เนคเทค สวทช. ร่วมแชร์ความเห็น “ร่างกฎหมายการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล”

Facebook
Twitter
ETDA เปิดเวที Public Hearing ต่อหลักการหรือประเด็นการศึกษาสำหรับการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล ที่ ETDA ร่วมกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษารวบรวม เปรียบเทียบ และวิเคราะห์ข้อมูลแนวทางการกำกับดูแลในมิติกฎหมายในต่างประเทศ ตลอดจนวิเคราะห์เพื่อออกแบบวิธีการบังคับใช้กฎหมาย และรูปแบบการกำกับดูแลที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมการดำเนินงานตามร่างแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติฯ
เครื่องมือสำคัญตามที่ปรากฏในยกร่างกฏหมายฯ นี้ ประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่
 
เครื่องมือสำคัญตามที่ปรากฏในยกร่างกฏหมายฯ นี้ ประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่
(1) ศูนย์ทดสอบนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์: กลไกสำคัญสำหรับการวิจัยและพัฒนา AI ที่จำเป็นจะต้องมีการทดสอบระบบอัลกอริทึม ระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมถึงกระบวนการประมวลผลว่ามีความโปร่งใส ปราศจากอคติ และปลอดภัย
 
(2) การแบ่งปันข้อมูล ข้อมูเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนา AI การสร้างระบบนิเวศข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ดังนั้น พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้สำนักงานต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือบุคคลทั่วไป ในพัฒนาการแบ่งปันข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรม AI แต่ต้องไม่ทำลายการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมของภาคเอกชน รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคุณสมบัติของตัวกลางที่เป็นผู้ให้บริการข้อมูลเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
 
(3) การสร้างมาตรฐาน AI: การกำหนดและการรับรองมาตรฐานโดยทำเป็นเครื่องหมายตราสัญลักษณ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้บริโภคเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกใช้สินค้า/บริการอย่างครบถ้วนรอบด้าน
 
(4) การประเมินความเสี่ยง: พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้สำนักงานจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินความเสี่ยงจากการใช้งานระบบ AI เพื่อเตรียมมาตรการหรือวิธีการต่างๆ สำหรับการรับมือกับการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต พร้อมทั้งศึกษา วิจัย และพัฒนา AI ที่มีความเสี่ยงเกิดกว่าปกติในบางประเภท
 
(5) การกำหนดมาตรฐานของสัญญาระหว่างผู้ให้บริการ กับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ AI หรือที่มีระบบ AI เป็นส่วนประกอบ โดยคาดหมายว่าข้อสัญญาดังกล่าวจะทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่รู้หรือไม่เข้าใจระบบที่ซับซ้อนของระบบ AI
 
ศึกษาเพิ่มเติม: ร่าง พรบ. ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศ
ในช่วงท้ายของการประชุม ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ นักวิจัย เนคเทค สวทช. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนควาามเห็นเกี่ยวกับร่างกฏหมายฯ ในการเสวนาหัวข้อ “5 เครื่องมือสำคัญในการสร้างพื้นฐานระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ของร่างกฎหมายเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์” ร่วมกับ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล สานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ คุณอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล Foundation for Internet and Civic Culture ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ คณะกรรมการจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ สวทช.
ดร.อภิวดี กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับ มาตรฐาน AI เป็นส่วนสำคัญที่สร้างความยอมรับ ความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการ AI มีคุณสมบัติ ความปลอดภัย คุณภาพ ตามที่มาตรฐานได้กำหนดไว้ ผู้บริโภคอาจไม่จำเป็นต้องรู้ลึกถึงเทคโนโลยี มีข้อมูลเรื่องมาตรฐานมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้ และส่งเสริม AI Literacy ให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยี AI มากขึ้น ยกตัวอย่าง การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แม้ในช่วงแรกผู้บริโภคจะยังไม่เข้าใจเทคโนโลยีของรถมากนัก แต่เมื่อเกิดมาตรฐานของรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายตัวมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบคุณสมบัติ และคุณภาพได้ อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงมาตรฐาน AI ในต่างประเทศทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนาอีกจำนวนมาก ซึ่งสาระสำคัญของมาตรฐานจะแตกต่างกันไปตามบริบท โครงสร้างพื้นฐาน หรือ ความต้องการของ Stakeholder ด้าน AI ของประเทศนั้น ๆ เช่นเดียวกันกับประเทศไทย หากจะนำมาตรฐาน AI จากต่างประเทศเข้ามาจำเป็นต้องมีการปรับใช้ หรือพัฒนาให้เข้ากับบริบทการใช้งานภายในประเทศ
ด้านแนวคิดของ ETDA ดร.ชัยชนะ อธิบายว่า ETDA พยายามส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการพัฒนา AI โดยคำนึงถึงเรื่องธรรมาภิบาล การพัฒนา AI อย่างยั่งยืนปัจจุบันโฟกัสที่ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้พัฒนา และ ผู้ใช้งาน ด้านผู้พัฒนายังมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น ข้อมูลที่นำมาใช้ในการเทรน AI หลายคนมองว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอาจเป็นข้อจำกัด ยังมีความไม่ชัดเจนว่าข้อมูลในการทำวิจัยจะจัดการอย่างไรกับในส่วนที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งหลายหน่วยงานที่เป็น Data Controller ก็ปฏิเสธที่จะแชร์ข้อมูลใด ๆ หากยังไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้ ดังนั้น มาตรฐานสัญญาการใช้ข้อมูลจะช่วยผ่อนคลายความกังวลของหน่วยงานที่ต้องมีการแชร์ข้อมูล ทำให้การพัฒนา AI ไปได้รวดเร็วขึ้น จากการมีข้อมูลมากขึ้น
สำหรับมาตรฐานการทำงานของ AI มีหลายหน่วยงานในต่างประเทศได้ออกแบบเครื่องมือในการทดสอบการทำงานทำให้สามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงาน ประโยชน์ หรือข้อบกพร่อง ของระบบหรือบริการ AI ได้ ซึ่งถ้าผู้พัฒนาของประเทศไทยเครื่องมือเหล่า จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถมีข้อมูลสำหรับตัดสินใจได้ รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจจะมีความโปร่งใส และเป็นธรรมมากขึ้น เพราะการตัดสินใจของผู้บริโภคอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มาจากมาตรฐานเดียวกัน
ปัจจุบันทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ควรจะเข้ามาร่วมกันในระบบนิเวศ AI อาจจะมีแผนการขับเคลื่อนเป็นของตัวเอง ซึ่งยังไม่เคยนำมาวางซ้อนกันในบริบทของ AI โดย ETDA มีความประสงค์จะทำให้ภาพนี้ชัดขึ้น และร่วมมือดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยใช้แผนปฏิบัติการด้าน AI ประเทศไทยฯ เป็นตัวตั้ง เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน ทำข้อตกลงร่วมกันในการรับผิดชอบดูแลด้านต่าง ๆ ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน พัฒนา AI ให้ตอบโจทย์และลดข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้าน AI ในทุก ๆ บริบท ไม่เป็นภาระกับผู้ประกอบการ ผู้พัฒนา และรักษาความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัยของ AI