เนคเทค สวทช. จับมือพันธมิตรร่วมเติมเต็ม Ecosystem เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างภาคเกษตรไทยยั่งยืน ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC-ACE 2022

Facebook
Twitter

10 สิงหาคม 2565: ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ร่วมกับพันธมิตร จัดงานแถลงข่าว “งานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2565 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2022 (NECTEC–ACE 2022) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” จัดแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการเกษตรยั่งยืน (Digital Technology for Sustainable Agriculture) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8-9 กันยายน 2565 ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และ สัมมนาออนไลน์

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า เนคเทค สวทช. ให้ความสำคัญและมีความพยายามดำเนินงานผลักดันงานวิจัย/เทคโนโลยีเพื่อภาคการเกษตรมากว่า 10 ปี และยังเป็นหนึ่งใน 8 กลยุทธ์การดำเนินงานแบบมุ่งเป้าที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน นั่นคือ ระบบเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) กับโจทย์หลัก คือ “เราจะนำเทคโนโลยีมาช่วยทำการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงอย่างไร” ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และเนคเทคไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้เพียงลำพังอย่างแน่นอน ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่ท่านมีภารกิจหลักในการสนับสนุนส่งเสริมภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี แหล่งทุนสนับสนุน และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มาเป็นพลังร่วมขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่จะสร้างและเติมเต็มให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้เติบโต เพื่อสร้างภาคเกษตรไทยให้ยั่งยืน

จึงเป็นที่มาของการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคในปีนี้  ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” โดยมุ่งเน้นด้าน “Digital Technology for Sustainable Agriculture” เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย นักวิชาการ ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเกษตรยั่งยืน รวมทั้งการนำเสนอองค์ความรู้จากผลงานวิจัยของเนคเทค และผลงานที่ดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร ในรูปแบบการสัมมนาวิชาการ และการจัดนิทรรศการ เพื่อแสดงศักยภาพและเทคโนโลยีจากภาครัฐและเอกชนในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาคการเกษตร ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการเกษตร นักวิจัย และนักวิชาการ เกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยีสำหรับภาคการเกษตร นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 

AEC-Presscon-Q- (1)

ดร.สุรางค์ศรี วาเพชร ผู้อำนวยการกลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมด้านการเกษตร กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากหน่วยงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มปริมาณผลผลิต และคุณภาพสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและยกระดับภาคการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่

สำหรับโครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ และแนวคิด HandySense Open Innovation เป็นความร่วมมือกันเพื่อการช่วยเหลือสนับสนุนทั้งงานวิชาการ (Technical Assistant) แหล่งทุน (Financial Assistant) และการบริหารโครงการร่วมกันของกรมส่งเสริมการเกษตร เนคเทค และ ธ.ก.ส. โดยได้เริ่มดำเนินการทั้งการพัฒนาความรู้และทักษะบุคลากรด้านการเกษตรทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรมากกว่า 3,000 คน เพื่อสร้างการรับรู้ ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ HandySense ที่สำคัญได้สร้างแปลงเรียนรู้ต้นแบบระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense พร้อมกับ วิทยากรประจำแปลงเรียนรู้ รวมจำนวน 16 จุด ประกอบด้วยแปลงเรียนรู้ของศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 6 และ 10 จุด ตามลำดับ จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรตื่นตัวและสนใจการใช้ประโยชน์ของ HandySense ตลอดจนมีประชาชน ข้าราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสนใจและเข้ามาศึกษาดูงานจำนวนมาก ซึ่งในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรจะสร้างแปลงเรียนรู้ต้นแบบเพิ่มเติมอีก 29 จุด รวมเป็น 45 จุด ทั่วประเทศ

การจัดงาน NECTEC – ACE 2022 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรก็ได้มีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรที่นำผลงานวิจัยของเนคเทคมาขยายผลสู่การประยุกต์ใช้ของเกษตรกร คือ HandySense และร่วมกันพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ตลอดจนร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานของกรมส่งเสริมการเกษตรทั้งการประยุกต์ใช้ HandySense และผลงานส่งเสริมการเกษตรที่มุ่งสู่การเป็น Digital DOAE

AEC-Presscon-Q-6

นายอัธยะ พินจงสกุลดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในอดีตกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานที่ผลิตข้อมูลเป็นหลัก ก่อนจะเข้าสู่การให้ความรู้ ส่งเสริม ถ่ายทอดเทคโนโลยีและข้อมูลดินไปสู่ภายนอก โดยเริ่มต้นในระดับหน่วยงาน และก้าวต่อไปเรื่อย ๆ สู่ระดับตำบล ระดับอำเภอ และจำเพาะมากขึ้นในระดับรายแปลง

ปัจจุบันกรมฯ ได้พัฒนาการให้ข้อมูลในระดับที่มีความละเอียดมากขึ้น และเจาะจงเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกร ซึ่งกรมฯ กำลังก้าวสู่การให้ข้อมูลดินระดับรายบุคคล ผ่าน “น้องดินดี” เอไอไลน์แชทบอต โดยประชาชนสามารถขอรับการส่งเสริม สนับสนุนข้อมูล และผลิตภัณฑ์จากกรมฯ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ข้อมูลการใช้งานของประชาชนผ่าน “น้องดินดี” จะให้เกิดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ช่วยวิเคราะห์ความต้องการในระดับบุคคล

นโยบายต่อไปกรมฯ มุ่งสู่การเป็นดินอัจฉริยะที่ข้อมูลต้อง “แม่น & Match” คือ ข้อมูลถูกต้องแม่นยำ และเชื่อมโยงได้ ด้วยข้อมูลของกรมฯ ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ซึ่งมีปริมาณมากกว่าหลักล้านแปลง ข้อมูลในแต่ละแปลงมีความแตกต่างหลากหลาย และมีความผันผวนของข้อมูลในแต่ละวัน ทั้งชนิดของพืชที่ปลูก ข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลสภาวะของดิน ข้อมูลการจัดการแปลง เป็นต้น รวมไปถึงข้อมูลเกษตรกรซึ่ง ทั้งปริมาณ ความหลากหลาย และผันผวนของข้อมูลของกรมนี้ฯ เป็นกลไกเริ่มต้นของการนำไปสู่ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่กรมฯ ตั้งเป้าหมายเดินหน้าไปสู่การให้ข้อมูลดินระดับรายบุคคล

สำหรับงาน NECTEC-ACE 2022 ปีนี้ กรมฯ ขอเชิญชวนทุกท่านจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี “น้องดินดี” ที่เตรียมเชื่อมโยงกับพันธมิตรเพื่อเสริมประสิทธิภาพเทคโนโลยี และนำไปสู่ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ทำให้วงการเกษตรไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

AEC-Presscon-Q-2

นายเสกสรรค์ จันทร์ขวาง รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. เรามีภารกิจหลักเป็นสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อเกษตรกรมากว่า 50 ปี โดยเราได้เรียนรู้ว่าการสนับสนุนเงินทุนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะนำพาให้พี่น้องเกษตรกรสำเร็จได้ ซึ่งเงินทุนต้องควบคู่ไปกับองค์ความรู้ในการที่จะเพิ่มพลังประสิทธิภาพการทำเกษตรกรรมได้ ทั้งในการจัดการแปลงเกษตร การแปรรูปผลผลิต และการตลาด

อีก 5 ปีข้างหน้าเรามีวิสัยทัศน์ในการก้าวสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั้งโลกกำลังเข้าสู่เป็นโลกดิจิทัลทั้งหมด ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอื่น ๆ สามารถเคลื่อนตัวไปได้ค่อนข้างมาก แต่เรื่องการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในภาคการเกษตรเป็นส่วนน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะในพี่น้องเกษตรกรรายย่อย ซึ่งการขับเคลื่อนให้พี่น้องเกษตรกรใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นโจทย์ท้าทาย ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันทำให้เกษตรกรปรับพฤติกรรมจากการเกษตรแบบเดิมมาใช้งานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต และลดต้นทุน

ในปีนี้ ธกส. จึงทบทวนการทำงานโดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยเฉพาะภาคการเกษตรไปให้พี่น้องเกษตรกรได้ใช้อย่างอย่างจริงจัง โดยไม่ทิ้งบทบาทเดิมในเรื่องการสนับสนุนด้านสินเชื่อ ซึ่ง ธกส. จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเติมเต็มระบบนิเวศเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล ภายใต้การทำงาน 3 มิติ ภารกิจแรก คือ การสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยทั้งในส่วนของภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชนที่มีความสนใจเพื่อค้นหางานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร ภารกิจที่สอง คือ การต่อยอดขยายผลในงานนวัตกรรมต่าง ๆ ที่แต่ละส่วนงานพัฒนา และภารกิจที่สาม คือ การขยายผลเทคโนโลยีนวัตกรรมร่วมกับทั้งศูนย์ของกรมส่งเสริมการเกษตร หรือศูนย์ของส่วนงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ไปสู่เกษตรกรได้ใช้จริง

AEC-Presscon-Q-3

คุณกรรณิกา ตันติการุณย์ Head of 5G Product & Ecosystem Partner Development บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) AIS มีกลยุทธ์ในการที่เราจะผลักดันในเรื่องของดิจิตอลทรานฟอร์เมชันอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเราก็เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ทั้งโทรศัพท์มือถือ บอร์ดแบรนด์ WiFi คลาวด์ ไอโอที นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่าย AIS เรายังโฟกัสในเรื่องของการสร้างระบบนิเวศและพันธมิตร โดยเฉพาะในการผลักดัน 5G ไปสู่การใช้งานจริงและสนับสนุนระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงการสนับสนุนการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven) ซึ่ง AIS มองว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในเรื่องการนำข้อมูลไปใช้ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อที่จะให้บริการได้อย่างมืออาชีพ

สำหรับภาคเกษตรกรรม AIS ต้องขอบคุณ Kubota Farm ที่นำเครือข่าย 5G ไปใช้กับหลาย ๆ บริการที่อยู่ใน Kubota Farm นอกจากนี้ AIS ยังมีแพลตฟอร์มที่ชื่อ “iFarm” ให้บริการ Integrate กับอุปกรณ์ไอโอทีเพื่อที่จะดึงข้อมูลมาประมวลผลให้เกษตรกรใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์ทำการเกษตร รวมถึงสามารถควบคุมอุปกรณ์ผ่านตัวแท็บเล็ต พีซี หรือว่าสมาร์ตโฟน ซึ่งเราต้องการจะตอบโจทย์สมาร์ตฟาร์มเมอร์ รวมถึงเกษตรกรสูงวัยที่ต้องการทำการเกษตรต่อไป

นอกจากนี้ AIS ยังโฟกัสในเรื่องของความร่วมมือระหว่างเนคเทค สวทช. ในเรื่องการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทั้งในด้านเครือข่าย 5G 4G 3G WiFi และ NB-IoT และพร้อมให้บริการด้านไอทีสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของพันธมิตรทุกภาคส่วน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้โซลูชันเพื่อนำไปพัฒนาบริการ หรือ การวิจัยและพัฒนาร่วมกัน

สำหรับการเติมเต็มระบบนิเวศเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล AIS ในมุมของผู้ให้บริการโซลูชัน เรามีพันธมิตรทั้งที่เป็นบริษัทรวมถึง Startup และยินดีที่จะพัฒนาและทำงานร่วมกันกับภาครัฐ เพื่อร่วมผลักดันเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างเกษตรกรรมยั่งยืนร่วมกับเนคเทคและพันธมิตรทุกภาคส่วนต่อไป

AEC-Presscon-Q-4

นายปุณนะ วงศ์ธนาศิริกุล ผู้จัดการฝ่ายขายแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า นวัตกรรมมีความสำคัญมากในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการเกษตรกรรม ถ้าเราต้องการแข่งขันต่อไปในตลาดโลกต้องมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงาน คนที่เป็นเกษตรกรอายุมากขึ้นด้วย ฉะนั้นการที่เราใช้จะช่วยเทคโนโลยีต่าง ๆ จะช่วยในเรื่องนี้ด้วย

สยามคูโบต้า เราพยายามพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลเข้ามาช่วยลดความผันแปรของปัจจัยการเกษตรต่าง ๆ อย่างระบบ KIS (Kubota (Agri) Solutions) เป็นระบบจัดการองค์ความรู้ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีการเกษตร เพราะการมีนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่สามารถการันตีได้ว่าจะทำเกษตรกรได้ดี จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้วย โดยสยามคูโบต้าร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงานในระบบนิเวศทั้งกรมวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน และภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่จำเป็นต้องภาคการเกษตร รวมถึงมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีนำระบบไอโอทีมาใช้ผ่านระบบ KUBOTA intelligence Solutions (KIS) ที่จะเชื่อมต่อกับสินค้าของคูโบต้า ทำให้ทราบข้อมูลประสิทธิภาพการใช้งานของเกษตรกร ระยะเวลาการใช้งาน แจ้งเตือนการการบำรุงรักษาได้

เรายังได้จัดตั้ง Kubota Farm ฟาร์มสร้างประสบการณ์ด้านการเกษตรบนพื้นที่กว่า 220 ไร่ หลาย ๆ ครั้งที่เราแนะนำเทคโนโลยีนวัตกรรมให้กับเกษตรกร ส่วนใหญ่เกษตรกรจะต้องการสัมผัสประสบการณ์จริง Kubota Farm จึงเป็นฟาร์มแห่งแรกที่จะทำให้เกษตรกรเห็นว่านวัตกรรมภาคการเกษตรนั้นไม่ยาก

นอกจากนี้เรายังร่วมกับเนคเทค สวทช. ในการทำปฏิทินการเพาะปลูก หรือ Crop Calendar เราพยายามจะใช้ข้อมูลดิจิทัลเข้าสนับสนุนการตัดสินใจของเกษตรกรจากที่เคยตัดสินใจตามความรู้สึก เราเชื่อว่าการทำเกษตรโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่าง ๆ จะสามารถจะเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมทำให้เกษตรกรเราเนี่ยสามารถมีรายได้และพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

AEC-Presscon-Q-5

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC-ACE ปีนี้ เนคเทค สวทช. ได้จับมือร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมพัฒนาที่ดิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช. เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน พร้อมด้วยพันธมิตรภาคเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และสมาคมไทยไอโอที เข้าร่วมให้การสนับสนุนการจัดงาน การประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทค มีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2565 จัดแบบคู่ขนาน ทั้งแบบ Onsite และ Online ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ปทุมธานี พบกับสัมมนาวิชาการจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ชมนิทรรศการผลงานวิจัย ทั้งจากเนคเทค สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรที่จะมานำเสนอทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อภาคการเกษตร  

ท่านสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้แล้วตั้งแต่วันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่ www.nectec.or.th/ace2022