เนคเทค สวทช. ต้อนรับอาจารย์และนักเรียน MWIT เข้าศึกษาดูงาน ThaiSC

Facebook
Twitter

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) โดย ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC) โดยมี ดร.ปัตย์ ศักดิ์ธนากูล หัวหน้าทีมวิจัย ThaiSC พร้อมด้วยทีมวิจัย ให้การต้อนรับอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน 39 คน ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงาน ระบบ LANTA วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2565  ณ อาคาร INC2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

การศึกษาดูงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนอกห้องเรียน ซึ่ง ThaiSC  เป็นหนึ่งในหน่วยงานด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ขั้นสูงของประเทศไทย ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในส่วนโครงสร้างองค์กรเพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานทาง วทน. ที่สำคัญของประเทศ (National S&T Infrastructure : NSTI)

ThaiSC มุ่งเน้นการให้บริการระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing: HPC) เพื่อการพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาการคำนวณ (Computational Science) เช่น การทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ งานวิจัยด้าน Computational chemistry, Bioinfomatics, Climate change, Artificial Intelligence (AI), Big data เป็นต้น และมีศักยภาพสามารถรองรับโจทย์ปัญหาขนาดใหญ่ของประเทศได้

ระบบ LANTA ประกอบด้วย
•    31,744 compute cores และ 704 NVIDIA A100 GPU
•    NVIDIA Tesla A100 GPU
•    ระบบเครือข่ายความเร็วสูง HPE Slingshot Interconnect 200 Gbps
•    พื้นที่เก็บข้อมูลประสิทธิภาพสูง Cray ClusterStor E1000 12 PB

จากพันธกิจของ ThaiSC ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้านการคำนวณขั้นสูง และการสร้างระบบนิเวศให้พร้อมต่อการพัฒนาด้าน วทน. ของประเทศไทยนั้นทาง ThaiSC ยังคำนึงถึงเบื้องหลังในการสร้างระบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน เพื่อความคุ้มค่าต่อการเตรียมดำเนินงานให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด ในทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดย ThaiSC ใช้ระบบสาธารณูปโภครูปแบบใหม่ในการระบายความร้อนด้วยน้ำเข้ามาติดตั้ง ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะมีสาธารณูปโภคของระบบ Supercomputer ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประเมินผลด้านการประหยัดและลดใช้พลังงานลงได้ราว 30-50% เมื่อเทียบกับการระบายความร้อนด้วยระบบปรับอากาศ