เนคเทค สวทช. ร่วม สสวท. จุดประกายครูไทยก้าวสู่ยุค AI สร้างแชตบอตรายวิชา ด้วยแพลตฟอร์ม “ABDUL”

Share to...

Facebook
X

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในปัจจุบัน “ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI” ได้ก้าวเข้ามาเป็นอีกหนึ่งฟันเฟือเพื่อขับเคลื่อนยกระดับการพัฒนาในภาคการศึกษา ที่ AI กำลังจะกลายเป็นผู้ช่วยที่สำคัญทั้งในการพัฒนารูปแบบใหม่ สร้างเครื่องมือในการเรียนการสอน เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ครูสามารถเข้าใจ เข้าถึงผู้เรียนได้อย่างลึกซึ้ง รวมถึงยังใช้ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล และกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 เนคเทค สวทช. ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาแชตบอตเพื่อการศึกษา ด้วย ABDUL Chatbot Platform for Education” ให้แก่ครูอาจารย์ ในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จากทั่วประเทศ จำนวนกว่า 70 คน เพื่อได้เรียนรู้ ทั้งในส่วนของแนวคิด และประโยชน์ของการใช้ AI ในรูปแบบแชตบอตทางการศึกษา เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน รวมถึงได้ทดลองฝึกปฏิบัติจริงในการออกแบบและพัฒนาแชตบอตที่เหมาะสมกับรายวิชา ด้วย ABDUL Chatbot Platform for Education แพลตฟอร์มสร้างแชตบอตสำหรับงานด้านการศึกษา ผลงานจากทีมวิจัย เนคเทค สวทช. ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ครูสามารถสร้างแชตบอตได้ด้วยตนเอง เพื่อใช้เสริมการสอนในวิชาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ โดยมี ดร.ศวิต กาสุริยะ รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

ร่วมด้วยการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาแชตบอตทางการศึกษา นำโดย ดร.อลงกต  ใหม่ด้วง นักวิชาการอาวุโส และทีมวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ จาก สสวท. ที่ได้มาร่วมนำเสนอกระบวนการ/ ขั้นตอนการออกแบบพัฒนาแชตบอตทางการศึกษาด้วย ABDUL Chatbot Platform ตลอดจนแนวทาง พร้อมตัวอย่างการนำแชตบอตมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียน ได้แก่
  • MathMeow แชตบอตรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ม.ปลาย www.ipst.ac.th/chatbots/mathmeow
  •  MathMeow Junior แชตบอตรายวิชาคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น www.ipst.ac.th/chatbots/mathmeowjunior
  •  CellFieBoom แชตบอตรายวิชาชีววิทยา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย www.ipst.ac.th/chatbots/cellfieboom
  • KidsMath แชตบอตรายวิชาคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา (เร็วๆ นี้)

และกิจกรรม Workshop ฝึกปฏิบัติจริงในการพัฒนาแชตบอตทางการศึกษาด้วย ABDUL Chatbot Platform โดยทีมวิจัย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. นำโดย คุณชัชวาล สังคีตตระการ, คุณกนกอร ตระกูลทวีคูณ และคุณพาชิต สีเข้ม ที่ได้มาแนะนำหลักการออกแบบแชตบอตสำหรับการเรียนการสอน, การออกแบบโครงสร้างบทสนทนาให้เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา และให้ผู้ร่วมกิจรรมได้ทดลองสร้างแชตบอตในรายวิชาของตนเอง จุดเด่นของ ABDUL Chatbot Platform รองรับการสร้างบทสนทนา (conversation flow) และชุดคำถาม-คำตอบ (FAQ) ครูผู้สอนสามารถนำไปสร้างแชตบอตในห้องเรียนตามเนื้อหาที่ออกแบบได้ เช่น ตอบคำถามเนื้อหาวิชา, สร้างแบบทดสอบ, อธิบายเนื้อหาเสริม, มอบหมายการบ้าน ฯลฯ ซึ่งช่วยให้การเรียนการสอนมีรูปแบบที่หลากหลาย, สนุกสนาน, ตอบโจทย์ผู้เรียนรายบุคคล และยังช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน ผู้ปกครองได้อีกด้วย

นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดแสดงตัวอย่างการพัฒนาแชตบอต และแอปพลิเคชันทางการศึกษา ผลงานการพัฒนาของนักเรียน นักศึกษา ที่ร่วมฝึกปฏิบัติงานกับทีมวิจัย อาทิ AI Chatbot เพื่อให้คำปรึกษา, แอปพลิเคชันพัฒนาทักษะ และประเมินความสามารถทางคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย, DOO DURIAN แชตบอทวินิจฉัยโรคเชื้อราในทุเรียน, SketchUp Tutor Chatbot

ABDUL Chatbot Platform : เครื่องมือสร้างแชตบอตสำหรับสนทนาอัตโนมัติ หนึ่งในบริการที่สามารถเรียกใช้งานได้ฟรี ผ่านแพลตฟอร์มบริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย หรือ AI for Thai (https://aiforthai.in.th/) ของเนคเทค สวทช. ใช้งานได้ง่าย ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานสร้างแชตบอต (Chatbot) โดยไม่ต้องมีพื้นฐานการเขียนโปรแกรม และยังสามารถเชื่อมต่อกับ Line Bot ให้ใช้งานผ่าน Line บนโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ ด้วยคุณสมบัติที่ใช้งานง่าย รองรับภาษาไทย และสามารถตั้งค่าคำถาม-คำตอบได้อย่างยืดหยุ่น ทำให้ ABDUL Chatbot Platform มีศักยภาพในการต่อยอดไปสู่การสร้างแซตบอตสำหรับหน่วยงานต่างๆ เพื่อตอบคำถามให้บริการข้อมูลแก่ประชาชน, ขอเอกสารสำคัญ, จองคิวนัดหมาย, ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ รวมถึงการประยุกต์ใช้ภายในหน่วยงาน เป็นช่องทางสื่อสารภายในองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น สื่อสารขั้นตอนการทำงาน, ระเบียบข้อปฏิบัติ, การเบิกจ่ายสวัสดิการ, การขออนุมัติ หรือขอใช้บริการระบบต่างๆ ภายในหน่วยงาน เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ABDUL Chatbot Platform ได้ที่ info@nectec.or.th