เนคเทค สวทช. ยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยแพลตฟอร์มสารสนเทศขั้นสูง

Facebook
Twitter

เนคเทค สวทช. ยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยแพลตฟอร์มสารสนเทศขั้นสูง
ปาฐกถา โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช.
งานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2564

เรียบเรียงบทความ : ภาวิณี อุปถานา , วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ภาพประกอบ : ภาวิณี อุปถานา, ศศิวิภา หาสุข

เนคเทค สวทช. จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” เมื่อวันที่ 13-16 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ในวันที่ 13 ธันวาคม โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวถึงความสำคัญของการยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยแพลตฟอร์มสารสนเทศขั้นสูง พร้อมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) เป็นฐานในการทดสอบให้ SME มีโอกาสที่จะเข้าถึง หรือทดสอบเทคโนโลยีเหล่านี้ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0 ในราคาที่ย่อมเยา

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ทุกวงการต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพตอบโจทย์โลกดิจิทัลในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วงการอุตสาหกรรม” ที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทอย่างมากทั้งในแง่ของการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตในระยะเวลาที่สั้นลง การบริหารกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด 

ปัจจุบันประเทศไทยมีเป้าหมายในการก้าวสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” ซึ่งระดับอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยอยู่ที่ระดับ 2.5 – 3 เท่านั้น ในขณะที่การเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตเหล่านี้ยังจำกัดอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณสูง จึงเป็นความท้าทายสำคัญว่าจะทำอย่างไรให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ในวงกว้าง

ด้วยพันธกิจของ เนคเทค สวทช. ที่วางบทบาทขององค์กรเปรียบเสมือน “เครื่องจักรสำคัญในการสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีให้ประเทศ” ได้ส่งมอบแพลตฟอร์มสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และในวันที่ประเทศมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เนคเทค สวทช.จึงได้ก่อตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน” Sustainable Manufacturing Center (SMC) เพื่อตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ ผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทย สู่ Industry 4.0  

35 ปีที่ผ่านมา... กับการดำเนินงานเพื่อประเทศ

ตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา เนคเทค สวทช. มีโอกาสได้ส่งมอบผลงานที่เป็นประโยชน์ และสร้างสิ่งที่เป็นมูลค่าให้กับสังคมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ใน ปี 2542 การแข่งขัน National Software Contest เป็นเวทีการประกวดซอฟต์แวร์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ และปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่ เพื่อสร้าง บ่มเพาะและพัฒนานักเรียน นักศึกษามากกว่า 70,000 คน ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  หรือ Thai School Lunch ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการสำรับอาหารกลางวันของโรงเรียน 58,000 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งเนคเทค สวทช.ได้มีโอกาสส่งมอบให้กับสังคมและหน่วยงานต่างๆ ได้นำไปใช้

ในปี 2559 เขื่อนขนาดใหญ่ 14 เขื่อนของประเทศไทย ได้รับการตรวจสุขภาพดูแลด้วยระบบ Remote Monitoring ที่พัฒนาโดยเนคเทค สวทช.ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ซึ่งปัจจุบันยังคงรักษาความปลอดภัย หรือเทคโนโลยีเชื่อมต่อการสื่อสารอย่างระบบไอโอทีสัญชาติไทยที่ชื่อว่า NETPIE ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ 2558 และในปี 2561 นี้ก็ได้อัปเกรดเป็น Version 2020 ซึ่งเป็นการอัปเดตครั้งใหญ่ถือได้ว่าเป็น IoT Platform

นอกจากนี้ในปี 2539  เนคเทค สวทช. ได้ Spin-Off บริษัท Internet Thailand ซึ่งเป็น Internet Service Provider รายแรกของประเทศไทย และบริษัท T-Net ซึ่งเป็น Cyber Security ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสำคัญอยู่ในประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ที่มาร่วมขับเคลื่อนในแง่มุมต่างๆ เช่น DGA  ETDA และ DEPA

เนคเทค สวทช. กับการร่วมยกระดับอุตสาหกรรม 4.0

ปัญหาสำคัญที่กำลังบ่งชี้ในวันนี้คือเรื่องของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ประสบความสำเร็จมาเป็นระยะเวลานานหลายสิบปีได้สร้างมูลค่าการส่งออก การบริโภค การสร้างแรงงาน การจ้างแรงงานในประเทศล้วนเป็นสิ่งที่สภาอุตสาหกรรม และภาคอุตสาหกรรมดำเนินการเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และในปัจจุบัน มีการเคลื่อนย้ายการผลิตจากประเทศไทยไปอีกหลาย ๆ ประเทศที่เริ่มขึ้นมาแข่งขันในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้รูปแบบการทำอุตสาหกรรมในแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็น Mass Production การรับ OEM กลายเป็นสิ่งที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว คือสาเหตุสำคัญที่ทางเนคเทคเริ่มนึกถึงการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงมาร่วมพัฒนาการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย กล่าวว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่องปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 4-5 ปีข้างหน้าในภาคอุตสาหกรรม ทำให้เห็นสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ Industry 4.0 ในประเทศไทยทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ จึงเริ่มต้นด้วยการทำ Industrial IoT ก่อน และคุณจำรัสก็ได้กรุณาตั้งชื่อผลงานให้ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มผลิต ชื่อว่า Industrial IoT and Data Analytics (IDA)

“การทำ Industrial IoT ซึ่งมีหลาย Solution ในประเทศไทย ที่นำเข้าจากต่างประเทศและพันธมิตรหลายๆ ประเทศ บางทีก็คิดว่าเราน่าจะมีโอกาสที่จะพัฒนาบาง Solution ขึ้นมา ตอบโจทย์ให้กับภาค SME ของเรา”

IDA เป็นตัวจุดประกายว่าสามารถใช้เทคโนโลยีบางส่วนของเนคเทค อย่าง IoT Platform และก็ Universal Remote Terminal Unit (URconnect) ที่นำมาเชื่อมกันแล้วใช้งานอยู่ใน Smart Factory ซึ่งแนวคิดนี้ได้นำเสนอต่อหน้าท่านนายกรัฐมนตรีในวันที่ท่านได้มาเปิดสภาอุตสาหกรรม เมื่อปี 2563 หลังจากนั้นเพียง 6 เดือน ได้เซ็น MOU ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และก็เกิด Partner จำนวนมาก จากภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ

เนคเทค สวทช.มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการนำเสนอ Thailand Industry 4.0 Index เป็นระบบประเมินความก้าวหน้าของโรงงาน ว่ามีความพร้อมที่จะพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วย Industrial IoT and Data Analytics ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อพื้นฐานของ Industry 4.0 สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ทุกอย่างรวมทั้ง ERP และ Back-End เข้ามาสู่อินเทอร์เน็ตได้ ทำให้สามารถเฝ้าสังเกตการจัดการพลังงานอย่างมี ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของอุปกรณ์โดยรวม รวมถึงการวางแผนบำรุงรักษาเชิงป้องกัน

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน Sustainable Manufacturing Center (SMC)

เนคเทคจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center : SMC) ใน 2 พื้นที่คือ ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี และในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นฐานในการทดสอบให้ SME มีโอกาสที่จะเข้าถึง Industry 4.0 หรือได้ทดสอบเทคโนโลยีในราคาที่ย่อมเยา

ปัจจุบันมีการให้บริการเบื้องต้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยทีมงานที่ SMC ให้คำปรึกษาและเชื่อมต่อภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงบริษัทรายใหญ่ที่มาช่วยให้คำปรึกษาในการที่จะเป็น Industry 4.0 มาร่วมกันตรวจประเมินความพร้อมของโรงงาน และให้บริการฝึกอบรมบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เนคเทค” ได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีบางส่วนเข้าไปเติมเต็มเพื่อทำให้เกิด Low Cost Solutions หรือ Efficient Solution สำหรับทุก ๆ ระดับของภาคอุตสาหกรรม โดยบุคลากรประมาณเกือบ 100 ท่าน ทั้งส่วนที่เป็นกลุ่มวิจัยทางด้านไอโอที  Automation และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และความเชี่ยวชาญของทีมงานที่เตรียมให้บริการที่ SMC โดยมี ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC)

การให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการทุกราย รวมทั้ง System Integrator ต้องร่วมกันพัฒนา ทั้งการสร้างความเข้าใจใน Industry 4.0 และความเชี่ยวชาญของคนที่อยู่ในทีม ตอนนี้มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี หลายส่วนสามารถเข้าไปตอบโจทย์ให้กับหลาย ๆ ภาคส่วนของประเทศแล้ว และเชื่อว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถที่จะปรับเปลี่ยนและช่วยในการพัฒนา Industry 4.0 ได้ไม่ยาก

“หวังอย่างยิ่งว่าเนคเทคได้ส่งมอบผลงานที่สามารถใช้งานได้จริงและยั่งยืนสมชื่อของ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน Sustainable Manufacturing Center (SMC) เป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยาวไปกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ Industry 4.0 และจะขยับไปถึง Industry 5.0 ที่จะต้องมีการทำงานร่วมกับคนอย่างเป็นระบบ ไม่ทำให้แรงงานถูกทิ้งขว้างจากการที่พัฒนา AI หรือ Industrial IoT”

สอบถามเพิ่มเติม