ม.หัวเฉียวฯ ผนึกกำลัง เนคเทค สวทช. และ เอไอ เฟิร์ส ร่วมลงนามขยายความร่วมมือ พัฒนาหลักสูตร งานวิจัย กำลังคน สร้างนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์

Facebook
Twitter

17 มีนาคม 2565 : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) ลงนามขยายความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ โดยได้จับมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค สวทช.) และบริษัท เอไอ เฟิร์ส จำกัด (เอไอ เฟิร์ส) มุ่งพัฒนาหลักสูตร งานวิจัย กำลังคน สร้างนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ หวังผลิตบุคลากรด้านเอไอสู่ตลาดผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อให้ทันต่อการพัฒนาประเทศ

รศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดี มฉก.กล่าวว่า มฉก. ลงนามความร่วมมือกับเนคเทค สวทช. และเอไอ เฟิร์ส ซึ่งทั้งสองหน่วยงานเป็นองค์กรวิจัยด้านพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการสนับสนุนการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการสื่อสาร มีความเข้าใจระบบของการพัฒนาสถาบันการศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างดีเยี่ยม ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน คือ การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานการศึกษา พัฒนาบุคลากร สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมจากสถาบันการศึกษา ได้แสดงความรู้ความสามารถ พัฒนาผลงานนวัตกรรมที่สร้างคุณประโยชน์ คุณค่าแก่สังคม และประเทศชาติ การลงนามร่วมมือกันในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้ การพัฒนาด้านวิชาการของหลักสูตร ฝึกประสบการณ์จริง เน้นสหกิจในทุกหลักสูตร  มุ่งเน้นให้บัณฑิตมีคุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่ 1) Super Hard Skill 2) Chinese Skill และ 3) Digital Literacy ทั้ง CS และผลักดันให้นักศึกษาปีสูงได้ฝึกปฏิบัติงานจริงภายใต้สถานการณ์ตลาดแรงงานในปัจจุบัน

มฉก. เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 จนถึงปัจจุบัน และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการผลิตบัณฑิตที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ถือเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาของประเทศชาติ มหาวิทยาลัยจึงได้แสวงหาและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทางวิชาการในด้านต่าง ๆ ของหลักสูตร เพื่อพัฒนาให้สามารถตอบสนอง ต่อความต้องการ และเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. กล่าวว่า ภารกิจหลักของเนคเทค สวทช. คือมุ่งมั่นนำองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ โดยมีวิสัยทัศน์ เพื่อเป็นองค์กรชั้นนำในการสร้างฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ โดยปัจจุบันได้กำหนดนโยบายการทำงานแบบมุ่งเป้าที่เรียกว่า Target Output Profile หรือ TOP ภายใต้เทคโนโลยีหลัก 8 ด้าน เพื่อให้สามารถผลักดันเทคโนโลยีและผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ สนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อาทิ

  • การสร้างแพลตฟอร์ม/ เทคโนโลยีคลังข้อมูลขนาดใหญ่ Strategic Data Analytics
  • เทคโนโลยีเพื่อการวิเคราะห์เกษตรแม่นยำ (Precision Farming)
  • เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 (Smart Industry)

อีกเป้าหมายที่สำคัญ นั่นคือ การพัฒนาเทคโนโลยีและบริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย (Thai AI Service) ที่เราเน้นทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของการใช้เทคโนโลยี และงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่พัฒนาขึ้นในประเทศ

เนคเทคได้มีโอกาสร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ มาแล้วตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้กรอบความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่ร่วมกันดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนาผลงาน เช่น การแปลภาษาด้วยเครื่อง (Machine Translation) ระหว่างภาษาไทยและภาษาจีน ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้เป็นผลงานออกมาแล้ว และการจดจำวัตถุจากรูปภาพ (Object Recognition) สำหรับงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมเก็บข้อมูลภาพฟิล์ม X-Ray ในการใช้วินิจฉัยโรคด้วยภาพ

ในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสอีกครั้งที่เนคเทค สวทช. และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ จะได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ ในการพัฒนาหลักสูตรทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบัณฑิต พัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ ความสามารถ สร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ รวมถึงการจัดทำแผนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือประสบการณ์ภาคสนามของนักศึกษาตามความเหมาะสม ให้ตอบโจทย์ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน

คุณณัฐกิตติ์ อุษณีเหมกุล ผู้อำนวยการสายงานเทคโนโลยี เอไอ เฟิร์ส กล่าวว่า บริษัท Al FiRST จำกัด เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นให้บริการทางด้าน Al Technology โดยนำเอาผลิตภัณฑ์ และการแก้ไขทางด้าน AI จาก Al Platform (4 Core Technologies ได้แก่ เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า, การตรวจจับและวิเคราะห์วัตถุ, ระบบแยกแยะคุณลักษณะของสิ่งต่างๆ, ระบบจะอ่านตามตัวอักษรที่เจอและแสดงผลลัพธ์ที่ได้เป็นการรายงานผล) มาใช้ให้สอดคล้องกับลูกค้า ทั้งในส่วนของภาครัฐ และ ภาคเอกชน ภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะนำเอา Al Technology เข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรวมถึงการดำเนินธุรกิจของแต่ละองค์กร