เนคเทค ร่วมเวที “Al กับการคุ้มครองผู้บริโภค” เนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล 2567

Facebook
Twitter

14 มีนาคม 2567 ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์(DSARG) เนคเทค สวทช. ร่วมบรรยายหัวข้อ “ผู้บริโภคยุคใหม่รู้เท่าทัน AI” ภายใต้เสวนา เอไอ (AI) กับการคุ้มครองผู้บริโภค ในงานวันสิทธิผู้บริโภคสากล 2567 จัดโดยสภาผู้บริโภค โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภคทั่วประเทศเข้าร่วม ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง

สหพันธ์ผู้บริโภคสากลร่วมกับองค์กรสมาชิกทั่วโลกกว่า 200 องค์กร จาก 100 ประเทศ ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดวาระปี 2567 เรื่อง “เอไอ (AI) ที่มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมกับผู้บริโภค” ในวาระดังกล่าว สภาผู้บริโภคจึงได้จัดโครงการรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล ปี 2567 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของเอไอในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้เทียบเท่าสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเอไอถือเป็นการพลิกโฉมการใช้เทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลกอย่างมหาศาล ดังนั้นการใช้เอไอเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติต้องเป็นการปฏิบัติการอย่างเป็นธรรมและมีความรับผิดต่อผู้บริโภค

เสวนา Tech Talk หัวข้อ : เอไอ (AI) กับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงการร่วมกันหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากเอไอ ไม่ใช่เพียงให้เอไอหลอกหลวงหรือให้ข้อมูลเท็จ ร่วมเสวนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัลไทยพีบีเอส และดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์(DSARG) เนคเทค สวทช. ดำเนินรายการโดย คุณธีรเดช งามเหลือ ผู้ประกาศข่าวสถานีไทยพีบีเอส

ดร.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า AI อยู่รอบตัวเรา ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์แต่เป็นศาสตร์ที่ช่วยมนุษย์ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เรากำลังประดิษฐ์สมองกลเพื่อเลียนแบบการคิดวิเคราะห์ที่เร็วกว่ามนุษย์ โดยมองในสองแง่มุมที่มีทั้งประโยชน์และมุมที่ต้องระวัง เช่น การใช้ AI ปลอมแปลงภาพและเสียงของคนรู้จักแล้วหลอกโอนเงิน การมาของ Generative AI ช่วยให้หลายๆ คนเริ่มตระหนักถึงความสามารถและการมีอยู่ของ AI กันมากขึ้นแล้วอาจจะเกิดความสงสัยว่า AI จะมาแทนที่คนได้หรือเปล่า แต่ความจริงนั้น AI สามารถช่วยคนได้หลายเรื่องหากนำมาใช้งานอย่างเหมาะสม อาทิ การใช้ AI สร้างภาพและเสียงในอุตสาหกรรมบันเทิง การวิเคราะห์ฟิล์มเอกซเรย์ด้วย AI ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น เป็นต้น

ปัจจุบันกระทรวง อว. และ กระทรวงดิจิทัลขับเคลื่อนเรื่องแผนพัฒนาแผนปฏิบัติการด้าน AI ของไทย และมีการสำรวจความพร้อมในการนำ AI ไปใช้งานในประเทศไทย ปี 2566 พบว่า มีหน่วยงานใช้งาน AI แล้ว 15.2% มีแผนที่จะใช้ 56.6% ยังไม่มีความต้องการใช้/ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม 28.2%

การที่เราจะพึ่งพา AI ได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องตีโจทย์ให้ออก ว่าสิ่งไหนเราสามารถใช้ AI ช่วยทำงานได้ และสิ่งไหนที่เรายังต้องทำเอง ตัวเทคโนโลยีนั้นสามารถทำงานเองได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือแนวทางการใช้งาน ส่วนตัวเห็นว่า AI ควรจะมาช่วยเรื่องการแก้ปัญหาเร่งด่วนในประเทศ เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ความยากจน ไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าปรับการใช้งานไปแนวทางนี้ก็น่าจะดี ดร.สุทธิพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

ถ่ายภาพ : พัณณิตา โชติวรานันท์