ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิเดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรางวัลเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (แทนพระองค์) เมื่อวันอังคารที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา จากการดำเนินงาน “โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” ซึ่งเป็นโครงการของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับพระราชทานรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ประจำปี ๒๕๕๘ โดยมี ดร.กว้าน สีตะธนี ที่ปรึกษาเนคเทค ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีไร้สายข้อมูลความมั่นคงและนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม นายบัณฑิต นิลอุดมศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ ประจำ จ. แม่ฮ่องสอน ดร.ศุภกร สิทธิไชย คุณธัญศญา เครือวงษา ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้ดำเนินโครงการคัดเลือกบุคคล หน่วยงาน และโครงการดีเด่นของชาติเพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจแก่บุคคล หน่วยงาน และโครงการที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งมีแนวทางการพิจารณาและหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ จะต้องเป็นผลงานดีเด่นของหน่วยงาน ภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน หรือบุคคลต่างๆ และเป็นผลงานที่ได้ดำเนินการมาในระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี พร้อมดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในอนาคตและเห็นผลแน่นอน โดยเป็นผลงานของคนไทยที่สมควรภาคภูมิใจในระดับชาติ เป็นที่ยอมรับในส่วนรวม และผลงานนั้นเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง รวมทั้งบุคคลเจ้าของผลงานที่ส่งเข้ารับการคัดเลือกต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี มีคุณธรรม และจริยธรรมในการครองตน มีแนวทางและอุดมการณ์ในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม ที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จเป็นปูชนียบุคคลที่สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่บุคคลทั่วไป โดยจะพิจารณาตามประเภท หรือสาขาของผลงาน หรือวิชาชีพในด้านใดด้านหนึ่งตามที่กำหนดไว้ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ มีบุคคลและหน่วยงานได้รับการคัดเลือก จำนวน ๑๐ ราย จาก ๕ สาขา ได้แก่
สาขาพัฒนาสังคม ประเภทบุคคล ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ ศูนย์วิชาการติดตามผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนสร้างความร่วมมือด้านวิชาการและการพัฒนากับเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย อันเป็นการสร้างมิตรภาพที่ทำให้เข้าใจประเทศไทยได้ดีขึ้น ประเภทหน่วยงาน ได้แก่ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เป็นโรงพยาบาลสัตว์ที่มีจำนวนสัตว์ป่วยประเภทสัตว์เลี้ยงมากที่สุดในโลก มีทีมสัตวแพทย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญพิเศษสาขาต่างๆ พร้อมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย ตลอดจนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเป็นแบบอย่างขององค์กรเพื่อสังคมเป็นสุข
สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ประเภทโครงการ ได้แก่ โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เพื่อส่งเสริมพัฒนาทักษะ ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของนักเรียนและครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมสร้างเครือข่ายและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
สาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเภทโครงการ ได้แก่ โครงการเอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคตของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โดยการสร้างฝายชะลอน้ำไปแล้ว ๖๕ม๔๔๐ ฝาย เพื่อสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ บรรเทาภาวะโลกร้อน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและคืนความสุขสู่สังคมอย่างยั่งยืน และสร้างความหลากหลายของสายพันธุ์พืชและสัตว์ป่า
สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคล ได้แก่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรม สาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิธีรักษาผู้ป่วย และเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทศศาสตร์ หาญรุ่งโรจน์ ได้นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย ในฐานะผู้ประดิษฐ์คิดค้นกระดูกข้อเท้าเทียมเป็นคนแรกของโลก สามารถนำไปใช้ได้จริงในการรักษาผู้ป่วย ที่ต้องการเท้าและข้อเท้าอันเนื่องมาจากโรคกระดูกข้อเท้าตายจากการขาดเลือดมาเลี้ยง การแตกหักอย่างรุนแรงของกระดูกข้อเท้า และยังสามารถรักษาทดแทนกระดูกข้อเท้าที่เป็นมะเร็งกระดูกอย่างได้ผลดี
ศาสตราจารย์เสาวภา อังสุภานิช นักวิจัยคนแรกที่ริเริ่มศึกษาสัตว์พื้นใต้น้ำในกลุ่มทาไนดาเซีย ทั้งด้านนิเวศวิทยาและอนุกรมวิธาน ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศชายฝั่งทะเลสาบสงขลา เป็นระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปี ได้ค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ระดับโลกในสัตว์กลุ่มนี้ ทั้งระดับสกุลและชนิด รวม ๑๑ ชนิด สัตว์กลุ่มอื่น ๆ อีก ๕ ชนิด นับเป็นการเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รู้จักประเทศไทย และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย มีความก้าวหน้าทางวิชาการเชิงลึก และมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ประเภทหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ และสถานีวิจัยพืชไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าวโพด ข้าวฟ่าง และพืชไร่แบบครบวงจร บริการทางวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชไร่และสาขาที่เกี่ยวข้อง ผลิตเมล็ดพันธุ์ ท่อน พันธุ์มันสำปะหลัง และส่วนขยายพันธุ์พืชที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพดี เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและข้าวฟ่างจำหน่ายแก่เกษตรกร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย
ประเภทบุคคล ได้แก่ นายเผ่าทอง ทองเจือ ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทย นักประวัติศาสตร์ไทย นักโบราณคดี วิทยากรผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้เผยแพร่และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ผ้าไทยโบราณ และพัฒนาต่อยอดผ้าทอไทยสู่ระดับสากล จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ประเภทหน่วยงาน ได้แก่ สวนนงนุชพัทยา สถานที่ท่องเที่ยวระดับแนวหน้าที่มีชื่อเสียงมากของประเทศแห่งหนึ่ง มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ โดยการเข้าร่วมประกวดจัดสวนในงานเชลซีฟลาวเวอร์โชว์เป็นงานแสดงดอกไม้ของ สหราชอาณาจักร ที่มีชื่อเสียงที่สุดและมีผู้เข้าชมจากทั่วโลก และได้รางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง ๖ ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๘ เป็นระยะเวลา ๕ ปี
ในโอกาสนี้ รัฐบาล โดย สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดงานประกาศเกียรติคุณแสดงความยินดีแก่บุคคล หน่วยงาน และโครงการดีเด่นของชาติ ครั้งที่ ๒๕ ประจำปี ๒๕๕๗ ในวันดังกล่าว เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานในพิธีฯ มอบโล่เกียรติคุณนายกรัฐมนตรี ในงานประกาศเกียรติคุณบุคคล หน่วยงาน และโครงการดีเด่นของชาติ ประจำพุทธศักราช ๒๕๕๗ แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค จากผลงาน “โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” ได้รับพระราชทานรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ประจำปี ๒๕๕๗ โดยมี ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิเดชขจร ผู้อำนวยการเนคเทค เป็นผู้รับมอบ โดยมี นางนันทวรรณ ชื่นศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.กว้าน สีตะธนี ที่ปรึกษาเนคเทค ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค คุณเจษฎา จงสุขวรากุล รก. ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและสนับสนุนงานวิจัย ดร.กมล จิราพงษ์ คณบดี คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม คณาจารย์และนักศึกษา ดร.สุรพนธ์ ตุ้มนาค และผู้บริหารจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมเป็นเกียรติในพิธี
โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ เริ่มดำเนินโครงการเมื่อปี ๒๕๔๙ โดยเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างเนคเทค/สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตำรวจภูธรจังหวัดแม่ฮ่องสอน วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ๓ ด้าน คือ
- ด้านที่ ๑ สร้างคนเพื่อสนับสนุนและพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์และไอทีของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและครูผู้สอนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ด้านที่ ๒ สร้างงานเพื่อให้เกิดการจ้างงานด้านการพัฒนาไอที และเกิดรายได้ในท้องถิ่น
- ด้านที่ ๓ สร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความตระหนักด้านคอมพิวเตอร์และไอทีให้แก่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป และเพื่อให้เกิดการนำระบบไอทีไปใช้ดำเนินงานภายในหน่วยงานต่างๆ
ดังนั้นจึงนับได้ว่าโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์เป็นโครงการที่นำประโยชน์สู่ผู้คนทุกหมู่เหล่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการไอทีเพื่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นมูลค่าหลายสิบล้านบาท