‘เทคโนโลยี’ ช่วยปิดช่องว่างเกษตรกรรมไทย
ประชาชนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนในภาคเกษตรกรรมล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายผลผลิตที่ยากลำบากขึ้นทั้งภายในประเทศและการส่งออก ทำให้ข้อจำกัดทางการเงินที่มีอยู่เดิมของเกษตรกรยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม ถึงแม้ว่าในปี 2564 จำนวนแรงงานภาคการเกษตรจะเพิ่มสูงขึ้นจากการที่สภาวะเศรษฐกิจบีบให้คนเมืองต้องกลับถิ่นฐานและประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตด้านเกษตรได้ เกษตรกรต้องลงทุนเยอะขึ้น แต่ได้ผลผลิตต่อไร่ไม่คุ้มทุน
เนคเทค สวทช. เชื่อว่า เทคโนโลยีจะสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาและลดช่องว่างภาคเกษตรกรรมได้ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณสูงขึ้นโดยใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างคุ้มค่าเพื่อควบคุมต้นทุน จากความเชื่อนี้ทำให้ “เกษตรแม่นยำ” กลายมาเป็นหนึ่งในกรอบการทำงานเป้าหมาย (Target Output Profiles (TOPs) ที่เนคเทคมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัลมากว่า 20 ปี ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานด้านการเกษตร โดยเน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่ เกษตรแม่นยำ(Precision Farming Demand-Supply) การตรวจสอบคุณภาพผลผลิตและการตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตด้านการเกษตร (Quality Inspection / Traceability) และ การเชื่อมโยงความต้องการผลผลิตกับเกษตรกร (Demand-Supply Matching)
เกษตรแม่นยำ เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วย IoT
- HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ที่ผนวกเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้
- WiMarC ระบบตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายเพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ มาพร้อมกับแพลตฟอร์มบูรณาการข้อมูลเพื่อสร้างแนวทางการจัดการแปลงเพาะปลูกที่ถูกต้อง แม่นยำ และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
- Aqua-IoT ระบบตรวจติดตามสภาพบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ด้วยเทคโนโลยี IoT สามารถติดตามการใช้งานได้แบบ online
“ข้อมูล” ปัจจัยสำคัญสร้างความ “แม่นยำ” ด้านการเกษตร
เกษตรแม่นยำจำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยข้อมูล เกษตรกรต่างต้องการทราบข้อมูลที่สามารถทำนายสภาพแวดล้อมด้านการเกษตรในช่วงหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่านั้นจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะรับมือปรับเปลี่ยนการดูแลแปลงเพาะปลูก ควบคุมทรัพยากรการผลิตให้เหมาะสมทั้งการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย
โดยประเทศไทยมีข้อมูลทางด้านการเกษตรอยู่จำนวนมาก ทั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันน้ำ กระทรวงพาณิชย์ ประเด็นสำคัญ คือ เราสามารถจัดการให้ข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เนคเทค สวทช.ได้เข้ามาบทบาทสำคัญในการเติมเต็มระบบนิเวศนี้ โดยพัฒนา THAGRI หรือ แพลตฟอร์มความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตร (Thailand Agricultural Data Collaboration Platform) เพื่อเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลภาคการเกษตรจากพันธมิตรทั่วประเทศส่งออกมาในรูปแบบ Data API อำนวยความสะดวกสนับสนุนให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง หลากหลาย เพื่อสร้างนวัตกรรม หรือ แอปพลิเคชัน ที่ตอบโจทย์ภาคเกษตรกรรมต่อไป
อีกหนึ่งผลงานที่แสดงให้เห็นศักยภาพของการนำข้อมูลมาผนวกกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นั่นคือ “ไลน์บอทโรคข้าว” บริการวินิจฉัยโรคข้าวถึง 10 โรค จากภาพถ่ายได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ ผ่าน Line Application ภายใน 3-5 วินาที
Plant Factory ราคาย่อมเยา
“โรงงานผลิตพืช” หรือ “Plant Factory” เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเกษตรที่ทำให้สามารถปลูกในระบบปิดที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ทุกอย่าง ซึ่งปัจจุบันระบบนี้ยังคงมีราคาสูง และใช้ในผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงเป็นโจทย์สำคัญของเนคเทค สวทช.ในการพัฒนา Eco Plant Factory ที่มีราคาลดลง เพื่อให้เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศได้เข้าถึงการผลิตที่ไม่ต้องพึ่งพิงฤดูกาล ปริมาณผลผลิตที่คงที่ตลอดทั้งปี โดยเหมาะอย่างยิ่งกับการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง
นำความเชี่ยวชาญพัฒนาระบบตรวจสอบคุณและตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์เกษตร
เชื่อมโยงผลผลิตจากเกษตรส่งตรงถึงโรงเรียน
อีกหนึ่งโจทย์สำคัญด้านการเกษตร คือ การเชื่อมโยงความต้องการระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค เมื่อเนคเทค สวทช. มีโอกาสได้พัฒนาระบบ Thai School Lunch ใช้สำหรับวางแผนจัดสำรับอาหารในโรงเรียนให้ได้ตามหลักโภชนาการ ทำให้เห็นถึงความต้องการการใช้วัตถุดิบล่วงหน้าตั้งแต่รายสัปดาห์ถึงรายปีของโรงเรียนที่ใช้งานระบบกว่า 5 หมื่นโรงทั่วประเทศ เนคเทค สวทช.จึงได้พัฒนา “Farm to School” เพื่อตอบโจทย์ในการเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่เพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจชุมชนต่อไป
Open Innovation กุญแจสำคัญส่งงานวิจัยถึงมือเกษตรกร
“เนคเทค สวทช. เราเรียนรู้ ศึกษา วิเคราะห์เทคโนโลยีรอบด้านทั้งไทยและต่างประเทศ หากสามารถสร้างประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยได้ เราพยายามที่จะสร้างเทคโนโลยีและข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสร้างมูลค่าจากเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นต่อไป … เราไม่หยุดพัฒนาสร้างฐานรากเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่ออนาคตที่ดีของเกษตรกรไทยและคนไทยทุกคน” ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้าย