เนคเทค สวทช. ร่วมงาน “ผนึกกำลังขับเคลื่อนไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” จัดโดย สภาพัฒน์ และ สกสว.

Facebook
Twitter

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดงาน “ผนึกกำลัง ขับเคลื่อนไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ

ภายในงานได้จัดเสวนา เรื่อง “From Research to Practice: การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อขับเคลื่อนแผนฯ 13” นำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการนำผลงาน ววน. ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สศช. เป็นผู้ดำเนินรายการ

การเสวนาเริ่มด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึง แนวทางการขับเคลื่อน ววน. เพื่อตอบโจทย์ 13 หมุดหมาย ผ่านกระบวนการ 1) จัดลำดับสำคัญมุ่งเป้า(Priority Setting) 2) ออกแบบงานวิจัยบน Impact Pathway 3) การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในการทำวิจัยต้องมองเห็น “ผู้ใช้ผลงานวิจัย” และ “ผู้รับประโยชน์” ชัดเจน และ 4) การนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงพื้นที่

ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. กล่าวถึง การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตอย่างก้าวกระโดด องค์ความรู้ในประเทศก้าวหน้า โดยการพัฒนาระบบ ววน. มุ่งหวังให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เกิดการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทุนและทรัพยากรเพื่อการพัฒนา เกิดการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมทั้งได้นำเสนอหลากหลายตัวอย่างการนำงานด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้ในระดับพื้นที่

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้แบ่งปันประสบการณ์และผลการศึกษา วิจัยเชิงระบบเพื่อการออกแบบนโยบาย “จากบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษา สู่ระบบงบประมาณด้านการศึกษาที่เสมอภาคและเป็นธรรม”

ทางด้าน ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI) เนคเทค สวทช. เล่าถึง ระบบ TPMAP หรือ Thai People Map Analytics Platform ที่ถูกพัฒนาขึ้นตามการออกแบบร่วมกับสภาพัฒน์ หน่วยงานรัฐในพื้นที่สามารถแบ่งปันข้อมูลปัญหาและการช่วยเหลือเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน การสื่อสารกับทุกภาคส่วนและทำความเข้าใจร่วมกันในการพัฒนาระบบและใช้ประโยชน์จากข้อมูล TPMAP ส่งผลให้ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของ TPMAP ครบองค์ประกอบ มี “ผู้ใช้งาน” และ “ผู้รับประโยชน์” ที่แท้จริง ทำให้ข้อมูลมีการอัปเดตและถูกนำไปใช้ประโยชน์ตลอดเวลาและต่อเนื่อง ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราสามารถใช้นวัตกรรมทางด้านข้อมูลในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าได้

ปัจจุบัน TPMAP ถือเป็นเครื่องมือหลักของ ศจพ. ในบูรณาการข้อมูลและทำงานร่วมกันทั้งประเทศ

ข่าวเพิ่มเติม : https://www.nesdc.go.th

ชมเสวนาย้อนหลัง