MI Group x เนคเทค สวทช. จับมือขับเคลื่อน Smart City ในประเทศไทยด้วยข้อมูล ภายใต้ความร่วมมือวิจัยและพัฒนา City Information Platform

Facebook
Twitter
7 มิถุนายน 2565 : ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้การต้อนรับ คุณสาธิต สาตรพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท มัลติอินโนเวชั่น (MI Group) พร้อมด้วย คุณวรวรรณ พรหมสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัลติอินโนเวชั่น เอนยิเนียริ่ง จำกัด และคุณพงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัลติเวิร์ส เอ็กเปอร์ท จำกัด ในโอกาสเดินทางมาร่วมประชุมหารือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ดำเนินงาน และร่วมลงนามในโครงการร่วมวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มบริการข้อมูลเมืองที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (City Information Platform) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน City Information Platform ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในประเทศไทย ​โดยมี ดร.อลิสา คงทน รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. ดร.เฉลิมพล ชาญศรีภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่าย และผู้เชี่ยวชาญวิจัยอาวุโสด้านสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และหัวหน้าโครงการวิจัย City Information Platform ดร.ศวิต กาสุริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เข้าประชุมหารือ และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในโครงการร่วมวิจัยดังกล่าว
วัตถุประสงค์ความร่วมมือในการร่วมวิจัยและพัฒนา City Information Platform มุ่งหวังให้แพลตฟอร์มนี้ เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญในการให้บริการข้อมูล เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์/ บริการของคนไทยที่เกิดจากข้อมูล ช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย รวมถึงเป็นการสร้างต้นแบบแพลตฟอร์มบริการข้อมูลให้กับเมืองต่าง ๆ ในประเทศ ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ตอบโจทย์ความต้องการในการบริหารจัดการแต่ละท้องถิ่น การกำหนดนโยบายเชิงพื้นที่ หรือแก้ปัญหาของเมืองได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกิดจากการร่วมวิจัยพัฒนา จะสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการข้อมูลเพื่อใช้บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในประเทศไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานยังได้ร่วมหารือถึงการขยายผลความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์มระยะต่อไป รวมถึงแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ เช่น Metaverse, Data Analytics, AI, Sensor, IoT เป็นต้น