พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มศักยภาพงานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเพื่อร่วมกันดำเนินงานวิชาการที่มีความก้าวหน้าและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้โดยสะดวก
ในโอกาสนี้ นายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการ รักษาราชการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา และดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ลงนาม พร้อมด้วย นางนฤมล กรีพร ผู้อำนวยการกองศิลปกรรม และดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ณ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
นายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการ รักษาราชการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า นับแต่ปีพุทธศักราช 2559 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้รับความร่วมมือจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ด้วยดีมาโดยตลอดจนทำให้สามารถผลิตงานวิชาการในรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เป็นอย่างดี งานวิชาการดังกล่าว ได้แก่
1) แอปพลิเคชันพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554
2) แอปพลิเคชันอ่านอย่างไรเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
3) แอปพลิเคชันชื่อบ้านนามเมือง
4) ระบบพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช 2554 ออนไลน์
5) ระบบศัพท์บัญญัติออนไลน์
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลงานวิชาการอื่น ๆ ตามภารกิจของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เช่น งานอักขรานุกรม อนุกรมวิธาน สารานุกรมเพื่อรองรับและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบสำหรับเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการในอนาคต รวมทั้งได้มีการจัดทำระบบสืบค้นเอกสารในหน่วยเก็บถาวรดิจิทัลและระบบบูรณาการเพื่อสร้างงานวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาอีกด้วยในโอกาสที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาครบรอบการสถาปนา 100 ปีในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2569 สำนักงานราชบัณฑิตยสภาหวังว่าจะสามารถพัฒนางานวิชาการที่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลองค์ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาไปใช้ประโยชน์ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า เนคเทค สวทช. และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีความร่วมมือทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่องหลายปี และเป็นที่ทราบกันดีว่าตลอดระยะเวลามากกว่า 90 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการกำหนดมาตรฐานการใช้ภาษาไทย การสร้างองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ อีกทั้งยังได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนางานวิชาการและงานบริการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นมาเป็นลำดับ
สำหรับเนคเทค สวทช. เรามีนักวิจัยทางด้านการประมวลผลภาษาไม่ต่ำกว่า 40 คน ผลิตผลงานตั้งแต่พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์รุ่นแรก ๆ หรือ LEXiTRON เมื่อ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จนถึงเครื่องมือประมวลผลภาษาไทยอัตโนมัติด้วยปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่พื้นฐาน เช่น เครื่องมือแบบคำ เครื่องมือวิเคราะห์ไวยากรณ์ เครื่องมือวิเคราะห์คำอ่าน ไปจนถึงเครื่องมือการประมวลผลที่ซับซ้อน และยังคงพัฒนาต่อเนื่องในปัจจุบัน เช่น เครื่องมือแปลภาษา เครื่องมือสังเคราะห์เสียงพูดเป็นข้อความ เครื่องมือถอดความเสียงพูดภาษาไทย เป็นต้น และเนคเทค สวทช. ได้เปิดเผยเครื่องมือเหล่านี้เพื่อให้สังคมได้มีโอกาสทดลองใช้งานอยู่บนเว็บไซต์ AI for Thai
สิ่งที่เนคเทค สวทช. กำลังทำมาคงไม่สำคัญเท่ากับที่เราได้รับความเชื่อมั่นจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภาที่ให้โอกาสเนคเทค สวทช.ได้พัฒนาผลงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้การพัฒนาระบบฐานข้อมูลศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาออนไลน์ ระยะที่ 2 คงไม่จำกัดแค่เรื่องข้อมูลศัพท์บัญญัติเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายมุมมองที่สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปประยุกต์ใช้ เช่น การสืบค้นข้อมูลมหาศาลในพจนานุกรม หรือ การทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงคลังข้อมูลของราชบัณฑิตยสภาได้โดยง่าย รวมถึงการบริหารจัดการภายในสำนักงานให้มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ
เนคเทค สวทช. หวังอย่างยิ่งว่าจะได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญผลงานวิจัยจากทีมวิจัยด้านภาษาธรรมชาติและความหมายมาช่วยต่อยอดงานของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้เกิดเป็นรูปธรรมและสอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของเนคเทค สวทช. ในการเป็นรากฐานสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงให้กับประเทศ ดร.ชัย กล่าวทิ้งท้าย