เนคเทค สวทช. ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเทคโนโลยี AI กับความมั่นคงของไทย

Facebook
Twitter

เนคเทค สวทช. ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเทคโนโลยี AI กับความมั่นคง ในเสวนา “บทบาทของเทคโนโลยีใหม่กับการพัฒนาอาวุธตามแบบ: ความท้าทายต่อความมั่นคงของไทย”

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. และอุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงานเสวนาหัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยีใหม่กับการพัฒนาอาวุธตามแบบ: ความท้าทายต่อความมั่นคงของไทย” ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัญญวัชร์ วังยาว ประธานหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีบุคลากรภาคส่วนความมั่นคง ภาคธุรกิจ และการศึกษา เข้าร่วมรับฟัง โดยเนื้อหาครอบคลุมด้านอากาศยานไร้คนขับ ปัญญาประดิษฐ์ สงครามไซเบอร์ และแนวโน้มในอนาคต เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ จัดโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ

ดร.เทพชัย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์เทคโนโลยี AI กับความมั่นคง รวมถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนปฏิบัติการด้าน AI ประเทศไทย เนื้อหาการเสวนากล่าวถึงภาพรวมความจำเป็นของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย เนื่องจาก AI เป็นเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคของธุรกิจ อุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐ และความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะ AI ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความสามารถคล้ายกับสมองของมนุษย์ เลียนแบบความสามารถของมนุษย์ที่ซับซ้อนได้ เช่น จดจำ แยกแยะ ให้เหตุผล ตัดสินใจ คาดการณ์ สื่อสารกับมนุษย์ จึงทำหน้าที่แทนคนหรือทำงานร่วมกับคนได้ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในสาขาต่าง ๆ เช่น การแพทย์ การเงิน ความปลอดภัย วิทยาศาสตร์ เกษตรกรรม ศิลปะและดนตรี ฯลฯ

แผนปฏิบัติการด้าน AI ของไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน เพื่อสร้างระบบนิเวศในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่มีประสิทธิภาพ นําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่ผ่านมาขับเคลื่อนแผน AI เริ่มมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ เช่น AI for Thai : Thai AI Service Platform แพลตฟอร์มให้บริการ AI สัญชาติไทย มุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเน้นตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริการต่าง ๆ ในประเทศไทย NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ระดับชาติที่ให้บริการทรัพยากรด้านการคำนวณด้วยระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ให้บริการหน่วยวิจัย องค์กรภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วน รวมถึงโครงการสำคัญในระยะถัดไปและความท้าทายที่ยังขาดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยมีโจทย์สำคัญตามยุทธศาสตร์และอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว Tourist Map รวมข้อมูลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ขาดความร่วมมือของหน่วยงานเจ้าของข้อมูล 2) อุตสาหกรรมการค้าและการเงิน Fraud Detection AI สำหรับ Fraud Detection/ Fraud Behavior Modelling ในธุรกรรมการเงิน ขาดแนวทางการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลและธรรมาภิบาลข้อมูลสำหรับ AI 3) อุตสาหกรรมการผลิต AI Visual Inspection การวิเคราะห์ภาพสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรม ขาดกำลังคน SI, Talent, และStartup ที่ช่วยทำโจทย์และขยายงาน 4) อุตสาหกรรมความมั่นคง Biometric การตรวจสอบและประเมินอัตลักษณ์บุคคลจากข้อมูลชีวมิติ ขาดมาตรฐานข้อมูล 5) การวิจัยและพัฒนา LLM การสร้างแบบจำลอง AI สำหรับ Generative AI ที่รองรับภาษาไทย ขาดความร่วมมือและการส่งเสริมงานวิจัย+นวัตกรรม สำหรับโจทย์ภาษาไทย

ดร.เทพชัย กล่าวเสริมถึงโจทย์อื่น ๆ โครงการภายใต้แผนปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติฯ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น โครงการสร้างแนวปฎิบัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลข้อมูลและจริยธรรมเพื่อการประยุกต์ใช้ AI (AI ELSI) โดยมีเป้าหมาย การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ AI เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และมาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ส่งเสริมการใช้งานอย่างมีจริยธรรมและความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน และสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ด้านจริยธรรม กฎหมาย และผลกระทบต่อสังคม เพื่อให้ประชาชนทั่วไป และบุคลากรพัฒนาในด้าน AIมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีและพร้อมเข้าสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์

และกล่าวถึงด้านจริยธรรมหลักการที่เกี่ยวข้องในเรื่องความมั่นคงและปลอดภัย (Security and Safety) ว่า AI ควรถูกสร้างให้มีความมั่นคงและปลอดภัย รวมถึงป้องกันภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และประเทศ จากการใช้งานที่มากเกินไปและไม่เหมาะสม ฉะนั้นการใช้งานและการตัดสินใจของ AI ควรเกิดจากความตั้งใจของมนุษย์ หรือมีกลไกให้มนุษย์สามารถแทรกแซงการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด การคุกคามจากผู้ไม่ประสงค์ดี และการนำไปใช้ ในทางที่ผิด ซึ่งรวมถึงการใช้เสมือนเป็นอาวุธ การทำให้เข้าใจผิดหรือให้ข้อมูลที่นำไปสู่การเข้าใจผิด โดยยกตัวอย่างงานวิจัยเนคเทคร่วมกับกรมควบคุมโรค และสภากาชาดไทย พัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมชีวมิติ (Biometrics) และการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาโปรแกรมการระบุตัวตน ทั้งรูปแบบการจดจำลายม่านตา (Iris Recognition) และการจดจำใบหน้า (Face Recognition) ให้ระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำ ให้กับบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัว เช่น ต่างด้าว ชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย เพื่อการสาธารณสุขและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การวิจัย ออกแบบและพัฒนา AI อาจใช้ชุดข้อมูลที่อ่อนไหว ชุดข้อมูลที่เป็นความลับ หรือชุดข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหากถูกเข้าถึงโดยผู้ไม่ประสงค์ดีแล้วก็จะส่งผลถึงความเสียหายต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ จึงควรคำนึงถึงหลักการรักษาความมั่นคงปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน