เริ่มแล้ว! 36 ชั่วโมงสุดเข้มข้น กับการแข่งขัน “ออกแบบอย่างใจคิด พิชิตอุตุน้อย Hackathon” ฝึกทักษะคิดสร้างสรรค์ ปั้นนวัตกรน้อยในเขตพื้นที่ EEC ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

Facebook
Twitter

10 มิถุนายน 2565: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการแข่งขัน “การออกแบบอย่างใจคิด พิชิตอุตุน้อย Hackathon” (UtuNoi Hackathon) ในระหว่างวันที่ 10 – 12 มิถุนายน 2565 เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ฝึกทักษะการออกแบบนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ครู อาจารย์ และเยาวชนระดับมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เตรียมพร้อมการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0

สำหรับพิธีเปิดการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.โชติมา หนูพริก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ได้กล่าวถึงบทบาทของหน่วยงานในการสนับสนุนกิจกรรม และกล่าวเปิดการแข่งขัน ร่วมด้วย ทีมงานจากเนคเทค สวทช. นำโดย ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการ ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EDT) คณะนักวิจัย ทีมงานพัฒนากําลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS) เข้าร่วมกิจกรรม ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. จ.ปทุมธานี

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรม ซึ่งสวทช. ได้ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ครูและเยาวชน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ได้จัดอบรมและกิจกรรมประกวดแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ (Online) ให้แก่ครู อาจารย์ และนักเรียนในพื้นที่ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 400 โรงเรียน ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การโค้ดดิ้ง (Coding), ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded system), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT), วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) การใช้งานการพิมพ์ 3 มิติและการตัดด้วยเลเซอร์ (3D-Printing & Laser cutting) และในครั้งนี้ได้มีโอกาสได้จัดกิจกรรม ณ สถานที่จริง ให้กับคุณครู และนักเรียน สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ EEC ได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับนักวิจัย ได้ใช้เครื่องมือในโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication lab หรือ FabLab) ในการพัฒนาผลงานตามที่ผู้เข้าแข่งขันทุกทีมได้ส่งข้อเสนอโครงการเข้าร่วมในการคัดเลือกรอบแรก โดยน้อง ๆ จะได้ฝึกทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking  ตามโจทย์การแข่งขัน “ออกแบบอย่างใจคิด พิชิตอุตุน้อย Hackathon” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมไปถึงทักษะการโค้ดดิ้งและสเต็ม ที่สพฐ.ให้ความสำคัญ ซึ่งทุกโครงการเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ของน้อง ๆ เยาวชนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการเรียนรู้ พัฒนาผลงาน เพื่อนำสถานีวัดอากาศอุตุน้อยไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนและชุมชนของตนเอง เช่น Smart Farm, การท่องเที่ยว, ป้องกันภัยพิบัติ รวมถึงนำไปพัฒนาเป็นชุดสื่อการเรียนการสอน เป็นต้น

ดร.โชติมา หนูพริก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า สพฐ.พร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกับเนคเทค สวทช. ในการสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการคิด เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง โดยเชื่อว่าผู้เรียนจะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ ในอนาคตอาจมีการขยายผลโครงการฯไปยังโรงเรียนในพื้นที่อื่น หรือ พื้นที่ห่างไกลที่มีเพชรเม็ดงามที่ต้องการการเจียระไน และขอส่งกำลังใจให้กับทุกท่านที่ร่วมแข่งขันเชื่อว่าทุกคนจะทำอย่างเต็มความสามารถใน 36 ชั่วโมงนับจากนี้

กิจกรรมการแข่งขัน “การออกแบบอย่างใจคิด พิชิตอุตุน้อย Hackathon” (UtuNoi Hackathon) เปิดรับสมัครครู และนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ. ฉะเชิงเทรา จ. ชลบุรี และจ.ระยอง ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 โดยมีทีมที่ผ่านรอบคัดเลือกเข้ามาแข่งขันในรอบนี้ทั้งสิ้น 15 ทีม จาก 12 โรงเรียน จำนวน 74 คน แต่ละทีมจะประกอบด้วยครู 2 คน และนักเรียน 3 คน ซึ่งหัวหน้าทีมจะต้องเป็นครูที่ผ่านการอบรมในหัวข้อ “KidBright อุตุน้อย” นอกจากนี้ทุกทีมจะได้รับการอบรมออนไลน์ให้ความรู้ ปรับพื้นฐาน และเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม ในเวทีการแข่งขันแต่ละทีมจะต้องออกแบบ พัฒนาเชื่อมต่อบอร์ด KidBright กับเซนเซอร์ภายนอกสำหรับตรวจวัดสภาพอากาศ เช่น วัดความเร็วลม วัดทิศทางลม หรือวัดปริมาณน้ำฝน (ตามโจทย์ที่จะได้รับก่อนการแข่งขัน) โดยใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่มีอยู่ภายในห้อง Fab Lab เพื่อสร้างเป็นสถานีอุตุน้อยในการวัดค่าสภาพอากาศ รวมทั้งการเก็บข้อมูล ส่งข้อมูลไปยังระบบคลาวด์คอมพิวเตอร์ประมวลผล และแสดงผลให้ได้ภายในระยะเวลา 36 ชั่วโมง เพื่อชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 60,000 บาท โดยเป็นรางวัลสำหรับผู้พัฒนาเครื่องมือวัดความเร็วลม ผู้พัฒนาเครื่องมือวัดทิศทางลม และผู้พัฒนาเครื่องมือวัดปริมาณน้ําฝน ประเภทละ 20,000 บาท