สาเหตุการระบาดของผักตบชวาในประเทศไทย ผักตบชวาเป็นพืชที่มีการระบาดอย่างกว้างขวางในแทบทุกจังหวัดในประเทศไทย
ทั้งๆ มิได้เป็นพืชพื้นเมืองของเราเลย เนื่องจากเป็นพืชที่มีลักษณะดีเด่นหลายประการดังได้กล่าวมากแล้ว
ผักตบชวาจึงประสบความสำเร็จในการยังชีพอยู่ในทุกๆ แหล่งที่มันมีโอกาสแพร่กระจายเข้าไป
ไม่ว่าจะได้รับการต่อต้านจากมนุษย์สักเพียงใดก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้แล้วว่าไม่มีประเทศใดเลยใน
50 กว่าประเทศ ที่ครั้งหนึ่งผักตบชวาได้แพร่กระจายเข้าไปแล้ว จากประสบความสำเร็จในการกำจัดมันอย่างราบคาบ
และไม่ว่าจะมีกฎหมายต่อต้านอย่างแข็งแรงสักเพียงใด อย่างดีที่มนุษย์จะทำได้ในขณะนี้ก็เพียงแต่ควบคุมประชากรของมันให้อยู่ในปริมาณจำกัดที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
สาเหตุของการแพร่กระจายของผักตบชวาในประเทศไทย เพื่อเป็นรากฐานแห่งความรู้ที่จะนำไปใช้ประกอบในการพิจารณาป้องกันกำจัดต่อไป
สาเหตุที่สำคัญได้แก่
- การนำเข้ามาในประเทศ
-
สาเหตุของการแพร่กระจาย
การนำเข้ามาในประเทศ
นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย เนื่องจากผักตบชวาเป็นพืชที่มีลักษณะทรงพุ่มและใบสวย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีลักษณะดอกและช่อดอกที่สวยงามมาก คือมีกลีบที่มีลวดลายสวยงาม
มีสีฟ้า เป็นช่อตั้ง ดังนั้น จึงทำให้ผู้ที่พบเห็นได้นำไปปลูกตามที่ต่างๆ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้
จุดเริ่มต้นอยู่ที่ชวา หรือประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน และต่อมาจึงได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ
ในแถบภูมิภาคนี้ ในประเทศไทย ได้มีผู้นำเข้ามาตั้งแต่ปี 2444 และได้แพร่ออกไปได้รวดเร็วมากจนกระทั่งทางการต้องตราพระราชบัญญัติเป็นพืชต้องห้ามที่ต้องพยายามจำกัดหรือทำลาย
เมื่อปี 2456 และมาถึงปัจจุบัน
สาเหตุของการแพร่กระจาย
เนื่องจากผักตบชวาเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ง่าย จึงทำให้มีผู้นิยมนำไปปลูกกันมากขึ้น
ภายในระยะเวลาไม่นานนัก ผักตบชวาก็แพร่หลายทั่วไปจนลงไปถึงแหล่น้ำตามธรรมชาติและยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากผักตบชวานี้บนพืชที่ทนทานมาก จึงมีโอกาสแพร่ไปได้ไกลๆ โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนบางคน
เช่น
การอนุรักษ์และปลูกเลี้ยงโดยคนบางประเภท ในประเทศไทย เช่นเดียวกันในหลายๆ ประเทศที่รณรงค์กำจัดผักตบชวาอยู่ในขณะนี้
มีบุคคลที่เป็นนักอนุรักษ์นิยม เห็นความสวยงามของผักตบชวาเป็นเรื่องสำคัญกว่าปัญหาที่มันก่อให้เกิดขึ้น
คนพวกนี้จะช่วยกันปกป้องมิให้ผักตบชวาถูกกำจัดไปโดยสิ้นเชิงจากการฉีดพ่นยากำจัดวัชพืช
หรือโดยวิธีอื่นใด ในการกำจัดผักตบชวาของหน่วยงานบางหน่วย คนงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในโครงการนั้น
ก็ทำตัวเป็นอนุรักษ์นิยมจำเป็น แต่ก็เพื่อประโยชน์ของอาชีพของตน เหตุผลง่ายๆ ที่น่าเห็นใจก็คือ
หากเขากำจัดผักตบชวาอย่างหมดสิ้นเสียแล้ว ต่อไปจะมีงานที่ไหนให้เขาทำอย่างบต่อเนื่องอีกเล่า
ผู้เลี้ยงหมู นอกจากจะเป็นผู้แพร่พันธุ์ผักตบชวาไปทุกหนทุกแห่งแล้ว ส่วนใหญ่ยังเป็นนักอนุรักษ์ผักตบชวาตัวฉกาจ
ซ้ำร้ายบางคนถึงกับลงมือนำผักตบชวาจึงนำไปปลูกในที่ต่างๆ เพื่อที่ตนจะได้ไปเก็บมาเลี้ยงหมูได้ทันที
จากเหตุดังกล่าวนี้จึงทำให้ผักตบชวามีโอกาสแพร่ไปจนถึงจังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศ
และยิ่งถ้าเป็นเมือที่เป็นต้นน้ำลำธารด้วยแล้ว การแพร่กระจายก็ยิ่งเกิดได้ดีมากขึ้น
เพราะธรรมชาติจะช่วยพาไปด้วย กล่าวคือ เมื่อผักตบชวาลงไปสู่แม่น้ำลำคลองก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น
และถูกน้ำพัดไปยังเมืองต่างๆ ทางตอนปลายน้ำ
ผู้เลี้ยงปลาตามแหล่งน้ำสาธารณะบางแห่งได้ใช้ผักตบชวาเป็นที่ล่อปลาให้เข้ามาพำนักอยู่ภายใต้แพผักตบชวา
เพราะมีทั้งความร่มเย็น อาหาร และที่หลบซ่อนยอย่างดี ดังเช่น ที่มีการทำพุ่มกล่ำในคลองบางขาม
(อำเภอท่าวุ้งและบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี) และที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ในการทำพุ่มกล่ำนั้น
ราษฎรจะไม้รวกปักไว้เป็นวงในลำน้ำ แล้วนำเอาผักตบชวา (และวัชพืชน้ำอื่นๆ) เข้าไปปลูกเลี้ยงไว้ในวงพุ่มกล่ำ
เมื่อสังเกตว่ามีปลาเข้าไปอาศัยอยู่มากพอแล้วก็เอาตาข่ายไปล้อมพุ่มกล่ำไว้ ดึงผักตบชวาออก
แล้วลงมือจับปลาโดยใช้เครื่องมือจับปลา เช่น อวน แห สวิง ในหน้าน้ำ ผักตบชวาจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนชาวบ้างต้องปล่อยผักตบชวาออกไปจากพุ่มกล่ำ
แล้วไปทำความเดือดร้อนให้แก่ที่อื่นต่อไป
การพัฒนาแหล่งน้ำ ในระยะหลังนี้ ประเทศไทยได้มีการเร่งพัฒนาไปทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการผลิตพลังงาน
ได้มีการดำเนินการกันอย่างกว้างขวางทั่วทุกภาค ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดอ่างเก็บและทะเลสาบต่างๆ
มากมาย แหล่งน้ำเหล่านี้ ได้ช่วยให้ผักตบชวามีสถานที่ ที่จะเพาะและขยายพันธุ์ตัวเองเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ผักตบชวาจำนวนมากๆ นี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่แหล่งน้ำนั้นๆ เป็นอเนกประการ และยิ่งกว่านั้น
เมื่อหลุดออกจากแหล่งน้ำดังกล่าวนี้ได้ ก็จะไปก่อให้เกิดปัญหาในที่ต่างๆ อย่างกว้างขวางต่อไป
การเพิ่มพูนอาหารธาตุในน้ำ นอกจาการพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว ประเทศไทยยุคปัจจุบันยังได้พัฒนาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง
ผลอันหนึ่งของการพัฒนาเหล่านี้ก็คือการเพิ่มพูนอาหารธาตุในน้ำ (eutrophication)
ซึ่งกลายเป็นปุ๋ยอย่างดีของผักตบชวา เช่น
- การตัดเผาป่าเพื่อใช้ที่ดินเพื่อการกสิกรรมนั้น ได้ก่อให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน
และนำเอาอาหารธาตุซึ่งธรรมชาติได้สะสมไว้เป็นเวลาช้านาน ลงไปสู่ห้วยหนองคลองบึง
- การกสิกรรมสมัยใหม่ นิยมใช้ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชเพื่อช่วยผลผลิต ต่อมาสารเคมีเหล่านี้
ส่วนหนึ่งก็จะถูกชะล้างไหลลงไปสู่ห้วยหนองคลองบึงเช่นกัน
- การเลี้ยงปศุสัตว์ ไม่ว่าสัตว์เล็กหรือใหญ่ ต่างก็มีสิ่งขับถ่ายซึ่งมักจะมีที่ระบายลงสู่ห้วยหนองคลองบึงอยู่เสมอ
- ประชากรของมนุษย์ที่นับวันก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น ก็มีส่วนช่วยทำให้เกิดความสกปรกโสมมให้แก่แหล่งน้ำจากนั้นทิ้งจากบ้านเรือและสิ่งขับถ่ายประจำวัน
- การพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมักจะอาศัยแหล่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ก็ช่วยทำให้แหล่งน้ำนั้นๆ
สกปรกโสมมยิ่งขึ้นจากการปล่อยน้ำทิ้งที่ยังไม่ได้ทำให้สะอาดลงสู่แหล่งน้ำนั้น
|