4-5 เมษายน 2566 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : เนคเทค สวทช. โดยกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRG) และงานยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (LTSS) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ภายใต้การสนับสนุนโดย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดกิจกรรมอบรม “ทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์และประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม AI for Thai ประจำปี 2566” เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะการใช้งานด้านปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนส่งเสริมการประยุกต์ใช้งานแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย หรือ AI for Thai ที่ให้บริการ APIs ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (Vision) การสนทนา (Conversation) และข้อความ (Language) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้นักวิจัย นักพัฒนา ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ ได้นำไปต่อยอด สร้างสรรค์ พัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน หรือบริการต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ทั้งในทางธุรกิจ และสังคม เพื่อให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างมีคุณภาพที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ โดยกิจกรรมครั้งนี้ มีผู้ให้ความสนใจจากจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนกว่า 65 คน
เนคเทค สวทช. นำทีมโดย ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ นำเสนอภาพรวมความจำเป็นของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศ พร้อมด้วยทัพนักวิจัย จากเนคเทค และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานพันธมิตร มาร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยี AI รวมถึงจัดกิจกรรมภาคปฏิบัติ (Workshop) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมพัฒนาทักษะการใช้งาน AI for Thai และเครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา AI ในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่
– Introduction to AI computer vision and image processing
โดย ดร.ศรณ์ ศุขสาตร นักวิจัย ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ (IPU)
– NecML: AI Vision Model for Automated Image Classification
โดย ดร.ณิชา อภิชิตโสภา นักวิจัย และคุณศักย์ปณชัย เกศสิชาปกรณ์ ผู้ช่วยวิจัย ทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน (SMR)
– เทคโนโลยีเสียงพูด และการประยุกต์ใช้งาน AI for Thai Platform
โดย ดร.อัษฎางค์ แตงไทย นักวิจัย ทีมวิจัยการเข้าใจเสียงและข้อความ (STU)
– ABDUL : Thai Chatbot Platform
โดย คุณชัชวาล สังคีตตระการ นักวิจัย ทีมวิจัยการเข้าใจเสียงและข้อความ (STU)
– ChatGPT and Business Opportunities
โดย ดร.ปรัชญา บุญขวัญ นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย (LST)
– Work Shop CiRA-CORE Line bot (AI Deep Learning Platform)
แพลตฟอร์มสร้าง Application ด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ยุ่งยาก
โดย รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ผศ.ดร.วีรยุทธ กิตติชัย อาจารย์ ประจำคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
– ถ่ายทอดประสบการณ์พัฒนาเทคโนโลยี AI OCR ออกสู่ตลาด
โดย ดร.อิทธิพันธ์ เมธเศรษฐ ผู้บริหาร บริษัท ZTRUS ผู้พัฒนา AI Solution แปลงข้อมูลจากเอกสารที่เป็นกระดาษ เข้าไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล
สำหรับท่านที่สนใจ ต้องการ Upskill พัฒนาทักษะด้าน AI และการประยุกต์ใช้งานแพลตฟอร์ม AI for Thai สามารถติดตามรายละเอียด และสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ได้ที่ https://aiforthai.in.th/AIFT2023
หรือ Facebook Group AIforThai (https://www.facebook.com/groups/aiforthai)