เนคเทค สวทช. โชว์ผลงานวิจัยในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564

Facebook
Twitter

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564 ณ อิมแพค เมืองทองธานี โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. เอกอัครราชทูตจากประเทศเดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่นและรัสเซีย ผู้แทนท่านทูตจากสหราชอาณาจักร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะผู้บริหารจาก อว. เข้าร่วม

ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก กล่าวว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ จัดขึ้นบนแนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Art – Science – Innovation and Creative Economy)” และสื่อสารเนื้อหาทางวิชาการตามนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับศิลปะในมุมของการขับเคลื่อน พัฒนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ของประเทศ และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม “BCG Model : Bio – Circular – Green Economy” รวมทั้งร่วมเฉลิมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์และสังคมของโลกในปี 2021 ได้แก่ ปีสากลแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (International Year of Creative Economy for Sustainable Development) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือให้งานนี้เปลี่ยนระบบความคิดของคนไทยให้หันมาสนใจ ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนมุมมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก น่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้และจับต้องได้ ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น นิทรรศการความก้าวหน้าและกิจกรรมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กิจกรรมสำหรับเยาวชน การประกวดแข่งขัน U2T Hackathon 2021 เป็นต้น

ในปีนี้ เนคเทค สวทช. นำผลงานวิจัยร่วมแสดงนิทรรศการ ดังนี้

HandySense ระบบเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีนวัตกรรมเซนเซอร์เพื่อวิเคราะห์และควบคุมปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ที่มีผลสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยเป็นกระบวนการตั้งแต่การปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวโดยใช้เซนเซอร์ในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ประกอบด้วย เซนเซอร์อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ปริมาณแสง ปริมาณการให้น้ำ ค่าความเป็นกรดด่าง ค่าความขุ่น ปริมาณออกซิเจน โดยนำข้อมูลมากำหนดตัวแปรสำหรับควบคุมสภาวะแวดล้อม เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพ ประเมินปริมาณผลผลิต เพิ่มคุณค่าผลผลิต รวมทั้งลดต้นทุนการผลิต สำหรับ เกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจ พิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย HandySense นำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ เป็นการเปิดเผยรายละเอียดการผลิต และอนุญาตให้สาธารณะนำไปผลิตและใช้งานโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ และค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://handysense.io/register/

UNAI แพลตฟอร์มระบบระบุตําแหน่งภายในอาคารซี่งใช้เทคโนโลยีบลูทูธ เป็นระบบที่ให้บริการข้อมูลตำแหน่งหรือข้อมูลเส้นทางเคลื่อนที่ ของคนหรือวัตถุสิ่งของภายในอาคารแบบออนไลน์ โดยใช้เทคโนโลยีบลูทูธ แบบAoA เพื่อนำไปติดตามตำแหน่งของผู้เข้าชมงานภายในบริเวณงาน ซึ่งทดลองเก็บข้อมูลผู้เข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สามารถประยุกต์ใช้ การติดตามเพื่อดูความปลอดภัยเด็กในโรงเรียน , การติดตามคนในการซ้อมหนีไฟ , การติดตามพนักงานที่อยู่ในเขตอันตราย , การติดตามครุภัณฑ์ อุปกรณ์หรือสิ่งของมีค่าในอาคาร เช่น สินค้าในคลัง