7 กรกฎาคม 2566 เนคเทค สวทช. และ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ‘ค่าของแผ่นดิน’ ประจำปี 2565 โดยเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ บุคคล หน่วยงาน และโครงการ ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ มีคุณค่าแก่การยกย่อง และมีคุณค่าแก่การชื่นชม เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งเป็นต้นแบบแห่งการสร้างสรรค์ความดี อันพึงเป็นคุณลักษณะที่ดีแก่สังคมไทย จัดโดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยมีผู้บริหารและคณะนักวิจัยเนคเทค สวทช. และ A-MED เข้าร่วม นำโดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ และ ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการ ร่วมแสดงความยินดี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
รางวัลประกาศเกียรติคุณ ‘ค่าของแผ่นดิน’ ประจำปี 2565
โล่ประกาศเกียรติคุณ ด้านการส่งเสริมและพัฒนาสาธารณสุข (ประเภทโครงการ) ผลงาน ‘โครงการระบบบริการทางการแพทย์ทางไกล (A-MED Telehealth) สำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19’ โดย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED)
ใบประกาศเกียรติคุณ ด้านการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา (ประเภทโครงการ) ผลงาน ‘โครงการสอนโค้ดดิ้ง วิทยาการข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน’
โดย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EDT) ร่วมกับ งานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS) ทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (DSS) และ ทีมวิจัยการประมวลสัญญาณประสาท (NSP)
สำหรับการการสรรหาบุคคล หน่วยงาน และโครงการ “ค่าของแผ่นดิน” ประจำปี 2565 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกจำนวน 847 ราย แบ่งเป็นประเภทบุคคล จำนวน 588 ราย ประเภทหน่วยงาน จำนวน 179 และประเภทโครงการ จำนวน 80 ราย
โดยคณะอนุกรรมการดำเนินโครงการ “ค่าของแผ่นดิน” และคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และกลั่นกรองบุคคล หน่วยงาน โครงการ เพื่อคัดเลือกประกาศเกียรติคุณเป็น “ค่าของแผ่นดิน” ได้ประชุมร่วมกันและเห็นชอบผลงานที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกได้รับประกาศเกียรติคุณเป็น “ค่าของแผ่นดิน” จำนวน 54 ราย แบ่งเป็นผลงานที่มีความโดดเด่น และมีคุณค่าแก่การยกย่องได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวน 46 ราย และเป็นผลงานที่มีคุณค่าแก่การชื่นชมได้รับใบประกาศเกียรติคุณ จำนวน 8 ราย ประกอบด้วยด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. ด้านการพัฒนาสังคมและส่งเสริมคุณภาพชีวิต 2. ด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. ด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาสาธารณสุข 5. ด้านการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม 6. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร 7. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา และ 8. ด้านอื่น ๆ