7 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) จัดประกวดโครงการประยุกต์ใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense ใช้งานได้จริงในโรงเรียนรอบชิงชนะเลิศในรูปแบบออนไลน์ สำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ชิงรางวัลอุปกรณ์ HandySense พร้อมทุนพัฒนาโครงการฯ หวังเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีเกษตรที่ช่วยเติมเต็ม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโรงเรียน และชุมชนอย่างยั่งยืน
คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของสวทช.คือการนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ในการดำเนินงานให้เกิดผลตอบโจทย์ไปสู่การใช้งานจริง ในรูปแบบ BCG Economy Model ซึ่งเป็นโมเดลที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำทางเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้สังคมต้องปรับเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต การบริโภค รวมทั้งการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทั้งคนเมืองและต่างจังหวัด
การนำเอาแนวBCG Economy Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) คือการใช้ทรัพยากรชีวภาพที่มีมากมายและหลากหลายอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างที่สุดด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นำมาสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ การนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่หรือใช้ให้ยาวนานที่สุดอย่างคุ้มค่า และสุดท้ายก็คือเรื่องของ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกันนั้น สวทช.จึงได้นำผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการดำเนินงานให้เกิดผลบรรลุดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ การส่งเสริมเรื่องเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งผลงานวิจัยและพัฒนาที่ชื่อว่า HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ โดย เนคเทค สวทช.
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า “โครงการส่งเสริมสวนเกษตรอัจฉริยะในโรงเรียนยุคปกติใหม่ (New Normal) มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการปลูกฝังแนวความคิด สร้างแรงจูงใจของการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรไปประยุกต์ใช้ โดยเริ่มต้นตั้งแต่วัยเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รู้จัก เข้าใจ และทดลองปฏิบัติจริง โดยเริ่มต้นจาก HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. ได้ตั้งเป้าหมายให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจทั่วไปนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (License Fee) และค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี (Royalty Fee) ภายใต้แนวคิด Smart Farming Open Innovation มุ่งหวังให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัย ใช้งานในราคาที่จับต้องได้ ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางด้านสมาร์ตฟาร์มโดยผู้ประกอบการไทย เพื่อขับเคลื่อน Smart Farm สู่สังคมไทย สร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร สนับสนุนการเกษตรสมัยใหม่ ตอบโจทย์ BCG Model
HandySense เป็นชุดอุปกรณ์ที่ผนวกเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม จึงเป็นนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นของนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อนำไปสู่การสร้างทัศนคติ หรือ มุมมองใหม่ ที่ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ หรือบูรณาการเทคโนโลยีทางด้านเกษตรกับกิจกรรมในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
โครงการฯ นี้ได้รับความสนใจโรงเรียนทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าในระยะแรกจะกำหนดพื้นที่โครงการในภาคกลาง และ ภาคตะวันออกเท่านั้น โดยมีโรงเรียนส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 36 ทีม 24 โรงเรียน จาก 17 จังหวัด และคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในวันนี้ทั้งสิ้น 31 ทีม จาก 20 โรงเรียน จาก 14 จังหวัด โดยทุกข้อเสนอโครงการที่ส่งเข้ามาแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรที่โรงเรียนมีอยู่เดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
คุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมสนับสนุนในโครงการดีๆ เช่นนี้ ก่อนอื่นต้องขอเล่าถึงวัตถุประสงค์หลักทั้ง 4 ข้อของสมาคมไทยไอโอที คือ 1) สร้างการรับรู้ในด้านเทคโนโลยีไอโอทีให้สังคม ไม่ว่าท่านจะอยู่ในบทบาทไหน นิสิต นักศึกษานักพัฒนานักวิจัยคณาจารย์ ให้รับรู้ประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีไอโอที 2) สมาคมฯ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ เทคนิคทักษะต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยี เพื่อมุ่งมั่นที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญให้เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป 3) การสร้างเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหรือหน่วยงานทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ 4) มุ่งมั่นที่จะสร้าง Use case สร้างงานให้เกิดขึ้นได้จริงไม่ว่าจะเป็นโครงการจากภาครัฐและเอกชน
หลังจากการจัดตั้งสมาคมไทยไอโอที ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น และในครั้งนี้สมาคมฯ ได้พิจารณาและเห็นศักยภาพของนักวิจัยของเนคเทค สวทช. ที่ได้วิจัยออกแบบและพัฒนา HandySense ที่ปัจจุบันได้เปิดเป็น Open Hardware Open Platform ซึ่งมีคุณประโยชน์ในหลายๆ บริบท ไม่ว่าจะใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเกษตรให้เป็นการเกษตรอัจฉริยะ หรือนำมาใช้ในการศึกษาทดลองให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาซึ่งสามารถเป็นอุปกรณ์พื้นฐานเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในหมู่นักพัฒนาโดยมีการตั้งกลุ่มนักพัฒนาและผู้สนใจทาง Social Network ที่เรียกว่า HandySense Community ทางสมาคมฯ ตั้งใจสนับสนุนโครงการนี้ในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการร่วมพัฒนาและผลิตงานให้พร้อมสำหรับเชิงพาณิชย์ 2)การประชาสัมพันธ์ผลงานผ่านช่องทางสื่อต่างๆของสมาคมฯ
สำหรับกิจกรรมการประกวดโครงงานในครั้งนี้ทางสมาคมไทยไอโอที บริษัท ซีนเนอร์ยี่เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ซูปร้าเทคโนโลยี จำกัด ได้ร่วมสนับสนุนของรางวัลทั้งหมดเป็นมูลค่า 10,000 บาท
ผลการแข่งขัน
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันนี้ ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวรายงานและให้กำลังใจน้อง ๆ ผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายกับการนำเสนอผลงานแก่คณะกรรมการผ่านระบบออนไลน์ (Webex Event) โดยมี คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. คุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที และคุณนริชพันธ์ เป็นผลดี ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล เนคเทค สวทช. ได้ให้เกียรติเป็นคณะกรรมการตัดสินและประกาศผลรางวัล
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1
โครงการตู้เย็นมีชีวิต จากโรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี
ได้รับอุปกรณ์ HandySense ประกอบด้วย บอร์ด และ เซนเซอร์ความชื้น และทุนสนับสนุน จำนวน 2,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2
โครงการสวนเกษตรอัจฉริยะอนาคตใหม่ของโรงเรียนวัดห้วยจรเข้วิทยาคม
จากโรงเรียนวัดห้วยจรเข้วิทยาคม จังหวัดนครปฐม
ได้รับบอร์ด HandySense และทุนสนับสนุนจำนวน 1,000 บาท
รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่
โครงการระบบอัตโนมัติในการปลูกสะระแหน่จากน้ำทิ้งตู้เลี้ยงปลาควบคุมด้วย HandySense จากโรงเรียนศึกษานารี กรุงเทพมหานคร
โครงการพัฒนาระบบ Smart Farm บูรณาการร่วมกับโรงเรียนเศรฐกิจพอเพียงและโรงเรียนปลอดขยะ จากโรงเรียนวังโมกข์พิทยาคม จังหวัดพิจิตร
ได้รับทุนสนับสนุนรางวัลละ 1,000 บาท