ภาพรวมเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์
คลื่นเทระเฮิรตซ์ (Terahertz Waves) เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างคลื่นไมโครเวฟ (Microwave) และอินฟราเรด (Infrared) มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 30 ไมโครเมตรถึง 3 มิลลิเมตร คลื่นเทระเฮิรตซ์กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในวงการวิจัยเนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ กล่าวคือ คลื่นเทระเฮิรตซ์สามารถทะลุผ่านวัสดุที่ไม่ใช่โลหะได้หลายชนิด เช่น กระดาษ ผ้า ไม้ และพลาสติก คลื่นเทระเฮิรตซ์ไม่ทำให้โมเลกุลในร่างกายสิ่งมีชีวิตแตกตัวเป็นไอออน (Ionization) จึงปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้คลื่นเทระเฮิรตซ์สามารถตรวจจับสารชีวโมเลกุลที่สำคัญได้ เช่น กรดอะมิโน ยาปฏิชีวนะ และสารตั้งต้นของวัตถุระเบิด ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์จึงมีศักยภาพในการนำไปประยุกต์ใช้งานในหลายด้าน เช่น การทดสอบแบบไม่ทำลาย (Non-Destructive Testing; NDT) และการควบคุมคุณภาพ (Quality Control; QC) ในงานด้านเกษตรและอุตสาหกรรม การรักษาความปลอดภัย (Security) การสื่อสาร (Communication) และการแพทย์ (Medicine)
เพื่อเป็นการสนับสนุนการวิจัยด้านเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ในประเทศไทย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ (Terahertz Research Team; TRT) จึงก่อตั้งขึ้นโดยมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยทีมวิจัยได้มีความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ
ย่านความถี่เทระเฮิรตซ์ เมื่อเปรียบเทียบกับย่านความถี่อื่นๆ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : “เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์” กับการประยุกต์ใช้งานในประเทศไทย
วิสัยทัศน์
เป็นทีมวิจัยที่พัฒนาเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ผ่านการวิจัยขั้นแนวหน้าและการพัฒนาเชิงประยุกต์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในระดับประเทศและภูมิภาค
พันธกิจ
- วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตร อุตสาหกรรม สังคม และความมั่นคงของประเทศ
- พัฒนาเทคโนโลยีและบริการต่าง ที่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายในโลกจริง และสร้างประโยชน์ต่อการเกษตร อุตสาหกรรม สังคม และความมั่นคงของประเทศ
- ส่งเสริมความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อนำเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศไทย
เทคโนโลยีหลัก / โจทย์วิจัย
1. การพัฒนาอุปกรณ์สำหรับเทคนิคสเปกโทรสโกปีในคลื่นย่านเทระเฮิรตซ์
ทีมวิจัยของเรามุ่งเน้นการออกแบบ การผลิต และการทดสอบอุปกรณ์สำหรับเทคนิคสเปกโทรสโกปีในคลื่นย่านเทระเฮิรตซ์ ซึ่งรวมถึงเสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสง (Photoconductive Antenna; PCA) รวมถึงแผ่นขยายสัญญาณ Metasurface และเกรตติ้งตรวจวัดคลื่นผิวพลาสมอน (Surface Plasmon Resonance Grating; SPR Grating) นอกจากนี้ทีมวิจัยได้ใช้ซอฟต์แวร์จำลองเชิงพาณิชย์เพื่อให้ได้การออกแบบที่เหมาะสมที่สุด และทำการผลิตอุปกรณ์ขนาดเล็กเหล่านี้ในระดับไมครอน สามารถดำเนินการได้โดยใช้อุปกรณ์ภายในกลุ่มวิจัย เช่น Photomask Aligner, Reactive Ion Etcher, RF Magnetron Sputtering System เป็นต้น
1.1 เสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสง (Photoconductive Antenna, PCA)
เสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสง (Photoconductive Antenna, PCA) เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่มีความสำคัญในอุปกรณ์วิเคราะห์สเปกตรัมสัญญาณเทระเฮิรตซ์ ดังแสดงในรูปที่ 2 เสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสงสามารถเป็นได้ทั้งตัวส่งและตัวรับ และมีองค์ประกอบหลักเป็นสารกึ่งตัวนำและขั้วทำจากทอง เมื่อเสาอากาศถูกกระตุ้นด้วยแสงเลเซอร์ จะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนในระยะเวลาสั้นๆ (10-12 วินาที) ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นในย่านความถี่เทระเฮิรตซ์ โดยเสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสงถูกนำไปประยุกต์ใช้ในเครื่องวิเคราะห์สเปกตรัมสัญญาณเทระเฮิรตซ์แบบโดเมนเวลา (THz Time-Domain Spectroscopy; THz-TDS) ดังแสดงในรูปที่ 2 ที่ถูกนำมาใช้ในเทคนิคสเปกโทรสโกปีย่านเทระเฮิรตซ์ (ดูหัวข้อ 4.3.3) เพื่อตรวจวัดสเปกตรัมของสารหรือวัสดุที่สนใจ ซึ่งสเปกตรัมที่วัดได้จะมีรูปร่างแตกต่างกันตามชนิดและปริมาณของสารหรือวัสดุเหล่านั้น
องค์ประกอบและการใช้งานอุปกรณ์สำหรับเทคนิคสเปกโทรสโกปีในคลื่นย่านเทระเฮิรตซ์
ทีมวิจัยได้ทำการหารูปร่างและโครงสร้างของเสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสงที่มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับยกระดับการผลิตเพื่อรองรับยอดการสั่งผลิตในระดับพาณิชย์ (Mass Production) ด้วยการเสนอเทคนิคการผลิตเสาอากาศ TeraAnt Chips ซึ่งเป็นเสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสงที่ผลิตโดยใช้กระบวนการ Electron-Beam Irradiation ที่มีจุดเด่นในเรื่องของต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก แต่ยังให้ระดับสัญญาณเทระเฮิรตซ์ในระดับที่เทียบเท่ากับเทคนิคในปัจจุบันที่อาศัยการพัฒนาแบบการปลูกแกลเลียมอาร์เซไนด์ที่อุณหภูมิต่ำ (Low-Temperature Grown Gallium Arsenide; LT-GaAs)
1.2 อุปกรณ์ขยายสัญญาณสำหรับเทคนิคสเปกโทรสโกปี
เพื่อเพิ่มความไวและความจำเพาะของการตรวจวัด อาจมีการประยุกต์ใช้แผ่นเมตาเซอร์เฟส (Metasurface) ร่วมกับเทคนิค THz-TDS ดังแสดงในรูปที่ 2 โดยใช้โครงสร้างที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เช่น วงแหวนแยก (Split Ring Resonator; SRR) เกรตติ้งตรวจวัดคลื่นผิวพลาสมอน (Surface Plasmon Resonance Grating; SPR Grating) โครงสร้างเหล่านี้ถูกออกแบบให้มีความถี่เรโซแนนซ์ (Resonance Frequency) เฉพาะในย่านเทระเฮิรตซ์ ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของความถี่เรโซแนนซ์หรือแอมพลิจูดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมรอบโครงสร้าง
การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสัมพันธ์กับคุณสมบัติของตัวอย่าง เช่น ชนิดของโมเลกุล หรือความเข้มข้นของสาร โดยเฉพาะในสารชีวโมเลกุลบางชนิด เช่น น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharides) โปรตีน DNA ดังนั้น โครงสร้างเมตาเซอร์เฟสดังกล่าวจึงสามารถประยุกต์ใช้เป็น เซนเซอร์ชีวภาพ (Biosensor) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือในอีกกรณีหนึ่ง ยังสามารถใช้เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสารที่ผิว โดยวัดการเปลี่ยนแปลงของดัชนีหักเห (Refractive Index) ของสารที่สัมผัสกับพื้นผิวของเมตาเซอร์เฟส
1.3 แผ่นขยายสัญญาณสำหรับเทคโนโลยีโทรคมนาคม
แผ่นขยายสัญญาณนี้ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้ Metasurfaces โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่คล้ายกับอุปกรณ์ทวนสัญญาณ เพื่อเพิ่มกำลังและรวมสัญญาณให้ตกกระทบไปยังพื้นที่ที่ต้องการใช้งานหรือในบริเวณอับสัญญาณได้ ดังแสดงในรูปที่ 3 ขณะนี้แผ่นขยายสัญญาณที่พัฒนาขึ้นสามารถรองรับการใช้งานบนเครือข่าย 5G โดยอุปกรณ์ดังกล่าวถูกทดสอบภายใต้ความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และผลการทดสอบพบว่า สามารถขยายสัญญาณให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้ถึง 32 เท่าที่ความถี่ 26 GHz แนวคิดในการพัฒนาแผ่นขยายสัญญาณดังกล่าวสามารถต่อยอดเพื่อรองรับการสื่อสารในรูปแบบที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้งาน หรือการสื่อสาร 6G ในอนาคตอันใกล้นี้ได้ นอกจากนี้แผ่นขยายสัญญาณที่พัฒนาขึ้นมีต้นทุนการผลิตและการติดตั้งที่ต่ำกว่าอุปกรณ์ทวนสัญญาณที่มีอยู่ในท้องตลาด มีน้ำหนักเบา และสามารถทำงานได้โดยไม่อาศัยพลังงานไฟฟ้า
การพัฒนาและการประยุกต์ใช้แผ่นขยายสัญญาณสำหรับเทคโนโลยีโทรคมนาคม
2. การพัฒนาอุปกรณ์ส่งและรับสัญญาณเทระเฮิรตซ์
2.1 รับสัญญาณเทระเฮิรตซ์แบบแถว (Terahertz Array Detector)
(ซ้าย) โครงสร้าง และ (ขวา) ภาพถ่ายของตัวรับสัญญาณเทระเฮิรตซ์แบบแถว
“ตัวรับสัญญาณเทระเฮิรตซ์แบบแถว” ทำหน้าที่ในการรับสัญญาณเทระเฮิรตซ์จากแหล่งกำเนิดสัญญาณชนิดต่างๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีการดูดซับสัญญาณเทระเฮิรตซ์ในชั้นอภิวัสดุ (Metamaterial) และการเปลี่ยนความร้อนที่ดูดซับเป็นสัญญาณไฟฟ้าผ่านเทคโนโลยี CMOS Microbolometer สำหรับตัวดูดซับสัญญาณที่พัฒนาขึ้นนั้น มีช่วงการตอบสนองต่อความถี่ที่ 0.5–2.0 THz และมีจำนวนทั้งหมด 10 × 10 พิกเซล การผลิตตัวรับสัญญาณเทระเฮิรตซ์แบบแถวนี้ สามารถใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีของศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center; TMEC) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในประเทศไทย และตัวรับสัญญาณเทระเฮิรตซ์ที่ผลิตขึ้นมีศักยภาพในการประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพเทระเฮิรตซ์ (THz Imaging) เพื่อใช้ในการทดสอบแบบไม่ทำลาย (Non-Destructive Testing; NDT) และการควบคุมคุณภาพ (Quality Control; QC) (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่หัวข้อ 3.1 – 3.2)
2.2 ระบบกำเนิดสัญญาณเทระเฮิรตซ์แบบ Smith-Purcell Radiation (SPR)
ระบบกำเนิดสัญญาณเทระเฮิรตซ์แบบ Smith-Purcell Radiation (SPR) ดังแสดงในรูป ประกอบด้วยปืนอิเล็กตรอนกระแสตรง (DC Electron Gun) ที่ได้รับการปรับแต่งให้มีขนาดกะทัดรัด สามารถสร้างลำอิเล็กตรอนพลังงาน 35 keV แบบต่อเนื่อง โดยลำอิเล็กตรอนจะเคลื่อนที่ผ่านเกรตติงซิลิคอนเคลือบโลหะเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแผ่รังสีเทระเฮิรตซ์
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : Terahertz Device : Smith-Purcell Radiation
(ซ้าย) องค์ประกอบ และ (ขวา) ภาพถ่ายของระบบกำเนิดสัญญาณเทระเฮิรตซ์
แบบ Smith-Purcell Radiation (SPR)
3. การพัฒนาเทคนิคการสร้างภาพและสเปกโทรสโกปีในคลื่นย่านเทระเฮิรตซ์
3.1 ระบบตรวจสอบคุณภาพแบบสายพานลำเลียง
ทีมวิจัยได้พัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพแบบสายพานลำเลียง เพื่อจำลองการตรวจวัดในสายการผลิต ดังแสดงในรูป
ภาพรวมและความสามารถของระบบตรวจสอบคุณภาพแบบสายพานลำเลียง
โดยระบบดังกล่าวจะมีสายพานที่ลำเลียงวัสดุให้ผ่านไปในบริเวณระหว่างตัวส่งและตัวรับสัญญาณเทระเฮิรตซ์ เมื่อวัสดุถูกลำเลียงผ่านไปในบริเวณนั้น จะเกิดการบดบังสัญญาณที่แตกต่างกันตามคุณสมบัติของวัตถุ เช่น ชนิด ความหนา และความชื้นของวัสดุ ทำให้ค่าความเข้มสัญญาณเทระเฮิรตซ์ที่ตรวจวัดได้แตกต่างกันในแต่ละบริเวณของวัสดุ และเกิดเป็นภาพเทระเฮิรตซ์ขึ้นมา เนื่องจากสัญญาณเทระเฮิรตซ์สามารถทะลุผ่านวัสดุได้หลายชนิด และตอบสนองต่อความชื้น ระบบดังกล่าวจึงสามารถนำไปใช้ในการสร้างภาพของวัสดุซุกซ่อนภายใน หรือภาพการกระจายความชื้นภายในวัสดุ ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวรองรับการแสดงผลภาพสีจากกล้องถ่ายภาพ ทำให้สามารถแสดงผลได้ทั้งภาพภายนอกและภายในวัสดุ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Terahertz Imaging : สร้างภาพด้วยสัญญาณเทระเฮิรตซ์ ประยุกต์ใช้กับระบบสายพานลำเลียง
3.2 ระบบตรวจจับวัตถุซุกซ่อนภายในแบบ 3 มิติ
ระบบตรวจจับวัตถุซุกซ่อนภายในแบบ 3 มิติ พัฒนาขึ้นจากหลักการสะท้อนของคลื่นเทระเฮิรตซ์ โดยคลื่นเทระเฮิรตซ์ที่สร้างจากตัวกำเนิดสัญญาณ จะสามารถทะลุผ่านสิ่งปกคลุมที่มีส่วนประกอบเป็นผ้า กระดาษ หรือพลาสติก และเข้าไปตกกระทบบนวัตถุที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายใน หากวัตถุดังกล่าวมีส่วนประกอบของโลหะหรือเซรามิค ซึ่งมักจะพบในของมีคมหรือวัตถุอันตราย คลื่นเทระเฮิรตซ์ก็จะถูกสะท้อนออกมาจากวัตถุ เหล่านั้นออกมายังตัวรับสัญญาณเทระเฮิรตซ์
ภาพรวมและความสามารถของระบบตรวจจับวัตถุซุกซ่อนภายในแบบ 3 มิติ
ทีมวิจัยได้นำหลักการนี้มาพัฒนาเป็นระบบตรวจจับวัตถุซุกซ่อนภายในแบบ 3 มิติ ที่ประกอบด้วยตัวส่งและรับสัญญาณเทระเฮิรตซ์ กล้องถ่ายภาพ 3 มิติ และแท่นหมุนวัตถุเพื่อเก็บข้อมูลวัตถุโดยรอบ รวมทั้งทีมวิจัยได้พัฒนาซอฟต์แวร์ประมวลผลเพื่อนำข้อมูลสัญญาณสะท้อนจากวัตถุซุกซ่อนไปแสดงผลในตำแหน่งที่ถูกต้องบนภาพ 3 มิติของวัตถุได้ จากผลการทดสอบพบว่า ระบบสามารถตรวจจับวัตถุซุกซ่อนได้ดีบนวัตถุที่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก แต่ไม่สามารถแสดงผลตำแหน่งของวัตถุซุกซ่อนได้ถูกต้องหากวัตถุมีรูปร่างแบบอื่นที่แตกต่างจากทรงกระบอกมากเกินไป ซึ่งในปัจจุบันทีมวิจัยอยู่ในระหว่างการพัฒนาอัลกอริทึมที่แก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว
3.3 แพลตฟอร์มเทคโนโลยีสเปกโทรสโกปี
หนึ่งในคุณสมบัติที่น่าสนใจของคลื่นเทระเฮิรตซ์ คือ ความสามารถในการตรวจวัดสารชีวโมเลกุลได้ โดยสารชีวโมเลกุลที่มีชนิดหรือปริมาณต่างกัน จะให้รูปแบบของสัญญาณสเปกตรัมในย่านความถี่เทระเฮิรตซ์ที่ต่างกัน ทีมวิจัยมีอุปกรณ์ที่สามารถเก็บสัญญาณสเปกตรัมได้ในย่านความถี่เทระเฮิรตซ์ ทั้งในแบบโดเมนเวลาและโดเมนความถี่ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีความสามารถในวัดสเปกตรัมของสารชีวโมเลกุลพื้นฐานได้หลายชนิด โดยเฉพาะสารพื้นฐานที่พบในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเครื่องสำอาง รวมทั้งทีมวิจัยยังได้มีการประยุกต์ใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำนายชนิดและปริมาณของสารชีวโมเลกุลจากสัญญาณสเปกตรัมที่มีความซับซ้อนได้ ดังภาพแสดงภาพรวมของแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสเปกโทรสโกปีที่ทีมวิจัยดำเนินการอยู่
ภาพรวมของแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสเปกโทรสโกปี และการใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้พัฒนาแพลตฟอร์มฐานข้อมูลสเปกตรัม ที่เก็บรวบรวมข้อมูลสเปกตรัมที่วัดได้จากสารชีวโมเลกุลพื้นฐาน เพื่อนำไปใช้ในการอ้างอิง วิเคราะห์ หรือสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ ในอนาคตทีมวิจัยมีแผนที่จะเปิดใช้งานระบบดังกล่าวให้กับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแบ่งปันและการนำข้อมูลไปใช้งาน
4. เทคโนโลยีอื่นๆ
4.1 เทคโนโลยีไลดาร์สำหรับการสร้างแผน 3 (LiDAR 3D Mapping)
เทคโนโลยี LiDAR อาศัยการใช้แสงเลเซอร์ในย่านอินฟราเรด ในการวัดระยะทาง ณ จุดต่างๆ บนพื้นผิวของวัตถุได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ หากมีการประมวลผลข้อมูลดังกล่าวร่วมกับอุปกรณ์ระบุตำแหน่ง เช่น GPS (Global Positioning System), UWB (Ultra-Wide Band), หรือ IMU (Inertial Measurement Unit) จะช่วยให้สามารถสร้างภาพหรือแผนที่ 3 มิติที่มีขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากแสงเลเซอร์ที่ใช้ใน LiDAR มีความยาวคลื่นสั้นและความถี่ไม่อยู่ในย่านคลื่นที่ตามองเห็นได้ เทคโนโลยี LiDAR จึงมีจุดเด่นในแง่ของความละเอียดในการวัดระยะทางอยู่ในระดับเซ็นติเมตร และสามารถในการใช้งานได้ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน
ระบบสร้างภาพแผนที่ 3 มิติทั้งนอกอาคารและในอาคาร
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้มีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยี LiDAR ในการสร้างแผนที่ทางนอกและในอาคาร ดังแสดงใน และมีการศึกษาการนำเทคโนโลยี LiDAR ในรูปแบบต่างๆ มาทำการเปรียบเทียบและวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการสร้างภาพ 3 มิติ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการวางแผนพัฒนาระบบสร้างภาพ 3 มิติที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีขนาดเล็กลง สามารถพกพาได้ และเหมาะสมกับพื้นที่ทั้งในอาคารและนอกอาคารของสถานที่ทำการสำรวจ
เครื่องมือวิจัย
1. Microfabrication
- Photomask Aligner
- Reactive Ion Etcher
- RF Magnetron Sputtering System
2. Simulation Tools
- High-Performance Computer
- COMSOL Multiphysics
- CST Studio Suite (not sure if we should include this)
3. Terahertz Sources
- 0.1 THz IMPATT Diode Source
- 1.6-4.1 THz Quantum Cascade Laser (QCL)
4. Terahertz Detectors
- FET-Based 16 x 16 Pixel THz Array Camera (pixel size = 2 mm)
- FPA Microbolometer-Based 640 x 480 Pixel THz Array Camera (pixel size = 17 um)
- THz Power Meter and Pyroelectric Detector
5. Terahertz Spectroscopy Systems
- THz Time-Domain Spectroscopy Systems (THz-TDS)
- Fourier Transform Infrared Spectroscopy (FTIR)
6. 3D Mapping Systems
- Velodyne High-Resolution LiDAR Sensors
- FLIR Blackfly S High-Resolution RGB Cameras
- Intel RealSense L515 Portable LiDAR Systems
ติดต่อ
ทีมวิจัยเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ (TRT)
กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
อีเมล : ssdrg-trt@nectec.or.th