บทความ : นัทธ์หทัย ทองนะ
ก้าวแรกสู่การยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร … มาร่วมเปิดประสบการณ์การประเมินระดับความพร้อมขององค์กรสู่การผลิตยุคดิจิทัลด้วยตัวเองด้วยระบบ Online & Interactive Self-Assessment ใช้เวลาน้อย ดำเนินการได้เองไม่ต้องอาศัยผู้ประเมินที่ผ่านการรับรอง ทำให้ทราบแนวทางเบื้องต้นในการปรับปรุงสายการผลิต สามารถเปรียบเทียบสายการผลิตของตนเองเองกับค่าเฉลี่ย และผู้นำอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกับของท่าน เพื่อเป็นแรงผลักดันในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งช่วยเตรียมความพร้อมขอรับสิทธิประโยชน์การส่งเสริมธุรกิจจาก BOI
สรุปสาระสำคัญจากเสวนาจากผู้พัฒนาระบบฯ กลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 (สวทช.) และองค์กรที่จะมาแชร์ประสบการณ์จริงจากการใช้ระบบ Online & Interactive Self-Assessment ดำเนินรายการโดย ดร.พรพรหม อธีตนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเชิงกลยุทธ์และประเมินผล (เนคเทค สวทช.) ในงาน INTERMACH 2024 (งานอินเตอร์แมค 2024) วันที่ 17 พฤษภาคม 2567
คุณเอกราช รัตนอุดมพิสุทธิ์ ผู้พัฒนาระบบฯ กลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 (สวทช.) เล่าถึงภารกิจหลักของกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 หลังจากที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมได้ทำการประเมินและทราบดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรม 4.0 แล้วว่าอยู่ในระดับไหน จากตรงนี้จะมีกระบวนการอ่านผล เช่น ต้องมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตในด้านไหน หรือการให้คำปรึกษากระบวนการต่างๆ ช่วยเหลืเติมเต็มส่วนที่ผู้ประกอบการยังขาดอยู่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้
ด้าน คุณนันทพัชร ณ สงขลา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและผู้ช่วยประธานบริหารกลุ่มบริษัท FDI เล่าว่า FDI เป็นบริษัทให้บริการให้คำปรึกษาตั้งแต่การจัดตั้งกิจการจนถึงปิดกิจการ ให้บริการวางระบบการบริหารงาน รวมไปถึงการบริการดูแลหลังเปิดกิจการในประเทศไทย โดยปัจจุบันได้ก้าวมาอีกขั้นหนึ่งด้วยเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมเดิมของไทยที่มีอยู่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้เช่นกัน แต่อาจต้องพัฒนาให้มากกว่านั้น สามารถก้าวสู่ตลาดใหม่ ช่วยธุรกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน FDI จึงก้าวเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำโรงงานในมิติของ Green business มากขึ้น คือตลาดใหม่นั่นเอง
ขั้นตอนการประเมิน Thailand i4.0 Index แบบ Online Self-assessment
สำหรับการใช้งานระบบการประเมิน Thailand i4.0 Index แบบ Online Self-assessment หลังจากที่ได้ลงทะเบียนมาเรียบร้อยแล้วทุกท่านจะมี Username และ Password จากนั้นหน้าแรกที่เปิดเข้ามาคือ เริ่มการประเมิน โดยระบบฯ จะให้สิทธิ์ผู้ใช้สามารถประเมินในอุตสาหกรรมผลิตได้หลายสายการผลิต ทั้งนี้เพื่อรองรับโรงงานที่มีการเพิ่มหรือปรับสายการผลิต ได้ตามต้องการ (1 User สามารถทำได้หลายสายการผลิต)
ในสายการผลิตหนึ่งสายงานจะประกอบด้วยการประเมินทั้งหมด 5 ส่วนหลัก หากผู้ประเมินไม่ทราบข้อมูลในส่วนนั้นสามารถข้ามไปทำส่วนอื่นก่อนได้ และเมื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมผู้ประเมินสามารถย้อนกลับมาทำขั้นตอนนั้นต่อได้ สำหรับการประเมินทั้ง 5 ส่วนหลัก มีดังนี้
Section 1. ระบบสายการผลิต (Production) เกี่ยวกับกระบวนการผลิต ประกอบไปด้วย 3 ส่วนย่อย คือ 1. Production Automation 2. Production Network และ 3. Smart Production ซึ่งผู้ที่สามารถตอบคำถามในส่วนนี้ควรเป็น ผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการฝ่ายผลิต หรือวิศวกรการผลิต เป็นต้น
Section 2. ระบบสาธารณูปโภค (Facility) ประกอบไปด้วย 3 ส่วนย่อย คือ 1. Facility Automation 2. Facility Network และ 3. Smart Facility ซึ่งผู้ที่สามารถตอบคำถามในส่วนนี้ควรเป็น ผู้จัดการฝ่ายโรงงาน ผู้จัดการฝ่ายอาคาร ผู้จัดการฝ่ายบำรุงรักษา หรือผู้จัดการฝ่ายดูแลระบบ เป็นต้น
Section 3. ระบบบริหารจัดการทรัพยากร (ERP) หรือระบบงานธุรการ ประกอบด้วย 5 ส่วนย่อย คือ 1. Enterprise Automation 2. Enterprise Network 3. Smart Enterprise 4. Internal Integration และ 5. External Integration ซึ่งผู้ที่สามารถตอบคำถามในส่วนนี้ควรเป็น ผู้จัดการฝ่ายสารสนเทศ หรือผู้จัดการผลิต เป็นต้น
Section 4. ระบบวิเคราะห์ตลาด Marketing และบริหารวงจรผลิตภัณฑ์ Product Life Cycle ซึ่งผู้ที่สามารถตอบคำถามในส่วนนี้ควรเป็น ผู้จัดการฝ่ายการตลาด นักการตลาด หรือผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
Section 5. การจัดการองค์กร แผนดำเนินการ กลยุทธ์องค์กร และการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งผู้ที่สามารถตอบคำถามในส่วนนี้ควรเป็น ผู้บริหารองค์กร ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์หรือฝ่ายบุคคล เป็นต้น
“จากประสบการการณ์ การให้ผู้ประเมินเข้าโรงงานเพื่อประเมินสายการผลิตนั้น หากทุกฝ่ายในโรงงานร่วมแรงร่วมใจกันในการให้ข้อมูล การประเมินสามารถทำได้เร็วสุดจะใช้เวลาเพียง 1 วัน โดยภาคเช้าจะเป็นการอธิบายทำความเข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร และภาคบ่ายเป็นขั้นลงมือทำ กรณีนี้ใช้กับโรงงานที่ซับซ้อนน้อย มีระบบที่ชัดเจน หากเป็นเป็นโรงงานที่มีความซับซ้อน และระบบไม่ค่อยชัดเจนอาจต้องมากกว่า 1 วัน” คุณนันทพัชร กล่าวเสริม
ทำไมต้องประเมิน Online & Interactive Self-Assessment ?
คุณนันทพัชร กล่าวว่าการประเมินเพื่อให้โรงงานรู้ตัวว่าควรปรับปรุงอะไร ค้นหาศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดได้มากขึ้น
- ต้องรู้ว่าเราอยู่ ณ จุดไหนของตลาด
- ต้องรู้ว่าอะไร ที่ลงทุนในตลาดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ เช่น บางระบบที่โรงงานมีแต่ไม่นำมาใช้งาน
ซึ่งเมื่อหาเจอจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายบางอย่างลงได้ หรือถ้าสิ่งนี้จะทำให้ภาพรวมของโรงงานดีขึ้นจริงๆ อาจต้องมาคิดต่อในขั้นต่อไปว่าจะมีวิธีปรับปรุงอย่างไรทั้งในแง่บุคคลากร และระบบอย่างไรให้เป็นมิตรกับผู้ใช้ เป็นแก่นสำคัญที่ i4.0 Index สามารถเข้ามาช่วยได้ สำหรับการประเมินระบบฯ ผู้ประเมินควรกรอกข้อมูลด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา อย่ากรอกข้อมูลเพื่อเอาใจผู้บริหารองค์กรแต่เท่านั้น
สิ่งที่ได้รับจากการประเมิน Online & Interactive Self-Assessment
คุณเอกราช กล่าว่าเมื่อประเมินครบทั้ง 5 ส่วนหลัก ในหน้าสุดท้ายผู้ประเมินจะได้เห็นระดับอุตสาหกรรมของตนเอง และผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกับเราอยู่ในระดับใด รวมทั้งทำให้ทราบว่าเราควรจะพัฒนาต่อในด้านใดเปรียบเสมือนเข็มทิศชี้นำทาง ผลจากข้อมูลในส่วนนี้จะเป็นการตรวจสอบเบื้องต้น เพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ต่อไป
ขณะที่คุณนันทพัชร กล่าวว่า โรงงานรู้จุดอ่อนของตนเองต้องพัฒนาและปรับปรุงอะไร สามารถประหยัดเงินได้จากส่วนไหนบ้าง เท่าที่ประเมินมาโรงงานส่วนใหญ่ส่วนแรกที่มักจะแก้ปัญหาคือ Sale & Marketing หากไม่มีการจัดการข้อมูลลูกค้าที่ดีแล้วการเติบโตของธุรกิจมักจะไม่ค่อยได้ผล นำไปสู่การหาแนวทางการจัดการที่ดีต่อไป…