มองโอกาสในวิกฤต “EV Conversion” คือ Transition Strategy หรือไม่?

Facebook
Twitter

โดย ทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี
เนคเทค สวทช.

การยกระดับอุตสาหกรรมการดัดแปลงรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงหรือ EV Conversion นั้นถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Strategy) ที่เป็นการเตรียมความพร้อมภายในประเทศไปสู่การผลิตและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคผ่านการสร้างอุปสงค์ (Demand) ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกิดอุปทาน (Supply) ความต้องการในการลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นภายในประเทศ โดยมีนโยบายสนับสนุนจากสภาพัฒน์ฯ ตั้งเป้าหมายรถไฟฟ้าดัดแปลง จำนวนอย่างน้อย 40,000 คัน ภายใน พ.ศ. 2570 ตลอดจนการสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาลไทย 30@30 ภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องมีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด

การจะเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบฉับพลัน อาจจะกลายเป็น Disruption ต่ออุตสาหกรรมดั้งเดิม ทำลาย supply chain ในอุตสาหกรรมนี้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ดังนั้น อุตสาหกรรม EV conversion จึงเป็นทางออกหนึ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในระยะเวลาไม่เกิน 5-10 ปี ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายภายในประเทศ การกระตุ้นให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมนี้จะส่งผลกระทบให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง สร้างองค์ความรู้ ความพร้อม และยกระดับความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ

EV conversion หรือ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง คือ การนำรถเก่าที่ใช้น้ำมัน มาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่ เพื่อเปลี่ยนจากการเติมน้ำมันมาเป็นระบบไฟฟ้า 100%

เปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ จำนวนชิ้นส่วน จากชิ้นส่วนรถน้ำมัน 30,000 ชิ้น เมื่อแปลงเป็น EV จะลดลงเหลือเพียง 3,000 ชิ้น ซึ่งหัวใจสำคัญของ EV conversion อยู่ที่ EV Kit หรือชุดมอเตอร์และระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง โดยมีราคาตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาทขึ้นไป แล้วแต่รุ่นรถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วน ซึ่งยังถือว่าสูงอยู่มากเมื่อเทียบกับผลการสำรวจที่พบว่าผู้ใช้งานสามารถจ่าย EV conversion ประมาณ 300,000 บาท เท่านั้น โดยมีรายงานว่าถ้าได้รับการสนับสนุน อาจจะสามารถลดราคาเหลือ 300,000 บาทต่อคันได้

สำหรับความคุ้มทุนคุ้มค่าของการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า รถเล็กสี่ล้อสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับน้ำมันได้ดีกว่ารถใหญ่ขนาดหกล้อและสิบล้อ ทั้งนี้อุตสาหกรรม EV conversion ควรมุ่งเน้นไปที่ Niche market ที่เป็น Commercial vehicle จะมี Demand และคุ้มค่าต่อต้นทุนการ Conversion มากกว่า โดย Optimum price ในปัจจุบันควรอยู่ที่ไม่เกิน 300,000 บาทต่อคัน ในมิติผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ พิจารณาจากการที่รถกระบะทั่วประเทศอายุ 10 ปีขึ้นไป มีประมาณ 4 ล้านคัน ถ้าสามารถนำมา conversion เพียง 10% ( 4 แสนคัน) จะเกิดเงินหมุนเวียนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่ในทั่วประเทศ ทั้งยังลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการปล่อยมลภาวะที่ลดลงได้ 560 ล้านบาท

ในด้านความปลอดภัย ขณะนี้มีมาตรฐาน มอก.เอส ในอุตสาหกรรม “การบริการดัดแปลงรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า” เพื่อให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ จำนวน 2 มาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานที่ EEC กำลังจะประกาศใช้เป็น guideline 3 เล่ม ทั้งนี้จากประเด็นความกังวลด้านความปลอดภัย guideline ต่างๆ ถือเป็นคำตอบเบื้องต้นในการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของการใช้ EV Conversion แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ได้มีบทบังคับแต่อย่างใด โดยขณะนี้ภาครัฐกำลังดำเนินการกำหนดมาตรฐาน การทดสอบ การรับรองคุณภาพ ตลอดจนเตรียมประกาศมาตรการการช่วยเหลือด้านความปลอดภัยต่อไป

ปัจจัยความสำเร็จที่จะ Breakthrough ให้เกิดอุตสาหกรรม EV Conversion ที่สำคัญคือการสนับสนุนด้านยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการจากภาครัฐ มิติด้านความปลอดภัยของการใช้รถยนต์ EV Conversion ด้วยการกำหนดมาตรฐานและการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ นอกจากนี้ การสามารถรวมกลุ่มแบบ Public-Private-Partnership (PPP) โดยการจัดตั้งสมาคมหรือ consortium ก็เป็นอีกแนวทางสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมนี้อย่างยั่งยืน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนคเทคร่วมกับ กฟผ. ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาชุดประกอบการดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง (EV kit and blueprints) สำหรับ EV conversion ด้วยวิธีการแบบ e-Engine ซึ่งแตกต่างไปจากการดัดแปลงตามปกติ และถือเป็นที่แรกในโลกที่ทำสำเร็จ ด้วยหลักการสร้างเครื่องยนต์เสมือน โดยอาศัยมอเตอร์ไฟฟ้า และกล่องอิเล็กทรอนิกส์สำหรับจำลองสัญญาณ (Engine Emulating Unit หรือ EEU) ทำให้กล่อง ECU เดิมของรถสามารถทำงานได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง 4 โครงการ โดยดัดแปลงในรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถโดยสาร และเรือโดยสาร นอกจากนี้กำลังดำเนินโครงการพัฒนาข้อแนะนำการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและมาตรฐานการตรวจสอบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ทุนสนับสนุนจาก บพข.

ทั้งนี้ จุดยืนและบทบาทของเนคเทค มุ่งเน้นด้านการวิจัยและพัฒนาวิธีการดัดแปลง ชุดประกอบและคู่มือการดัดแปลง วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนหลัก ทดสอบมาตรฐานของชิ้นส่วนหลัก พัฒนาข้อแนะนำการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และมาตรฐานการตรวจสอบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ร่วมทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงภายใต้บอร์ดอีวีแห่งชาติ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจด้าน EV Conversion แก่บุคคลทั่วไป โดยมีข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ใน 3 มิติหลัก โดยเริ่มจากมิติด้านการวิจัยและพัฒนา และ integration ระหว่างภาครัฐและเอกชน มิติด้านการฝึกอบรมเพื่อพัฒนากำลังคน และมิติด้านการทดสอบและรับรองมาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการสร้าง ecosystem ของการทดสอบและรับรองมาตรฐาน

สนใจรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวโหลดเอกสารได้ ที่นี่

รายงาน มองโอกาสในวิกฤต “EV Conversion” คือ Transition Strategy หรือไม่?

บทวิเคราะห์โดย

  • ดร.ดวิษ กิระชัยวนิช
    ทีมวิจัยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (PP)
    กลุ่มวิจัยการควบคุมและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (ACERG)
  • ดร.บุรินทร์ เกิดทรัพย์
    ทีมวิจัยมอเตอร์และการแปลงผันกำลังงาน (MAP)
    กลุ่มวิจัยการควบคุมและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (ACERG)
  • ดร.จิรพรรณ เชาวนพงษ์
    ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี (SPD)