กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม x SMC จัดอบรม “การบูรณาการระบบอุตสาหกรรมดิจิทัลให้ดีพร้อม” รุ่นที่ 1

Facebook
Twitter

กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) จัดอบรม “การบูรณาการระบบอุตสาหกรรมดิจิทัลให้ดีพร้อม” DIPROM Digital Industrial System Integrator รุ่นที่ 1 ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ สมาชิกกลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน หรือ ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้ความเข้าใจในงานบูรณการระบบอุตสาหกรรมดิจิทัล สามารถประเมินวัดความพร้อมขององค์กรและจัดทำการกรอบบูรณาการงานระบบอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industrial System Integrator Framework) โดยมีระยะเวลาการอบรมทั้งหมด 6 วัน (42 ชั่วโมง) สัปดาห์แรกระหว่างวันที่ 16 – 17 และ 19 กุมภาพันธ์ และ สัปดาห์ที่สองระหว่างวันที่ 24 – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้อง SD-601 อาคารสราญวิทย์ สวทช. จังหวัดปทุมธานี

คุณวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวต้อนรับและเปิดการอบรมโดยกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีบทบาทการดำเนินธุรกิจ อีก 3 ปีข้างหน้าที่ผู้ประกอบการควรพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างโอกาสเติบโตธุรกิจด้วย 3 แนวทางคือ 1. ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่เชื่อมโยงสรรพสิ่ง 2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการผสานความร่วมมือทางธุรกิจ 3. สังคมผู้สูงวัยและบีซีจี โมเดล ทั้งนี้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการทุกธุรกิจ ให้สามารถพัฒนาสร้งขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อไป โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้วางแนวทางการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปี 2566 ผู้เข้าร่วมอบรม System integrator จะได้เรียนรู้การใช้แบบประเมินความพร้อมอุตสาหกรรม (Thailand I4.0 Index) เบื้องต้นจะทำให้องค์กรสามารถประเมินสถานะความพร้อมด้านอุตสาหกรรมของตนเองหรือแนวทางการปรับปรุงและวางกลยุทธ์องค์กร เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ กรมฯ กำหนดแผนพัฒนาในปีต่อไปโดยจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาส่งเสริมนักบูรณาการระบบอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital System Integrator) ให้มีศักยภาพสูงขึ้นสามารถเป็นผู้ให้บริการ ปรึกษาแนะนำพัฒนาระบบเชื่อมต่อหรือติดตั้งระบบเทคโนโลยีใหม่ขององค์กรให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นและช่วยบรรลุเป้าหมายสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามที่องค์กรต้องการ

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ร่วมต้อนรับและเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความรู้ด้านอุตสาหกรรม 4.0 การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและจำเป็น ตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งต่างประเทศและในประเทศไทย รวมถึงแนวทาง นโยบาย ช่องทางการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อยกระดับการผลิตในประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในหัวข้อ อุตสาหกรรม 4.0 : สถานภาพ โอกาส ความท้าทาย และความพร้อมของประเทศไทย

ตลอดการอบรมทั้ง 6 วัน ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้เนื้อหาที่เข้มข้น ทั้งเชิงทฤษฎี พร้อมได้ลงมือปฏิบัติจริง จากทีมวิทยากรจาก เนคเทค สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร โดยมีหัวข้ออบรมดังนี้

  • ตัวอย่างองค์กรที่ได้รับการประเมินด้วย Thailand i4.0 Index เล่าถึงประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมอง โดย คุณประสงค์ เกรียงไกรกุล Section Manager บริษัท ไดซิน จำกัด
  • การประยุกต์ใช้งาน Industry 4.0 ในโรงงานอุตสาหกรรม และกรณีศึกษาต่าง ๆ โดย คุณศรัณย์ ศรีพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ไอโอที จำกัด
  • Thailand I4.0 Index เครื่องมือสำหรับการประเมินความพร้อมสู่ Industry 4.0 อย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ทราบสถานะขององค์กรจะต้องปรับปรุงในด้านใด สามารถจัดลำดับความสำคัญและเป็นแนวทางในการปรับปรุงองค์กรอย่างยั่งยืน โดยจัดลำดับจากคุณลักษณะของอุตสาหกรรม 1.0 ถึง อุตสาหกรรม 4.0 บรรยายโดย ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรมสมัยใหม่ สวทช.
  • Example of Industry 4.0 Technology Solutions โดย ดร.กมล เขมะรังสี ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย ดร.กุลชาติ มีทรัพย์หลาก หัวหน้าทีมวิจัยทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ และ ดร.ธีศิษฏ์ ลีลาสวัสดิ์สุข นักวิจัยทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน เนคเทค สวทช.
  • การประยุกต์ใช้ Thailand I4.0 Index และ ฝึกปฎิบัติ (Assessor) การประเมินเบื้องต้นด้วยตนเอง นำ Thailand I4.0 Index มาใช้ในการประเมินความพร้อมของบริษัท โดยผู้เข้าอบรมจะมีความเข้าใจในระบบการประเมิน สามารถทำการประเมินเบื้องต้นแก่โรงงานอุตสาหกรรม สามารถอธิบายสถานภาพความพร้อมในปัจจุบันของโรงงานอุตสาหกรรมได้ โดย ดร.วุฒิภัทร คอวนิช นักวิจัยทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน และ คุณอุ่นพงศ์ สุภัคชูกุล นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบวัดและควบคุมระยะไกล เนคเทค สวทช.
  • มิติสำคัญและกรอบการประเมินระบบอุตสาหกรรมดิจิทัล  (Key dimensions and Digital Industrail Integrator Assessment Framework) ปัจจัยสำคัญของต้นทุน (Cost Factors) ที่จะนำไปใช้ในการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงปัจจัยสำคัญของตัวชี้วัดสมรรถนะหลักที่จะนำไปใช้ในการจัดลำดับความสำคัญสามารถเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กรธุรกิจ ผู้เข้าอบรมได้ฝึกปฎิบัติการสร้างตารางความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านต้นทุน และ KPI กับ 17 มิติ โดย ดร.สุภวุฒิ ศรีพลอย นักวิจัยอิสระ
  • การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) องค์ประกอบหลักการทำงานของ IoT การเลือกใช้เทคโนโลยี และตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุนในการผลิต หรือต่อยอดในนวัตกรรมบริการ โดย ดร.กุลชาติ มีทรัพย์หลาก หัวหน้าทีมวิจัยระบบไซเบอร์-กายภาพ เนคเทค สวทช.
  • ระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม และดูงานชุดสาธิต Industrial Automation System ณ SMC Learning Center อาคาร Nectec Pilot Plant เสริมสร้างความรู้ทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งระบบการควบคุม ระบบอัตโนมัติ สามารถประยุกต์ใช้งานและออกแบบระบบควบคุมระบบอัตโนมัติ 4.0 โดยใช้กระบวนการผลิตของ Industrial Automation Training Systems โดย คุณชำนาญ ปัญญาใส และคุณรพีพงศ์ โชครุ่งอิสรานุกูล นักวิจัยทีมวิจัยระบบไซเบอร์-กายภาพ เนคเทค สวทช.
  • การออกแบบและพัฒนา Data Visualization โดยผ่านเครื่องมือที่เป็น Open Source อย่าง Grafana Dashboard เพื่อนำมาสร้าง Dashboard ด้วยตนเอง โดย คุณณฐพล ตันสังวรณ์ ผู้ช่วยวิจัยทีมวิจัยระบบไซเบอร์-กายภาพ เนคเทค สวทช.
  • การรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ นำวิธีการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลมาปรับใช้กับองค์กร โดยเริ่มจากการเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ โดย ดร.สุนทร ศิระไพศาล นักวิจัยทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ เนคเทค สวทช.

การอบรมในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน และ วิสาหกิจชุมชน จำนวน 40 คน ได้แก่ Digital Generation Industries Co.,Ltd., SMART Sense Industrial Design co., ltd., บริษัท สยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด, บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ เพ็ท จำกัด, บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ท ฟู้ด และ วิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยผู้เข้าอบรมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับความรู้เครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเชิงทฤษฎี และออกแบบระบบพร้อมทั้งได้ลงมือปฏิบัติจริงในการประยุกต์ใช้งาน

การบูรณาการระบบดิจิทัล Digital System Integrator (DSI) มีบทบาทและความสำคัญทั้งอุตสาหกรรมการผลิต ผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ต้องการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบงานดิจิทัล เพื่อยกระดับบุคลากรภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้มีความรู้ความเข้าใจในงาน DSI สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เตรียมความพร้อมการปรับรูปแบบธุรกิจดิจิทัลยุคใหม่ สร้างความเข็มแข็งให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

โครงการอบรม “การบูรณาการระบบอุตสาหกรรมดิจิทัลให้ดีพร้อม” Digital Industrial System Integrator รุ่นที่ 3 เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมฯ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ประกาศผลวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน เนคเทค สวทช.
Email: wichuda.aka@nectec.or.th
(คุณวิชชุดา)