

แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแผนยุติวัณโรค (End-TB) ในประเทศไทย พร้อมเชิญแขกพิเศษ Dr.Nobuyuki Nishikiori , Medical Officer จาก World Health Organization (WHO) ร่วมแชร์ และอภิปรายแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น

จากนั้นเป็นการแถลงการเริ่มดำเนินการวิจัยที่ยื่นขอการสนับสนุนจาก Open Philanthropy Foundation เรื่อง Development of Raman spectroscopy (RS) and Surface Enhanced Raman Scattering (SERS) based test for diagnosis of active tuberculosis and latent tuberculosis infection supporting mass screening in the community โดย รองศาสตราจารย์เกียรติไชย ฟักศรี คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ดร.นพดล นันทวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ เนคเทค สวทช.