บทสรุปการสัมมนา NECTEC-ACE Online Series EP2: TPMAP | BIG DATA กับการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

Facebook
Twitter
nectecace-online-ep2

 

บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์

ท่ามกลางความท้าทายของการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ TPMAP หรือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้าได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการแก้ปัญหาความยากจนที่ประสบความสำเร็จของหลายจังหวัด

แน่นอนว่าปัจจัยของความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือเท่านั้น NECTEC ACE – Online Series ตอนที่ 2 นี้ เราเชิญผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ให้เกียรติร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองผ่านการเสวนาในในหัวข้อ

“TPMAP: BIG DATA กับการแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน”

นำโดย ดร.ชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม คุณมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานแผนและยุทธศาสตร์ สำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รักษาการในตำแหน่งรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค-สวทช.

ดำเนินรายการ โดย ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รักษาการรองผู้อำนวยการเนคเทค-สวทช. พร้อมด้วย SUTHICHAI AI ผู้ประกาศข่าวปัญญาประดิษฐ์

ก่อนการเดินทาง… สู่ TPMAP

การสัมมนาเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบ TPMAP เพื่อเข้าใจที่มาและความสำคัญของการพัฒนาระบบบิ๊กเดต้าเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน ในประเด็นการแก้ไขปัญหาความยากจน

ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รักษาการในตำแหน่งรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เล่าว่า ในอดีตเรามีเส้นยากจน เราวัดความยากจนจากการคำนวณตัวเลข ปัญหาใหญ่ที่สุดของทุกประเทศทั่วโลก คือ เราเห็นตัวเลข แต่เราไม่เห็นว่าใครคือคนจน นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับ TPMAP

ประกอบกับการประชุม ครั้งที่ 5/2560 ของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีมติเห็นชอบการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบ Big Data ของภาครัฐ ในประเด็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สภาพัฒน์ฯ และเนคเทค-สวทช. จึงได้ร่วมกันพัฒนาระบบ TPMAP ขึ้น

nectecace-online-ep2

 

“เราเชื่อว่าเทคโนโลยีสารสนเทศมาถึงจุดที่สามารถนำตัวเลขความยากจนเหล่านี้มาแปลงเป็นแนวทางการแก้ปัญหาได้ และโชคดีมากที่เรามาเจอกับเนคเทค เราจึงชวนเนคเทคมาทำ Pilot Project ตัวหนึ่งที่นำศาสตร์ ศิลป์ และวิชาการมามองว่า ‘ใครคือคนจน’ ”ดร.วันฉัตร อธิบาย

ฉะนั้น โจทย์ตั้งต้นของการพัฒนาระบบ TPMAP คือ การตอบคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ ใครคือคนจน คนจนอยู่ที่ไหน และคนเหล่านั้นมีปัญหาอะไร โดยเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาระบบ TPMAP คือ การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

nectecace-online-ep2

 

ดร.วันฉัตร เล่าว่า “ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เรายังไม่ได้มั่นใจว่าเราจะสามารถเดินไปเคาะประตูหน้าบ้านและสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุดได้ วันนี้มาถึงจุดที่เราสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้เป็นรายคน ฉะนั้นถ้าถามว่า TPMAP เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องตอบว่ามันเกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่เห็นผลจริงในวันนี้ และจะก้าวเดินไปอย่างมั่นคงต่อเนื่อง

ผมบอกได้เลยว่าการเดินทางของ TPMAP มาถึงจุดที่เราสามารถแก้ไขปัญหาความจนได้อย่างยั่งยืนแล้ว”
nectecace-online-ep2

 

 

ความท้าทาย ณ จุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบ TPMAP

ความท้าทายตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบ TPMAP นั้น ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค-สวทช. เล่าว่า TPMAP พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีบิ๊กเดต้า โดยมีวงจรชีวิต (Big data life cycle) ตั้งแต่การตั้งโจทย์เพื่อตอบคำถาม 3 ข้อ คือ คนจนอยู่ที่ไหน คนจนมีปัญหาอะไร จะแก้ปัญหาและพัฒนาคนอย่างยั่งยืนได้อย่างไร จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องใช้เพื่อบูรณาการข้อมูลและสร้างโมเดล โดยมีจังหวัดสมุทรสงครามนำข้อมูลไปใช้ นำไปสู่โจทย์การพัฒนาและปรับปรุงระบบต่อไป

nectecace-online-ep2

 

“เมื่อเริ่มตั้งโจทย์ ตั้งคำถาม ก็เริ่มมีความท้าทาย การพัฒนา TPMAP เราต้องใช้ข้อมูลรายคนที่ครอบคลุมมากที่สุด โดยต้องใช้ข้อมูลมากกว่า 1 ฐาน เพื่อตอบคำถามว่าใครคือคนจน เราต้องการข้อมูลในการระบุปัญหาของคนจนมากกว่า 1 มิติ รวมไปถึงการวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการเพื่อจัดทำระบบส่งต่อข้อมูลไปยังผู้ออกนโยบายและผู้ปฏิบัติการ” ดร.สุทธิพงศ์ อธิบาย

TPMAP ชี้เป้าคนจนเป้าหมายด้วยข้อมูลตั้งต้น คือ ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐมายืนยันซึ่งกันและกัน โดยกระบวนการนี้ใช้เวลามากกว่า 70% ของระยะเวลาในการพัฒนาระบบ TPMAP เลยทีเดียว

nectecace-online-ep2

 

“จุดเปลี่ยนสำคัญจากการที่จังหวัดสมุทรสงครามนำร่องใช้งานข้อมูล TPMAP ทำให้เราพัฒนาระบบ TPMAP Logbook ขึ้น เพราะปัญหาความยากจนนั้นมีรายละเอียดและต้องได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง” ดร.สุทธิพงศ์ กล่าว

nectecace-online-ep2

 

TPMAP Logbook หรือ แฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย ผนวกข้อมูลเพิ่มเติมจากสู่ระบบ TPMAP คือ ข้อมูลการได้รับสวัสดิการของบุคคลจากหน่วยงานต่าง ๆ สามารถชี้เป้าข้อมูลคนจนลงลึกถึงรายคนและครัวเรือน โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องใช้ Username และ Password ในการเข้าใช้งานและเข้าถึงข้อมูล

nectecace-online-ep2
nectecace-online-ep2

 

“TPMAP Logbook สามารถลงลึกถึงข้อมูลครัวเรือนได้ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง โดยเจ้าหน้าที่สามารถบันทึกพิกัดที่อยู่อาศัย บันทึกรูปภาพ และที่สำคัญ คือ สามารถระบุปัญหาเพิ่มเติม พร้อมทั้งระบุการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้ รวมทั้งทำให้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นจากท้องถิ่น” ดร.สุทธิพงษ์ อธิบาย

“แก้จน คนแม่กลอง” สำเร็จ | จ.สมุทรสงครามนำร่องใช้งาน TPMAP

จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดแรกที่นำร่องใช้งานระบบ TPMAP และประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน สามารถลดจำนวนครัวเรือนกลุ่มคนเปราะบางถึงร้อยละ 77 ภายในเวลา 1 ปี (ข้อมูลจาก TPMAP ปี 2562 สมุทรสงครามมีคนจน 601 ครัวเรือน และในปี 2563 ลดลงเหลือ 465 ครัวเรือน) โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี 2563 จากผลงาน ร่วมใจแก้จน (Antipoverty Empowered) ระดับดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

ดร.ชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เล่าว่า จังหวัดสมุทรสงครามเริ่มใช้งาน TPMAP มาตั้งแต่ปี 2562 จากการใช้งานในปีแรกพบว่า ระบบยังมีจุดอ่อน จึงได้เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะกับทางเนคเทค-สวทช. จึงนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาระบบ TPMAP Logbook ขึ้น

“TPMAP Logbook เป็นเครื่องมือที่ชี้เป้าว่า คนจนอยู่ที่ไหน คนจนเป็นอย่างไร คนจนต้องการอะไร นอกจากนั้น ยังเป็นเครื่องมือที่เกื้อกูลการทำงานสามารถนำเข้าข้อมูลครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ความต้องการ รวมถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้ลงไปช่วยเหลือ ทำให้หัวหน้างานและผู้บริหารสามารถติดตามได้จากระบบอย่างสะดวก เพราะสามารถทำงานบนสมาร์ตโฟนได้” ดร.ชรัส กล่าว

nectecace-online-ep2

 

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ สมุทรสงครามยังได้นำเสนอแนวทางการทำงานของโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ จ.สมุทรสงคราม ดังนี้

1. การยกระดับความสำคัญของปัญหา
จังหวัดสมุทรสงครามมองเห็นปัญหาความยากจนเป็นปัญหาสำคัญ โดยแนวคิดนโยบายของจังหวัดได้ประกาศไว้ว่า “ความทุกข์ของราษฎร์ คือ ความทุกข์ของเรา” จึงยกระดับความสำคัญของปัญหานี้ เป็นปัญหาสำคัญของจังหวัด
2. กลไกการทำงาน
จังหวัดสมุทรสงครามมีกลไกการกำกับดูแลโครงการฯ ในระดับพื้นที่ คือ นายอำเภอเป็นนายคณะในระดับอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะทำงาน นอกจากนี้ยังมีกลไกการดำเนินโครงการฯตามมิติความยากจนจากระบบ TPMAP ที่แบ่งปัญหาความยากจนออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ รายได้ การศึกษา ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงบริการรัฐ โดยจังหวัดสมุทรสงครามได้ออกแบบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมิตินั้น ๆ เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน
nectecace-online-ep2

 

“กลไกการดำเนินโครงการฯ นอกจากมีเครื่องมือสำคัญ คือ TPMAP Logbook แล้ว จังหวัดสมุทรสงครามยังอาศัยการทำงานรูปแบบบูรณาการ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวของกับการแก้ไขปัญหาความยากจนไม่ได้มีแค่ 5 หน่วยงานตามรายมิติ และความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความร่วมมือจากภาคีร่วมในการทำงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยจังหวัดฯมีคณะสงฆ์เป็นองค์กรสำคัญที่เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในโครงการฯ” ดร.ชรัส กล่าวเสริม
3. ขั้นตอนการดำเนินงาน
  • ประชุมชี้แจงนโยบาย: มอบแนวทางการปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการฯได้เห็นความสำคัญอย่างแท้จริง และเข้าใจตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นนโยบายสำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม
  • สร้างความรู้ความเข้าใจในระบบ TPMAP และ TPMAP Logbook
  • ลงพื้นที่ปักหมุดพิกัดครัวเรือน
  • ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประธานภาคีให้ความช่วยเหลือ
  • รายงานความก้าวหน้าผู้บริหารและที่ประชุม
  • ติดตามและประเมินผล

นอกจากนี้จังหวัดสมุทรสงครามยังมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาความจนแบบยั่งยืน โดยมีนโยบายชัดเจนว่า คนยากจนที่ TPMAP ชี้เป้าไว้ แม้จะได้รับการช่วยเหลือแล้ว จะมีการส่งต่อรายชื่อของบุคคลเหล่านี้ ให้เขตที่รับผิดชอบรับไปวางแผนเพื่อดูแล ติดตาม ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการส่งเสริมอาชีพและรายได้ และมุ่งแก้ปัญหาสุขภาพและอบายมุขอีกด้วย

“การแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นไม่หยุดยิ่ง เป็นพลวัต แม้เราจะให้ความช่วยเหลือในปีนี้ไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะจบ ปีหน้าอาจเจอปัจจัยอื่นที่ทำให้ประชาชนกลับมายากจนได้” ดร.ชรัส กล่าว

nectecace-online-ep2

 

แก้ไขความจน เริ่มต้นที่ “แก้ตามอาการ”

กรมการพัฒนาชุมชนได้มีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติในชุมชนและหมู่บ้าน โดยนำไปใช้ในการบริหารจัดการชุมชนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุข

คุณมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานแผนและยุทธศาสตร์ สำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน เล่าว่า “คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เปรียบเสมือนคนที่มีอาการปวดหัวตัวร้อน เราต้องแก้ตามอาการก่อน จึงนำมาสู่การวางยุทธศาสตร์แก้ไขความยากจนให้ชีวิตมั่นคง ครอบครัวมั่งคั่ง ชุมชนยั่งยืน เราได้มีการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล”

nectecace-online-ep2

 

กรมการพัฒนาชุมชนใช้กลไกในระดับการปฏิบัติผ่านภาคีเครือข่ายที่ช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจน เมื่อกรมการพัฒนาชุมชนได้ข้อมูลกลุ่มคนจนเป้าหมายจาก TPMAP จะแบ่งคนเหล่านั้นเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มคนที่ต้องช่วยเหลือ หรือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนเข้าสู่โครงการโคก หนอง นา โมเดล
2. กลุ่มคนที่พร้อมเข้าสู่โครงการโคก หนอง นา โมเดล

“การดำเนินการที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชนได้พิสูจน์แล้วว่าการแก้ไขความยากจนอย่างยั่งยืนต้องทำใน 2 ส่วน คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และ การส่งเสริมอาชีพและมีรายได้ให้บุคคลสามารถพึ่งตนเองได้” คุณมนทิรา กล่าว

nectecace-online-ep2

 

ก้าวต่อไปของ TPMAP

เมื่อมีข้อคำสั่งให้ทั่วประเทศใช้ระบบ TPMAP ในการแก้ปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ สภาพัฒนาฯ เนคเทค-สวทช. และภาคีการพัฒนาต่าง ๆ จึงร่วมมือกันเพื่อพัฒนาข้อมูลในระบบ TPMAP ให้ครอบคลุมมิติการพัฒนาทุกพื้นที่ในประเทศ ดังนั้น ระบบ TPMAP ยังคงต้องพัฒนาต่อไปเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน

● พลังของข้อมูล TPMAP สู่การนโยบายขับเคลื่อนประเทศ

ดร.วันฉัตร เล่าถึงมุมมองและความคาดหวัง ต่ออนาคตของระบบ TPMAP ใน 2 ประเด็น คือ (1) การใช้ข้อมูล TPMAP ในระดับพื้นที่ (Area Base Development) คือ ความต้องการให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ใช้ระบบ TPMAP ในการแก้ปัญหาความยากจน (2) การใช้ข้อมูลจาก TPMAP เพื่อจัดทำนโยบายและโครงการ (Evidence Base Policy) นำไปสู่การใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายและใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

“ความมุ่งหมายของเราในอนาคต คือ TPMAP จะเดินไปถึงจุดที่ทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลและใช้ข้อมูเหล่านั้นเพื่อพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง” ดร.วันฉัตร กล่าว

โดย ดร.วันฉัตรมีแนวคิดว่าการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ TPMAP ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สามารถเข้ามาสนับสนุนการนำข้อมูลจากระบบ TPMAP ไปวิเคราะห์ต่อถึงนโยบายที่เหมาะสม สำหรับภาคประชาสังคมสามารถใช้ข้อมูล TPMAP เป็นจุดเริ่มต้นในการดูว่ากลุ่มคนจนเป้าหมายของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร

“ในอนาคตหากเนคเทค-สวทช. สามารถผนวกข้อมูลอื่น ๆ เข้ามาเสริม เช่น ข้อมูลระดับพื้นที่ จะทำให้สามารถมองเห็นความยากจนระดับบุคคล ระดับพื้นที่ นำไปสู่การกำหนดนโยบายที่สูงขึ้นต่อไป” ดร.วันฉัตร กล่าวเสริม

nectecace-online-ep2

 

● TPMAP ต้องผนวกการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล

จังหวัดสมุทรสงครามในฐานะเป็นจังหวัดแรกที่นำร่องใช้งานระบบ TPMAP โดยได้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนามาโดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา จนนำมาสู่การพัฒนาระบบ TPMAP Logbook ขึ้น

สำหรับมุมมองของ TPMAP ในอนาคต ดร.ชรัส มีความเห็นว่า หากสามารถพัฒนาระบบ TPMAP ให้ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้ จะช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์ภาพรวมของมิติความยากจนรายครัวเรือนของแต่ละพื้นที่ในจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมาทางจังหวัดฯ ต้องใช้ระยะเวลามากในการแยกแยะข้อมูล

“ในระหว่างการทำงานในพื้นที่ เราพบคนจนรายใหม่ที่อยู่นอกเหนือกลุ่มเป้าหมายจาก TPMAP โดยเราทำคู่ขนานกันไปในระบบมือ ถ้าสามารถรวมกันไว้เป็นระบบเดียวกันจะทำให้เรามีข้อมูลเป็นชุด ๆ นอกจากนี้ ปัญหาความยากจนเป็นพลวัต คนที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วในปีนั้น ๆ อาจกลับมามีปัญหาอีกได้ในอนาคต หากมีระบบรองรับการติดตามปัญหาความยากจนแบบต่อเนื่องก็จะดี” ดร.ชรัส อธิบาย

nectecace-online-ep2

 

สอดคล้องกับ ดร.สุทธิพงศ์ ที่เล่าถึงแผนการพัฒนาระบบ TPMAP ว่า ปัจจุบันการพัฒนาระบบมุ่งไปที่การใช้งานในระดับพื้นที่ โดยฐานข้อมูลของ TPMAP คือ ข้อมูลระดับคนและครัวเรือน ถ้าสามารถไปเชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงพื้นที่ได้ จะเห็นภาพรวมในระดับพื้นที่ชัดเจนขึ้น

“การทำ Evidence Base Policy เกี่ยวกับการปรับระบบเบื้องหลังของ TPMAP ซึ่งเป็นระบบ Big Data เราต้องปรับเพื่อนำเข้าข้อมูลเพิ่ม พร้อมปรับโมเดลให้เอื้อกับการสร้างนโยบายมากขึ้น และพัฒนา Data Visualization ให้ใช้งานง่าย สามารถปรับตามขั้นตอนการทำงาน” ดร.สุทธิพงศ์ กล่าว

ดังนั้น ปัจจัยความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนอย่างยั่งยืนของไทย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของเทคโนโลยีเพียงเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในการสร้างนโยบายที่มีพื้นฐานจากข้อมูล พร้อมการดำเนินงานและติดตามอย่างต่อเนื่อง

ท้ายที่สุด . . . ข้อมูลที่มีคุณภาพและสม่ำเสมอจากทุก ๆ หน่วยงาน สู่การบูรณาการบน TPMAP จะก่อให้เกิดพลังของข้อมูลที่ไม่ได้จำกัดอยู่ ณ บริบทการแก้ไขปัญหาความยากจนเท่านั้น แต่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยในหลากหลายมิติ