บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
“การสร้างกำลังคนภาคอุตสาหกรรม” เป็นโจทย์สำคัญที่อีอีซี (EEC) หรือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มุ่งพัฒนาเพื่อรองรับการลงทุนของอุตสากรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีความต้องการบุคลากรกว่า 5 แสนคนในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนกลุ่มอาชีวศึกษา ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องได้รับการอัปสกิล พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ให้เท่าทันเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยมี EECi หรือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี
EECi x SMC ขับเคลื่อนนวัตกรรมคู่กำลังคน
“EECi ไม่ได้มุ่งพัฒนาเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมเท่านั้น แต่ต้องพัฒนากำลังคนควบคู่ไปด้วย” ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสวทช. ซึ่งกำกับและดูแลเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) กล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า EECi พัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์อุตสาหกรรมมุ่งเป้าใน 3 กลุ่ม ได้แก่
- ภาคการเกษตร: อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery)
- โครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม: ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ แบตเตอรีประสิทธิภาพสูง และการขนส่งสมัยใหม่
- อุตสาหกรรมแห่งอนาคต: เครื่องมือแพทย์ การบิน และอวกาศ
นอกจาก EECi จะมุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับขยายผลงานวิจัยไปสู่อุตสาหกรรม ทั้งในรูปแบบโรงงานต้นแบบ สนามทดสอบ Testbed และ Sandbox ต่างๆ แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมปัจจุบัน และการเตรียมกำลังคนอนาคตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยได้จัดตั้ง “RUNs Academy (Reskill-Upskill-New skill Academy)” เพื่อเพิ่มทักษะขั้นสูงและทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานสมัยใหม่ให้กับกำลังคนอุตสาหกรรมทั้งจาก SMEs และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญใน EECi เป็นเครือข่ายระบบนิเวศนวัตกรรม
รวมถึงการเตรียมคนในระยะยาวโดยนำความรู้เรื่องสเต็ม (STEM Education) แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์มาสนับสนุนการเรียนการสอนของเยาวชนและอาจารย์ในภาคตะวันออก ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร EECi โดยเน้นเรื่องของวิศวกรรม
เช่นเดียวกันกับศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC (Sustainable Manufacturing Center) ภายใต้การกำกับดูแลของเนคเทค สวทช. เป็นโครงการนำร่องของเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เมืองนวัตกรรมของ EECi
ด้วยเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในยุคของ Post Covid เพื่อที่จะทำให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศเนี่ยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด SMC จึงจัดตั้งขึ้นภายใต้การอนุมัติของครม.เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีไปยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 เป็นสำคัญ
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. มองว่า “การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 นอกเหนือจากการนำเข้าเทคโนโลยีหรือว่าเครื่องมือเครื่องจักรต่างชาติ ผมเชื่อว่า SMC จะเป็นส่วนสำคัญที่เติมเต็มให้หลาย ๆ ส่วนสามารถใช้เทคโนโลยีภายในประเทศ และลดค่าใช้จ่ายต่างๆในการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนที่จะให้คำปรึกษาเรื่องเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน และสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ประเทศไทยยังขาดอยู่มาก”
โดย SMC มีเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรด้าน ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Automation robotics and intelligent) ตอบโจทย์ EECi โดยเน้นพัฒนาบุคลากรในทุกระดับตั้งแต่นิสิตนักศึกษาที่จะไปเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูง ในด้านของงานวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรในระดับอาชีวศึกษา ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอุตสาหกรรม โดย SMC ได้ร่วมมือพันธมิตรในการจัดตั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรทางด้านอาชีวศึกษา
Upskill แบบเพลินๆ (Play&Learn) กับการเผชิญโจทย์จริง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เนคเทค สวทช. และพันธมิตรจัดการแข่งขัน IoT Hackathon Gen R เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้กับบุคลากรอาชีวศึกษาในเขต EEC โดยการอบรมภาคทฤษฎีและปฏิบัติแบบเข้มข้นสำหรับนักเรียนระดับ ปวส. และครูผู้สอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2564 นำมาสู่การแข่งขัน IoT Hackathon Gen R เพื่อวัดผลการอบรม เน้นการประยุกต์ใช้ความรู้จากการอบรมฯ ไปฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนสามารถทำได้ ทำเป็น ก่อนส่งผู้เรียนไปสู่การฝึกงาน
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามีนักเรียนผ่านการอบรมของโครงการฯ กว่า 100 คน โดยมี 38 คนผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามเงื่อนไขและเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งหลังจบการแข่งขัน ทางโครงการฯ ได้สนับสนุนให้ได้ฝึกงานยังสถานประกอบการต่างๆ และจากการติดตามผล มากกว่า 50% ได้รับการตอบรับที่ดี และได้รับเข้าทำงานยังโรงงานต่อ ซึ่งถือเป็นที่น่าพอใจ
สำหรับกิจกรรม IoT Hackathon Gen R ในนี้ จัดขึ้นในธีม Data Analytics for Factory 4.0 ที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลไอโอทีอุตสาหกรรม (IIoT) ที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้พบกับโจทย์จริง ข้อมูลจริง จากอุตสาหกรรมใน 3 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องเริ่มต้นจากการนำข้อมูลดิบมาวิเคราะห์เพื่อตามหาประเภทอุตสาหกรรมที่ทีมได้รับ เพื่อใช้ข้อมูลนี้ไปออกแบบ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูล พร้อมการนำเสนอในรูป แดชบอร์ด สำหรับการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะใน 6 ด้าน Production Monitoring, Quality Control, Power Management, Warehouse Management, Maintenance, Lean Manufacturing
ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับน้อง ๆ อาชีวศึกษาที่จะเชี่ยวชาญในด้านฮาร์ดแวร์มากกว่า ด้วยการเรียนรู้ด้านข้อมูลอุตสาหกรรมต้องเริ่มจากการทำความรู้จักความหมาย และการได้มาของข้อมูลผ่านตัวแปรต่าง ๆ ซึ่งมีความซับซ้อน และต้องอาศัยระยะเวลาและประสบการณ์ในการทำความเข้าใจ ซึ่งน้อง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เรียนรู้ทฤษฎีที่สำคัญผ่านการอบรม “Basic Industrial IoT” ที่จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสอนให้รู้จักอุปกรณ์พื้นฐานในอุตสาหกรรม เช่น PLC HMI Sensor Protocol ที่ใช้สื่อสารในอุตสาหกรรม ไปจนถึงการสร้างแอปพลิเคชันสำหรับระบบ Industrial IoT เป็นต้น พร้อมติวเข้มอีกครั้งก่อนการแข่งขัน
“หลักสูตร” จุดเริ่มต้น IoT Hackathon Gen R
ก่อนการแข่งขัน IoT Hackathon Gen R ทั้ง 2 ปีที่ผ่านมานั้น น้อง ๆ จะได้รับการอบรมจากหลักสูตรไอโอทีที่ทีมนักวิจัยระบบไซเบอร์กายภาพ (CPS) ได้พัฒนาขึ้น คุณปิยวัฒน์ จอมสถาน นักวิจัยทีมวิจัยระบบไซเบอร์กายภาพ (CPS) และหัวหน้าโครงการฯ เล่าว่า ให้ข้อมูลว่า การดำเนินโครงการที่ผ่านมาได้พัฒนาหลักสูตรและจัดการอบรมให้กับนักศึกษาและอาจารย์ (Train The Trainer) สถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC หลายครั้ง พร้อมทั้งออกแบบพัฒนาชุดอุปกรณ์การเรียนการสอนจำนวน 3 ชุด เพื่อส่งให้ผู้เรียนได้ใช้ในการอบรมหลักสูตรอบรมต่างๆ [1] รายละเอียดดังนี้
- หลักสูตร Fundamental IoT: เรียนรู้พื้นฐานไอโอที ตั้งแต่เซนเซอร์ ประเภทสัญญาณอนาล็อก/ดิจิทัล การเขียนภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การใช้งานอุปกรณ์ Microcontroler การเชื่อมต่อกับ IoT Platform เป็นต้น
- หลักสูตร Advance IoT: ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างเซิฟเวอร์ การสร้างโครงสร้างของระบบไอโอที MQTT Server MQTT Protocal การเลือกใช้ Database ไปถึงการใช้งานแอปพลิเคชัน เช่น Dashboard การแจ้งเตือนผ่านไลน์ เป็นต้น
โดยทั้ง 2 หลักสูตรข้างต้น ใช้ชุด I-KIT เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน
- หลักสูตร Basic Industrial IoT: ศึกษาพื้นฐานไอโอทีด้านอุตสาหกรรม หลักการดึงข้อมูลจากจากอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น PLC HMI หรือคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในอุตสาหกรรม ไปจนถึงองค์ประกอบใน Data ฺBase โดยใช้ชุด I2 – Starter Kit
“เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้น้อง ๆ ไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ในสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งจากการศึกษาของโครงการ ถือเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย” คุณปิยวัฒน์ กล่าว
- หลักสูตร Advance Industrial IoT: เรียนรู้การสร้างแอปพลิเคชันไอโอทีอุตสาหกรรม โดยใช้ I2 – Kit เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ประกอบไปด้วยโมดูลต่าง ๆ ได้แก่
- PLC Module: แอปพลิเคชันที่ทุกคนสามารถศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นการจำลองไลน์การผลิตในโรงงาน การศึกษาเรื่อง Production line Line monitoring การสร้างสร้าง Production plan ที่เหมาะกับ Production line monitoring การทำ log temp log vibration ที่เหมาะกับงานต่างๆในอุตสาหกรรมจริง เป็นต้น โดยเลือกใช้ PLC Module 2 แบรนด์ที่นิยมใช้ในประเทศไทย เพื่อให้ตอบโจทย์กับกลุ่มงานทุกรูปแบบที่นักศึกษาต้องเจอในอนาคต
- Gateway Module: สำหรับเชื่อมต่อข้อมูลใน PLC สามารถส่งข้อมูลขึ้นระบบ Cloud และ Internet ได้
- ชุดตรวจวัดอุณหภูมิ: ใช้สำหรับศึกษาเรื่องการ Scaleling data ที่เป็นอนาล็อก ซึ่งปกติจะคุ้นเคยกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสัญญาณแบบสำเร็จรูป
- Predictive Maintenance Module: ศึกษาการทำงานของมอเตอร์ในเครื่องจักร ร่วมกับเซนเซอร์วัดการสั่น และอุณหภูมิ สำหรับสอนเรื่อง Predictive maintenance ไม่ว่าจะเป็น การสร้างโมเดล หลักการเก็บข้อมูลให้เหมาะกับการวิเคราะห์
- Expansion Module: โมดูลหรือเซ็นเซอร์ต่างๆที่สามารถพบได้กับอุตสาหกรรมเฉพาะและซับซ้อน เช่น Encoder ultrasonic Stepping Motor เป็นต้น
- Industrial Automation Machine: เปรียบเสมือนเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง โดยจะมีแปลนการประกอบ และ Part Number ที่อุปกรณ์ เราก็จะมีตัวแปลนว่าต้องประกอบอย่างไร เพื่อให้ผู้เรียนได้ประกอบเครื่องจักร เขียนโปรแกรม ไปจนถึงสร้างแอปพลิเคชัน
- PLC Module: แอปพลิเคชันที่ทุกคนสามารถศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นการจำลองไลน์การผลิตในโรงงาน การศึกษาเรื่อง Production line Line monitoring การสร้างสร้าง Production plan ที่เหมาะกับ Production line monitoring การทำ log temp log vibration ที่เหมาะกับงานต่างๆในอุตสาหกรรมจริง เป็นต้น โดยเลือกใช้ PLC Module 2 แบรนด์ที่นิยมใช้ในประเทศไทย เพื่อให้ตอบโจทย์กับกลุ่มงานทุกรูปแบบที่นักศึกษาต้องเจอในอนาคต
“ความตั้งใจที่ผมเข้ามาได้รับโอกาสในการเข้ามาทำงานตรงนี้ เริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึง Advance ผมมีความตั้งใจที่สร้างหลักสูตรให้เป็นวิชาที่เด็กอาชีวะทั่วประเทศสามารถเรียนได้ โดยอาจารย์สามารถนำหลักสูตร เอกสารประกอบการต่าง ๆ ไปใช้สอนได้ทันที” คุณปิยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
EECi x ไทยพาณิชย์ พันธมิตรร่วมพัฒนากำลังคน ICT
การแข่งขันสุดเข้มข้นตลอด 36 ชั่วโมง จัดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศสบาย ๆ รายล้อมด้วยหาดทรายและเสียงคลื่น ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน จ.ชลบุรี โดยการสนับสนุนงบประมาณและสถานที่จัดการจาก มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้ผนึกกำลังกับเนคเทค สวทช.มาอย่างยาวนานในการพัฒนากำลังคนด้าน ICT ทั้งระดับอาชีวศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย และระดับสูงกว่าปริญญาตรี
คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ‘การพัฒนากำลังคน’ เป็นนโยบายของธนาคารไทยพาณิชย์ เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยและมองว่าสังคมไทยจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องพัฒนากำลังคนโดยเฉพาะเยาวชนของชาติ
ซึ่งการพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาทุกระดับต้องตั้งคำถามและหาแนวทางในการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง ได้ “เรียนรู้จากของจริงเรียนรู้จากสถานการณ์จริง เรียนรู้จากโจทย์จริง” โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเยาวชนด้านไอที จึงถือเป็นกรอบงานและเป้าหมายเดียวกันกับทางมูลนิธิฯ ที่ต้องการจะสนับสนุนการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีสกิล ICT มากขึ้น นำมาสู่การสนับสนุนงบประมาณและสถานที่สำหรับจัดการการแข่งขันฯ
“สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้แพ้ ชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่น้อง ๆ จะได้รับประสบการณ์ทำงานร่วมกัน ได้เรียนรู้ ลงมือแก้ปัญหาจากโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม ได้ทดลองเจอกับสถานกรณ์การทำงานจริงก่อนถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นประสบการณ์มีความหมายและคุ้มค่า ถือว่าน้องๆชนะกันทุกคนทุกทีมแล้ว” คุณปิยาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
สอดคล้องกับมุมมองของ ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสวทช. ซึ่งกำกับและดูแล เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ กล่าวว่า “เยาวชนอาชีวะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการผลิต เพราะฉะนั้นถ้าจะยกระดับภาคการผลิตของไทย ก็ต้องพัฒนาเยาวชนอาชีวศึกษาให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปประยุกต์ใช้ได้โดยง่าย ซึ่งน้องๆเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปทำงานกับโรงงานอุตสาหกรรม ช่วยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปทำงานร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป”
“Team Work” เสียงจากน้องๆ Gen R ถึงสิ่งที่ได้รับนอกจากการ UpSkill
การแข่งขันในครั้งนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมทั้งสิ้น 41 คน จาก 7 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี, วิทยาลัยเทคนิคพัทยา, วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ, วิทยาลัยการอาชีพพนัสนิคม, วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์, วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย และวิทยาลัยสารพัดช่างระยอง โดยแบ่งกลุ่มเป็น 3 คนต่อทีม
จากการสัมภาษณ์น้อง ๆ ผู้เข้าแข่งขันถึงประสบการณ์ ความรู้สึกที่มีต่อการแข่งขันในครั้งนี้ นอกเหนือจากสาระความรู้ ทักษะที่ได้รับทั้งในด้าน IoTอุตสาหกรรมและการนำเสนอผลงานแล้ว น้อง ๆ ยังกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นการทำงานที่กดดัน ต่อเนื่อง และยาวนานครั้งแรกของพวกเขา”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้ร่วมฝ่าฟันการแข่งขันตลอด 36 ชั่วโมงไม่ได้เป็นเพื่อนที่รู้จักกันมาก่อน ยิ่งทวีความกดดันเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม “Team Work คือ คีย์เวิร์ดที่น้อง ๆ ทุกทีมได้สะท้อนออกมา ในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ซึ่งเป็นซอฟต์สกิลในการทำงาน ที่ทุกคน ทุกสายอาชีพต้องมี
น้อง ๆ ทีม ทีม ALT + F4 เล่าว่า “เมื่อต้องเจอกับเพื่อนร่วมทีมที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน บ้างก็เป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง จึงต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน พูดคุยสอบถามความถนัดของแต่ละคน เพื่อแบ่งหน้าที่การทำงานให้เหมาะสม” ซึ่งเมื่อถามในมุมมองของทีมจุดเด่นที่ทำให้ ALT + F4 คว้าชัยชนะไปครอง คืออะไร น้อง ๆ เห็นตอบตรงกันว่า ‘ความสามัคคี’
สำหรับทีมที่มีทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องมาร่วมงานกันอย่าง ทีม แอ๊ะแอ๋แม่จ๋า ที่เล่าว่าพวกเขาเดินเกมการแข่งขันแบบ “ชิว ๆ เรื่อย ๆ” โดยความสุขของพี่น้องในทีมต้องมาก่อน ค่อยๆก้าวไปเรื่อย ๆ ก้าวไปพร้อมกัน” แต่ก็สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ไปครอง
โดยน้อง ๆ ยังสะท้อนถึงหลักสูตรการอบรมว่า การศึกษาเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเองสามารถทำได้ แต่อาจจับทางไม่ถูกว่าต้องศึกษาจากจุดไหน ซึ่งเนคเทคได้ออกแบบหลักสูตรที่คนไม่รู้อะไรเลยสามารถเริ่มเรียน เริ่มจากศูนย์มาจนถึงจุดตรงนี้ สามารถทำได้แน่นอน
“เรื่องหลักสูตรนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่ที่ดีที่สุด คือทีมงานที่จัด และผู้สอน ที่สอนง่าย สนุกสนาน ไม่ทำให้เราเครียดมาก ถึงแม้ว่าจะเรียนออนไลน์แต่ก็พยายามเข้าเรียน เพราะพี่ ๆ เขาตั้งใจสอนเรา ให้ความรู้ฟรี ๆ เราก็ต้องตั้งใจ แต่การมาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะว่าความพยายามของทุกคน”
IoT Hackathon 2022 Gen R เป็นตัวอย่างกิจกรรมการพัฒนาเยาวชนด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้อง ๆ กลุ่มอาชีวศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญในภาคการผลิตของไทยในอนาคต จากการเรียนรู้และได้ลงมือปฏิบัติจากโจทย์จริง ทั้งในด้าน Hard Skill การประยุกต์ใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม รวมถึง Soft Skill ในการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับเพื่อนใหม่ การวางแผนการทำงานภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป
บรรณานุกรม
[1] นิราวัลย์ ศรีชัย และ ขวัญชนก หาสุข. (2565). โครงการการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้นสาหรับการพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา