เนคเทค สวทช. MOU คณะเศรษฐศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยสหวิทยาการ มธ.

Facebook
Twitter

เนคเทค สวทช. ลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ในฐานะปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการ สวทช. ลงนามในลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ทพญ. ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธาน ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ลงนามโดย เนคเทค สวทช. และมหาวิทยาธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ผศ.ดร.ภาสพงศ์ ศรีพิจารณ์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ และ รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566

บันทึกข้อตกลงดังกล่าวนับว่าเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานทางด้านการวิจัย การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการแก่สังคม รวมไปถึงการจัดโครงการศึกษา การฝึกอบรม และความร่วมมือด้านอื่น ๆ ร่วมกัน ซึ่งจะกลายเป็นขุมพลังสำคัญในการพัฒนานักวิจัย นักศึกษาและบุคลากรที่ยั่งยืนต่อไป

โดยที่ผ่านมา เนคเทค สวทช. ได้มีความร่วมมือกันในการดำเนินงานกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหลายๆ ด้านทั้งในด้านงานวิจัยและพัฒนา การให้บริการทางวิชาการ รวมถึงกิจกรรมการพัฒนานักศึกษา ได้แก่

1. งานด้านกำกับข้อมูลทางภาษาลงในคลังข้อมูลภาษาในโซเชียลมีเดีย (ทวิตเตอร์) กำกับอารมณ์ของผู้โพสต์และคำกระตุ้นอารมณ์ลงไปในแต่ละทวีต แล้วเทรนโมเดลเพื่อจับอารมณ์ในข้อความ โดยใช้แพลตฟอร์ม Corpus Editor กำกับข้อมูล ส่วนความร่วมมือในอนาคตจะเป็นการกำกับข้อมูลภาษาไทย ที่จำเป็นต้องใช้นักภาษาศาสตร์จากภาควิชาภาษาไทยและภาคภาษาศาสตร์มาช่วย

2. การสร้างคลังข้อมูลคู่คำแปล โดยใช้แพลตฟอร์ม Translation Memory (TM) ช่วยดึงคำแปลที่เคยมีมาก่อนมาเป็นตัวอย่างให้นักแปลได้เทียบเคียงคำแปล และระบบจะช่วยแปลบางส่วนให้ ในอนาคตภาคการแปลจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างคลังข้อมูลคำแปลเพื่อระบบ Machine Translation (MT) ของเนคเทค

3. ด้านการพัฒนานักศึกษาได้ร่วมมือกับวิทยาลัยสหวิทยาการ โดยได้นำ CKAN Open-D ไปสอนนักศึกษาและทำโครงงานในวิชา Data Governance รวมถึงการรับนักศึกษาฝึกงานระดับปริญญาตรีมาร่วมฝึกงานกับทีมวิจัย นอกจากนี้อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ยังได้ใช้ข้อมูลจาก TPMAP ในการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่องความยากจน และเขียนบทความตีพิมพ์