เนคเทค สวทช. โชว์นวัตกรรม ร่วมผลักดันการศึกษาไทยสู่ยุคโค้ดดิ้ง ในงาน “CODING ERA” The Next Wave of Thailand’s Education

Facebook
Twitter
เนคเทค สวทช. ร่วมจัดแสดงผลงานและเสวนาพิเศษในงาน CODING ERA: NEXT WAVE OF THAILAND’S EDUCATION ยุคโค้ดดิ้ง: คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย มหกรรมการเรียนรู้ด้าน Coding และโซลูชั่นครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อการเรียนรู้แบบ Coding Edutainment จากแพลตฟอร์มเว็บเบสโค้ดดิ้งเกม “CodeComba” ส่งเสริมให้เด็กไทยเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ Coding พร้อมผลักดันให้เกิดการพัฒนาทักษะ Coding สร้างบุคลากรตรงตามความต้องการตลาดแรงงานแห่งอนาคต โดยได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ อว. เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การพัฒนากำลังคนด้านโค้ดดิ้งและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย” พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงาน
 
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. นำทีมคณะนักวิจัยจัดแสดงผลงานที่ช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ Coding ของเยาวชนไทย ได้แก่


KidBright บอร์ดสมองกลฝังตัวอัจฉริยะ ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่พัฒนาโดย เนคเทค สวทช. ซึ่งได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้น ด้วยความมุ่งหวังอยากให้เด็กไทยมีอุปกรณ์การเรียนโค้ดดิ้งอย่างง่าย โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือนำเข้าจากต่างประเทศ ล่าสุดได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม KidBright Series at Home ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้โรงเรียน คุณครู นักเรียน และผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ ก็สามารถเรียนรู้ได้

HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ นวัตกรรมที่ผนวกเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ในราคาที่จับต้องได้ โดยล่าสุด HandySense จัดโครงการ ปลูกฝัน ปั้นนวัตกรน้อย ด้านเกษตรอัจฉริยะ ! เปิดรับสมัครโครงการการประยุกต์ใช้ระบบ HandySense ในโรงเรียน เพื่อปลูกฝังแนวคิด ส่งเสริม ให้เกิดการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรไปประยุกต์ใช้ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนปลายอีกด้วย

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยเนคเทค สวทช. ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนานวัตกรรม ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากไทยและต่างประเทศด้านการโค้ดดิ้ง ได้แก่
 ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เนคเทค สวทช. นำเสนอผลงานที่ได้รับทุนจากโครงการพัฒนาเพิ่มผู้มีความสามารถพิเศษระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาและเครือข่ายด้าน Robotics, AI, Coding (RAC) โดยความร่วมมือกันของ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เนคเทค สวทช. และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาระบบและเนื้อหาด้าน Robotics, AI, Coding การพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา (Train the Trainer) โดยผลักดันการใช้โจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมมาให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะนำมาสู่มีโอกาสในการเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ ๆ ของผู้เรียน ได้แก่ การแข่งขันที่เกี่ยวข้องทั้งระบบชาติและนาชาติ การศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จากสถาบันชั้นนำ การปฏิบัติงานกับนักวิจัยและบริษัทชั้นนำทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเนคเทค สวทช. จะนำความเข้มแข็งของแต่ละหน่วยงานในโครงการมาร่วมกันพัฒนาด้าน AI and Data Science และโมเดลด้านปัญญาประดิษฐ์
คุณนริชพันธ์ เป็นผลดี ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT) เนคเทค สวทช. นำเสนอ เทคโนโลยีแบบเปิด นวัตกรรมระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense) เป็นอุปกรณ์ไอโอทีที่ช่วยในกระบวนการเพาะปลูกและการจัดการฟาร์ม ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรที่ผลิตสินค้ามูลค่าสูง กลุ่มเกษตรในสังกัดธุรกิจฟาร์ม และกลุ่มการเกษตรกรยุคใหม่ เป็นระบบที่ ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน โดย เนคเทค สวทช. ได้พัฒนา HandySense สร้างพิมพ์เขียวส่งต่อเทคโนโลยีให้กลุ่มผู้พัฒนาสามารถ นำไปขยายผลการใช้งาน เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และเรียนรู้การใช้งานร่วมกัน เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกในแต่ละแปลง
 

งาน CODING ERA: NEXT WAVE OF THAILAND’S EDUCATION ยุคโค้ดดิ้ง: คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับพันธมิตร บริษัท โค้ด คอมแบท (เอสอีเอ) จำกัด พร้อมผู้สนับสนุน และเครือข่ายนักวิจัยทั่วประเทศไทย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 17-18 มี.ค. 2566