โอกาสนี้ คุณสนัด วงศ์ทวีทอง รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นำเสนอภาพรวมกลไกการทำงานภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา การตลาด การสร้างเครือข่าย เป็นต้น ที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
ด้านเนคเทค สวทช. ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT) นำเสนอผลงาน Aqua IoT นวัตกรรมเพื่อฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เหมาะในการใช้เป็นระบบเฝ้าระวัง ตรวจติดตาม แจ้งเตือน สภาวะในบ่อเลี้ยง โดยเก็บข้อมูลผลการตรวจผ่านระบบ IoT มีการวิเคราะห์สภาพบ่อเลี้ยงแบบเรียลไทม์ ผ่านระบบคลาวด์ นอกจากนั้นเกษตรกรยังสามารถนำข้อมูลที่บันทึกมาใช้ในการวางแผน และปรับวิธีการเพาะเลี้ยงตามความเหมาะสม ประกอบไปด้วย 5 เทคโนโลยี ได้แก่
1) ระบบตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือน ค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) แบบเรียลไทม์ พร้อมสถานีตรวจวัดอากาศ
2) ระบบกล้องตรวจจุลชีวขนาดเล็ก
3) ระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตาสำหรับตรวจคุณภาพน้ำบ่อเลี้ยง
4) ระบบตรวจรูปแบบของจุลินทร์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ร่วมกับไบโอเทค)
5) ชุดตรวจโรคกุ้ง ปลา รวมถึงอุปกรณ์และวิธีการสกัด DNA จากตัวอย่างสัตว์น้ำ (ไบโอเทค)
ด้านนาโนเทค สวทช. โดย ดร.ณัฏฐพร พิมพะ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยี นำเสนอผลงานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ (Water-augmentation technology) ได้แก่ การพัฒนาวัสดุที่มีโครงสร้างในระดับนาโนเมตรเพื่อเพิ่มโอกาสการเกิดฝน และ การกักเก็บไอน้ำจากอากาศ รวมถึง เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water treatment technology) ได้แก่ การจัดการคุณภาพน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคสำหรับชุมชนชายขอบอย่างยั่งยืน และ การสร้างความมั่นคงด้านน้ำด้วยการใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้ง
ในช่วงท้าย นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. (BIC) และ คุณปฤษฎา หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาอาวุโส คุณชัยนันท์ แสงสุระธรรม ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริการนวัตกรรมและคีย์แอคเคานต์ (IKD) และคณะนักวิจัย สวทช. ร่วมให้คำแนะนำหารือในรายละเอียดกับคณะนักวิจัยเพื่อหาแนวทางในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริษัทอีกด้วย
โครงการ “แปลงร่างธุรกิจสู่การเติบโตสูงด้วยนวัตกรรม”ภายใต้แผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ขนาดใหญ่เป็นการพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้เติบโตผ่านกลไกการสนับสนุนและเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับผู้ให้บริการนวัตกรรมที่เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยมุ่งเน้นกิจกรรมตั้งแต่การประเมินศักยภาพด้านนวัตกรรมและโอกาสในการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และ ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)