น.ส.ศุภมาส อิสรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI) จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวง อว.ตามนโยบาย “อว. For AI” โดย น.ส.ศุภมาส ได้ประกาศยุทธศาสตร์พัฒนาทักษะ AI เดินหน้าใช้จัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ผ่านโครงการ “AI University” สู่ “Education 6.0” มีเป้าหมายให้บัณฑิต ร้อยละ 90 มีความรู้พื้นฐานด้าน AI หลังจบการศึกษา พร้อมนำร่องความร่วมมือมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน เปิดคอร์สสอนออนไลน์ AI ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้าน AI ให้ได้ 3 หมื่นคนภายใน 3 ปี ผลักดันไทยผู้นำ AI อาเซียน
ในช่วงท้ายของการประชุมยังมี เสวนาพิเศษ หัวข้อ แนวทางการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI) โดย ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงาน มี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะทำงานปฏิรูประบบอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) และ รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้รักษาการรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสยาม ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท วันที่ 30 กันยายน 2567
AI กับการพัฒนาการศึกษาไทย
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะทำงานปฏิรูประบบอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI ที่สามารถสร้างเนื้อหาหรือ “Generative AI” ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว Generative AI สามารถสร้างเนื้อหาได้ทั้งในรูปแบบข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ ซึ่งได้เปิดโอกาสใหม่ๆ ในการยกระดับระบบการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา หลายคนอาจรู้สึกกังวลใจ คล้ายกับการเข้ามาของโทรศัพท์มือถือเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ผู้ปกครองบางคนยังลังเลว่าจะให้ลูกใช้ดีหรือไม่ แต่วันนี้ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ด้าน AI ก็เช่นกัน และในอนาคตจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม
สำหรับ AI กับการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษานั้น ศ.ดร.บัณฑิต อธิบายว่า AI สามารถช่วยให้การศึกษาแบบ “Personalized Learning” เป็นจริงได้ ทุกคนสามารถเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้ตามความต้องการส่วนตัว เช่น การเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีโอบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำให้การเรียนการสอนไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกันสำหรับทุกคน แต่สามารถปรับให้เข้ากับความเร็วและสไตล์ของแต่ละบุคคลได้ ในที่สุด AI จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษาได้ เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเรียนรู้จากอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญได้เช่นเดียวกับนักเรียนในเมืองใหญ่ แต่การที่จะนำ AI มาใช้ในระบบการศึกษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
แนวทางการขับเคลื่อนแผน AI แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรของประเทศ
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค สวทช. กล่าวถึง แนวทางการขับเคลื่อนแผน AI แห่งชาติเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรของประเทศ ก่อนหน้าการดำเนินงานแผน AI แห่งชาติ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 60 ของโลกด้านเทคโนโลยี AI แต่เมื่อเริ่มดำเนินแผนฯ ประเทศไทยสามารถขยับขึ้นมาเป็นลำดับที่ 30 แม้ว่าจะมีการแข่งขันในระดับโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนากลยุทธ์และปรับปรุงใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากร (Human Capital) การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ (In-house Technology Development) การเข้าถึงข้อมูล (Data Access) แม้ว่า AI จะมีการใช้งานในหลายภาคส่วน แต่การใช้งานในหน่วยงานอย่างเป็นระบบยังคงอยู่ที่ประมาณ 15% ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสในการพัฒนาอีกมาก
ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาบุคลากรด้าน AI แผน AI แห่งชาติมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาบุคลากรด้าน AI อย่างชัดเจน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนจำนวน 30,000 คนในระยะเวลา 3 ปี โดยเน้นการสร้างบุคลากรใน 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน (Beginner) ระดับวิศวกร (Engineer) ระดับผู้เชี่ยวชาญ (Professional) มหาวิทยาลัยท้องถิ่นหลายแห่งจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ โดยเน้นการพัฒนาหลักสูตรและโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ให้พร้อมต่อการใช้งานเทคโนโลยี AI ความร่วมมือและการพัฒนา AI ในภาคการศึกษา กระทรวง อว. ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการบรรจุหลักสูตร AI ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการก้าวสำคัญในการพัฒนาทักษะของเยาวชนไทยให้ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เช่น สพฐ. และสำนักงานการอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา AI ในประเทศไทย เพราะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ขาดข้อมูลก็ไม่สามารถพัฒนา AI ที่มีประสิทธิภาพได้ ดังนั้น เนคเทค สวทช. จึงพยายามผลักดันให้เกิด “AI Data” และตลาดขึ้น ยกตัวอย่าง แอปพลิเคชัน “ไทยสุข” ที่ใช้ข้อมูลจาก Smart Watch ในการพัฒนา Health Data , “ทราฟฟี่ฟองดู” เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนา Smart City รวมถึงการพัฒนา Medical Data ที่มุ่งเน้นไปที่การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภาพทางการแพทย์ (Medical Image) เพื่อนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา AI ทางการแพทย์
นอกจากนี้ ดร.ชัย ยังกล่าวถึงบทบาทของเครื่องมือและแพลตฟอร์มในการพัฒนา AI โดยมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนา AI ด้วยการใช้ข้อมูลและเครื่องมือที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบาย AI ของประเทศ เช่น แพลตฟอร์ม AI for Thai ให้บริการ AI APIs สัญชาติไทยที่มี 65 บริการครอบคลุมทั้งด้านเสียง ข้อความ ภาพ ในปัจจุบัน หรือ โครงการ “AI Teacher” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษา AI ในระดับมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีแผนการจัดตั้ง AI Center เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการคำปรึกษาและการวิจัยด้าน AI อีกด้วย
จุฬาฯ มุ่งเน้นการพัฒนา "AI Ready Human Capital”
ด้าน รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้รักษาการรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนา “AI Ready Human Capital” หรือบุคลากรที่มีความพร้อมในการใช้ AI และการพัฒนา AI ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีจริยธรรม ทั้งนี้ การพัฒนาทั้งสองด้านต้องไปควบคู่กัน เพื่อเตรียมคนและเทคโนโลยีให้พร้อมสำหรับอนาคตที่ AI จะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่สำคัญ
ในส่วนของการพัฒนาคนนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ริเริ่มการเรียนการสอนผ่านระบบ Chula MOOC Flexi และได้จัดหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็น ในขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับการสอนให้ใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรม ป้องกันการใช้ AI ในทางที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ การพัฒนา AI ของจุฬาฯ ยังมุ่งเน้นไปที่การสร้าง AI ที่มีความเป็นอิสระและไม่อิงกับเทคโนโลยีต่างประเทศ โดยทีมวิจัยจากหลากหลายสาขาวิชาทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี AI ที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองในด้านนี้ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงเปิดกว้างในการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างระบบนิเวศของการพัฒนา AI ที่ยั่งยืน และเสริมสร้างศักยภาพให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยี AI เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน
กระทรวงอว. กับบทบาทการพัฒนากำลังคนด้าน AI
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงอว. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้าน AI ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 3 ของแผน AI แห่งชาติที่เน้นการผลิตและพัฒนากำลังคน โดย อว. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านนี้ ผ่านการสร้างคณะทำงานปฏิรูปการศึกษา โดยมีการใช้กลไกต่างๆ เช่น National Credit Bank เพื่อเชื่อมโยงหลักสูตรและโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI
National Credit Bank ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากการเรียนผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในห้องเรียนและออนไลน์ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ด้าน AI ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ThaiMOOC หรือ ระบบของมหาวิทยาลัยต่างๆ
หลักสูตรที่ทันสมัยและยืดหยุ่นจะถูกพัฒนาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Huawei, Google, Facebook หรือ Microsoft โดยจะเน้นการบูรณาการองค์ความรู้จากภาคอุตสาหกรรมเข้ากับการเรียนการสอน รวมถึงการพัฒนาผู้สอน AI ให้สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โรงเรียน และเครือข่ายการศึกษาต่างๆ
กิจกรรมหลักที่ดำเนินการจะประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร AI แบบออนไลน์ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อสะสมหน่วยกิตในระบบเครดิตแบงค์ การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาหลักสูตร และการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ