[Hall of fame] นักวิจัยเนคเทคคว้ารางวัลมูลนิธิโทเร ประจำปี 2561

Facebook
Twitter

nectec-hall-of-fame-20190308

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยด้านระบบเครื่องกลไฟฟ้า เนคเทค-สวทช.
ผู้ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคลจากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย 

nectec-hall-of-fame-20190308

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยด้านระบบเครื่องกลไฟฟ้า จากเนคเทค-สวทช. เป็นผู้ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคล ของมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 25 ปี โดยมี ฯพณฯ ท่าน พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ องค์มนตรี เป็นประธานมอบรางวัล ณ ห้อง Grand Hall โรงแรม The Athenee ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562

nectec-hall-of-fame-20190308

ในโอกาสนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสวทช. ร่วมด้วย ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ และเพื่อนๆ ทีมนักวิจัยเนคเทค-สวทช. ได้เข้าร่วมแสดงความยินดีและภาคภูมิใจ
nectec-hall-of-fame-20190308
มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 ด้วยเงินบริจาคจาก Toray Industries, Inc. ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้เป็นกองทุนถาวร เพื่อนำดอกผลมาใช้ในการส่งเสริมความก้าวหน้าทาง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทย (ยกเว้นคณิตศาสตร์ และ แพทยศาสตร์คลินิก) โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) รางวัลสำหรับบุคคล/หน่วยงานที่มีผลงานดีเด่น ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2) เงินทุนช่วยเหลือการวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (3) รางวัลสำหรับครูวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่มีผลงานดีเด่น รวมเงินรางวัลและเงินทุนทั้ง 3 ประเภท ปีละ 6,000,000 บาท โดยในปีนี้ นับเป็นปีที่ 25 ที่มูลนิธิฯ ได้ดำเนินกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ยกย่องให้ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ เป็นผู้ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคล ในฐานะเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัย และมีผลงานเด่น ได้แก่
 
● ผู้บุกเบิกงานวิจัยจุลภาคด้านไมโครและนาโนเซนเซอร์ และ งานวิจัยด้านระบบไหลจุลภาคและห้องปฏิบัติการบนชิป ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยระบบห้องปฏิบัติการบนชิปจนเกิดเครือข่ายวิจัยด้านนี้กับหลายหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆ
● ผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่เน้นการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างผลกระทบต่อภาคการผลิตและบริการ
● ผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านวัสดุกราฟีน ซึ่งเป็นวัสดุที่มีโครงสร้างอันเกิดจากการจัดเรียงกันของคาร์บอนอะตอมแบบวงหกเหลี่ยม โดยปัจจุบันได้มีการศึกษาและนำกราฟีนมาใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านอิเล็กทรอนิกส์หลายด้าน ซึ่งห้องปฏิบัติการของดร. อดิสร นับว่าเป็นแห่งแรกของประเทศที่สามารถสังเคราะห์และจดสิทธิบัตรด้านการสังเคราะห์กราฟีนทั้งใน และต่างประเทศ นับเป็นการยกระดับงานวิจัยด้านกราฟีนและวัสดุศาสตร์ของประเทศไทย
● มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มี Impact Factor สูง จำนวน 132 เรื่อง โดยได้รับการอ้างอิงมากกว่า 4,000 ครั้ง นอกจากนี้ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือ Applications of Nanomaterials in Sensors and Diagnostics โดยสำนักพิมพ์ Springer เมื่อปีค.ศ. 2013 และเขียน Chapter ในตำราภาษาอังกฤษ 4 เรื่อง มีต้นแบบ 32 ชิ้น ผลงานสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร 25 เรื่อง โดยได้รับจดเป็นสิทธิบัตรนานาชาติ 1 เรื่อง และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เอกชน 5 บริษัท รวมทั้งบริษัท เฮเดลเทคโนโลยี เพื่อผลิตหมึกนำไฟฟ้ากราฟีน จำหน่ายไปทั่วโลก
ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ได้รับรางวัล
พ.ศ. 2547 นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่
พ.ศ. 2559 รางวัล TRF-OHEC-Scopus Researcher Award
พ.ศ. 2560 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ สิ่งประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น
พ.ศ. 2561 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ผลงานวิจัยดีเด่น
พ.ศ. 2561 ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว.
nectec-hall-of-fame-20190308
nectec-hall-of-fame-20190308

ข้อมูล | ฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาบุคลากรวิจัยและพัฒนาองค์กร (PSD)