8 ธ.ค.65 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งพัฒนาทักษะของบุคลากรภายในประเทศ บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้การขับเคลื่อนการพัฒนาบรรลุผลและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) โดยความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งประเทศไทยและทั่วโลกต่างให้ความสำคัญอย่างมากเนื่องจากขณะนี้โลกกำลังขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดังนั้นประเทศไทยและทุกคนจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ซึ่งเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเรื่องใหม่ที่ภาครัฐต้องเร่งศึกษาและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะการนำไปขับเคลื่อน Next Generation Growth ตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ ในดำดับแรกภาครัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญกับการสร้างบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ AI ในสาขาต่าง ๆ ที่ตรงตามความต้องการของภาคเอกชน ตลอดจนสร้างระบบการรับรองคุณวุฒิของบุคลากรที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและสากล นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเน้นการสร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างต่อเนื่องและไม่เกิดการปิดกั้นทางความคิด รวมไปถึงการออกกฎหมายหรือระเบียบเพื่อกำกับดูแล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาความต้องการ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ผลกระทบของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการอย่างรอบคอบ เพื่อให้กฎระเบียบเอื้อต่อการส่งเสริมสนับสนุนการสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ ในแต่ละช่วงเวลาด้วย
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ภาครัฐเตรียมการให้พร้อมทุกด้าน เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะการเร่งพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยให้เพียงพอสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ โดยให้ภาครัฐประสานความร่วมมือในการทำงานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันดำเนินงานขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ขณะเดียวกันการดำเนินการต่าง ๆ ก็ขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชนและคนรุ่นใหม่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์และผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายร่วมกัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) สู่การปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน เป็นรูปธรรม และยั่งยืน เน้นสร้างและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ในทุกระดับ ทั้งการผลิตและใช้งานเทคโนโลยี AI รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและบริการ AI เพื่อส่งเสริมการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มกลางบริการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถเข้าถึงและนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนการใช้งานเริ่มที่ 15 ล้านครั้งในปี 2566 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ จะกำกับดูแลบูรณาการการทำงานสู่การปฏิบัติ และย้ำให้ทุกหน่วยงานติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยปัญญาประดิษฐ์เชิงรุก เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565–2570) ให้สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ที่มุ่งขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วน และเชื่อมโยงแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570 โดยมีเป้าประสงค์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ สร้างคนและเทคโนโลยี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 13,500 คนต่อปี ผ่านหลักสูตรการอบรมพัฒนาทักษะความรู้ที่เหมาะสม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มบุคลากรปัญญาประดิษฐ์ระดับทักษะขั้นสูง คือ กลุ่มนักวิจัยและนักพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (2) กลุ่มบุคลากรปัญญาประดิษฐ์ระดับทักษะขั้นกลาง คือ กลุ่มนวัตกรและวิศวกร และ (3) กลุ่มบุคลากรปัญญาประดิษฐ์ระดับทักษะขั้นต้น คือ กลุ่มอาชีพการทำงานอื่น ๆ ที่สามารถใช้งานบริการปัญญาประดิษฐ์ขั้นต้นในกลุ่มอาชีพของตนเอง
2. จัดทำแพลตฟอร์มกลางบริการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) รองรับการให้บริการปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวในการสร้างนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ให้แก่ทุกภาคส่วนภายในประเทศ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการความร่วมมือเพื่อดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1: เตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ การพัฒนาข้อกำหนด กฎหมาย มาตรฐาน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ AI ของประเทศ การสื่อสาร และการสร้างการรับรู้ด้านจริยธรรม AI
ยุทธศาสตร์ที่ 2: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ การสร้างเครือข่ายเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พัฒนาศูนย์เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ พัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศเชิงบูรณาการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการประมวลผลและการคำนวณขั้นสูง
ยุทธศาสตร์ที่ 3: เพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ทุกระดับการเรียนรู้ สนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรสู่ภาคธุรกิจ พัฒนากลไกความร่วมมือกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 4: พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่กลุ่มสาขาเป้าหมาย พัฒนาเทคโนโลยีฐาน (Core Technology) และการวิจัยเพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์
ยุทธศาสตร์ที่ 5: ส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่ การใช้ AI ในภาครัฐ การใช้ AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเชื่อมโยง AI สู่การใช้งาน พัฒนากลไก และ Sand Box เพื่อนวัตกรรม ทางธุรกิจ และ AI Startup
สำหรับภาพรวมผลกระทบต่อประเทศ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2570 ได้แก่ (1) มีมูลค่าที่เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากบุคลากรที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล และ AI รองรับการทำงานในรูปแบบใหม่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น (2) GDP ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการจากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการมีจำนวนผู้ประกอบการใหม่ด้านเทคโนโลยีในประเทศมากขึ้น (3) ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม จากการที่หน่วยงานภาครัฐนำ AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานและการให้บริการ และ (4) ประชาชนมีความเข้าใจและสามารถใช้ศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ได้ในวงกว้าง สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่ได้เพื่อสร้างประโยชน์และอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมถึงช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ