“มาตรฐาน AI” สำคัญอย่างไร จำเป็นแค่ไหน กับวงการ AI ประเทศไทย

Facebook
Twitter

บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์

วันที่ใคร ๆ ก็พูดถึง AI แล้ว มาตรฐาน AI ประเทศไทยต้องเป็นแบบไหน ?
ความฉลาดล้ำของ ChatGPT ที่ทำให้เกิดสงคราม AI ของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกในชั่วข้ามคืน สั่นสะเทือนวิชาชีพหลากหลายวงการ แน่นอนว่าธุรกิจด้าน AI จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากความคาดหวังของผู้บริโภคที่เห็นแล้วว่า AI สามารถเลื่อยขาเก้าอี้ตำแหน่งหนึ่งให้หายไปได้ง่าย ๆ หรือ ช่วยลดต้นทุนการผลิต พร้อมได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ในทางกลับกันการพัฒนาของ AI ก็อาจเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ทำให้กระบวนการหลอกลวงของมิจฉาชีพแยบยลมากขึ้น แล้วประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมรับมือเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงมีมาตรฐานใดที่จะเป็นไม้บรรทัดวัดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ บริการด้าน AI ในปัจจุบัน …
 
ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic: AIGC) ชวนผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI มาร่วมพูดคุยเจาะลึก อัปเดตทุกประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐาน ด้าน AI Governance ทั้งในมุมต่างประเทศและไทย สู่การยกระดับการประยุกต์ใช้ AI ที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ มาร่วมหาคำตอบพร้อมกันกับ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ นักวิจัย เนคเทค สวทช. และ คุณกิตติพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง Product Technical Manager British Standard Institution (BSI)

AI สมัยนี้โตไวนะ

สถานการณ์ธุรกิจด้าน AI ในประเทศไทยนั้นไม่ธรรมดา จากการตื่นของคนทั่วโลกถึงความสามารถของ AI ที่ใกล้เคียงไปจนถึงแซงหน้ามนุษย์ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้คนต่างคาดหวัง และ ต้องการนำ AI มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการ ของตนมากขึ้น จากการแลกเปลี่ยนมุมมองกับภาครัฐ และผู้ประกอบการเอกชนด้าน AI ผ่านโครงการ AI Standard landscape ของ ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ นักวิจัย เนคเทค สวทช. พบว่า กว่า 75% มีการนำ AI ไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 25% นั้น อยู่ในระหว่างการเตรียมพร้อมไปสู่การใช้ AI เช่นกัน

ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ นักวิจัย เนคเทค สวทช.
สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมฯ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า Startup ด้าน AI ของไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 25% ประมาณ 45,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี (ปี 2021 – 2022) ซึ่งเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมด้านไอที ฮาร์ดแวร์ หรือ ซอฟต์แวร์ถึง 12.5 เท่า
 
สถานการณ์เหล่านี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ Startup ด้าน AI ของไทย ต้องอึด ถึก ทน เป็นพิเศษ ที่จะต้องรองรับความต้องการ ความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อ AI สำหรับภาครัฐนั้นได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือผ่าน แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่เริ่มต้นด้วยยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย

สถานการณ์AIในวันที่ยังไม่มีมาตรฐาน

มาตรฐาน AI มีความสัมพันธ์และความสำคัญต่อผู้คนในระบบนิเวศ AI แตกต่างกันไป ดร.อภิวดี เล่าว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการด้าน AI สามารถแบ่งกลุ่มได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผู้ใช้งาน ผู้พัฒนาและผู้ใช้งาน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำมาตรฐาน แน่นอนว่าผู้ใช้งานย่อมต้องการมาตรฐานที่สูง เพื่อยืนยันคุณภาพให้สอดคล้องกับเงินที่ต้องจ่าย หรือมีคำศัพท์ที่สามารถสื่อสารความต้องการกับผู้ประกอบการได้แบบเข้าใจตรงกัน
นอกจากนี้ในมุมของการขายงานผู้พัฒนาจากประสบการณ์ของ ดร.กอบกฤตย์นั้น เมื่อไม่มีมาตรฐาน AI ทำให้กระบวนการการลงทุน ซื้อขาย AI ในประเทศไทยยากลำบาก เวลาบริษัทเข้าไปขายงาน “ลูกค้าเขาไม่รู้ว่าเจ้าไหนดีกว่ากัน หากเจ้าแรกบอกว่าประสิทธิภาพ 99.9% อีกเจ้าหนึ่ง 98.5% แต่เจ้าแรกอาจจะทดสอบแค่ 100 ตัวอย่าง แต่เจ้าถัดมามาแม้ประสิทธิภาพน้อยกว่า 5% แต่อาจจะทดสอบ 10,000 ตัวอย่างและเป็นตัวอย่างที่ยากกว่าก็ได้ เมื่อลูกค้าไม่สามารถตัดสินใจโดยดูแค่กระดาษจากที่ผู้ประกอบการแจ้งมาได้ ทำให้ต้องลำบากเก็บข้อมูลเพื่อสร้างชุดทดสอบขึ้นมาเพื่อประกอบการตัดสินใจ”
 
คุณกิตติพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง Product Technical Manager British Standard Institution (BSI)
สำหรับมาตรฐานที่เกี่ยวของกับปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน ทั้งที่เผยแพร่และใช้งานแล้วรวมถึงอยู่ระหว่างเตรียมเผยแพร่มากกว่า 20 มาตรฐาน คุณกิตติพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง Product Technical Manager British Standard Institution (BSI) ได้ยกตัวอย่าง เช่น
 
  • ISO/IEC 38507:2022 ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานหน่วยงานกำกับดูแลในการเปิดใช้งานและควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้งานนั้นมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับภายในองค์กร
  • ISO/IEC TR 24368:2022 เป็นภาพรวม หลักการ กระบวนการ และวิธีการ เกี่ยวกับจริยธรรมของ AI (AI ethical) และข้อกังวลของสังคม (societal concerns) เช่น สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติของการใช้ระบบ AI
  • ISO/IEC DIS 42001 ระบุข้อกำหนดและให้คำแนะนำสำหรับการสร้าง ดำเนินการ บำรุงรักษา และปรับปรุงระบบการจัดการ AI อย่างต่อเนื่องภายในบริบทขององค์กร ช่วยให้องค์กรพัฒนาหรือใช้ระบบ AI อย่างมีความรับผิดชอบในการบรรลุวัตถุประสงค์และปฏิบัติตามข้อกำหนดข้อบังคับ ภาระผูกพันและความคาดหวังที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ยกระดับ Startup ด้วยมาตรฐาน AI ที่เหมาะกับบริบทไทย

“ความคุ้นชินของนักวิชาการส่วนใหญ่ เราก็จะวัดประสิทธิภาพด้วย Performance Measurement บางค่า แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงหลายๆครั้งตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้สื่อสารอะไร ขึ้นอยู่กับว่าบริบทที่เรานำไปใช้มีตัวแปรอย่างไร” ดร.อภิวดี กล่าวก่อนนำเสนอมุมมองมาตรฐาน AI ที่จำเป็นต้องสอดคล้องกับบริบทประเทศ โดยยกตัวอย่างความแตกต่างของประสิทธิภาพ Chat GPT ระหว่างการใช้ภาษาอังกฤษ กับ ภาษาไทย ค่าความถูกต้องก็เปลี่ยนไป

ด้าน ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA กล่าวเสริมว่า เราต้องไม่ไปโฟกัสเฉพาะมาตรฐานประเภทที่แบบอย่าง ISO แต่อาจเป็นมาตรฐานในบริบทประเทศไทยซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ ภาครัฐ ซึ่ง AIGC โดย ETDA จะผลักดันเรื่องนี้ โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ ผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ออกแนวทางที่ควรปฏิบัติที่ตอบโจทย์ด้าน AI ของประเทศ
 
ประโยชน์ของการมีมาตรฐาน AI ในมุมของการส่งเสริมและดูแลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้ปลอดภัยแล้วถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลนั้น นอกจากทำให้ผู้ใช้มีความมั่นใจแล้ว ยังช่วยยกระดับผู้ประกอบการให้ระบบงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“มันคือการทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ Startup สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้มาตรฐานสากล ในโลกทุกวันนี้ AI ไม่ได้ขายอยู่แค่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น” ดร.ศักดิ์ กล่าว
 
สอดคล้องกับมุมมองของดร.กอบกฤตย์ ที่เห็นว่า การมีมาตรฐาน AI ในระดับสากลจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการซื้อขายมีการตกลงคุณสมบัติ ตัวแปร สูตร ตามมาตรฐานสากล ไม่ต้องปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้าโดยไร้ขอบเขต ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้มหาศาล นอกจากนี้มาตรฐานยังเป็นตัวขับเคลื่อนปัจจัย GDP ของประเทศ เมื่อเราได้มาตรฐานก็สามารถลงทุนซื้อขายทั้งภายในประเทศ และผลักดันไปสู่ต่างประเทศได้
 
“นอกจากนี้ ETDA จะทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อจะทำให้เกิดมาตรฐานในลักษณะที่ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ซึ่งมีเงินทุนไม่เทียบเท่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก โดยหลายปีก่อน เราเคยมี Search Engine โดยคนไทย ชื่อ สรรสาร แต่ตอนนี้ไม่มีใครสู้ Google ผมไม่อยากให้เกิดแบบนี้กับ AI ประเทศไทยอีก เราต้องจับมือกับทุกภาคส่วน วางกลยุทธ์ เพื่อให้ประเทศไทยใช้ AI ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ดร.ศักดิ์ กล่าว
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA

เคลียร์ให้ชัดมาตรฐานต้องไม่ขัดขวางการพัฒนาAI

เมื่อถามถึงปัจจัยที่ต้องคำนึงเมื่อประเทศไทยจะมีมาตรฐาน AI ในมุมมองของ ดร.กอบกฤตย์ กล่าวว่า ต้องสื่อให้ชัดเจนว่า มาตรฐาน กับ กฎหมาย คือคนละเรื่องกัน มาตรฐานไม่ควรจำกัดการพัฒนาด้าน AI หากน้อง ๆ ที่จบใหม่ หรือ Startup ใหม่ด้าน AI ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการออกมาขาย แต่ต้องเจอด่านหิน 10 ด่าน การเติบโตด้าน AI ก็ไม่เกิดขึ้น เราไม่อยากให้มีข้อจำกัดอะไรที่มากเกินไปจนกระทบกับการพัฒนา เช่น การสนับสนุนให้ทำตามมาตรฐาน หากบริษัทไหนยังไม่พร้อม แล้วลูกค้ารับได้ ก็สามารถซื้อขายกันได้ แต่หากออกเป็นกฎหมายเท่ากับปิดตายไม่สามารถเจรจากันได้อีก
 
“การผลักดันมาตรการ หรือ มาตรฐาน บางครั้งไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย อาจเป็นประกาศภาครัฐ หรือ แนวทางจากผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ และที่สำคัญ คือ ต้องสร้างความตระหนัก ความเข้าใจให้กับประชาชน ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะมาตรฐานใครก็ออกได้ แต่หากไม่มีคนนำไปใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์” ดร.ศักดิ์ กล่าวเสริม
 
นอกจากนี้ กระบวนการในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงหากประเทศไทยจะมีมาตรฐาน AI ในมุมมองของดร.อภิวดี “เพราะ Time To market เป็นเรื่องสำคัญทางธุรกิจ หากถ้ากระบวนการตรวจสอบรับรองมาตรฐานนั้นล่าช้าหรือไม่ชัดเจนตรงนี้ แต่เทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อย่างกรณี ChatGPT เกิดการประกาศธุรกิจใหม่ ๆ เพียงชั่วข้ามคืน”