ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รับรางวัล “มหิดลทยากร” ปี 60

Facebook
Twitter
มหิดลทยากร 60

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ณ ห้องบรรยายศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวณิช สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศเชิดชูเกียรติผู้มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม คุณธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม และประสบผลสำเร็จทางด้านวิชาการ และการดำรงชีวิต เป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และสาธารณชนทั่วไป เนื่องในโอกาสการจัดงาน 49 ปีวันพระราชทานนาม และ 130 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในปี 2561 คณะกรรมการได้มีมติมอบรางวัล“มหิดลทยากร” ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวน 10 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์ นายนิเวศน์ ประยูรเธียร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แพทย์หญิงเพ็ญแข ลิ่มศิลา ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนทราวดี เธียรพิเชฐ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถ นานา ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เอื้อพงศ์ จตุรธำรง

มหิดลทยากร 60

คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ สำเร็จการศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ในสมัยนั้น) พ.ศ. 2507 จากนั้นได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมไฟฟ้า (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จาก Imperial College of Science and Technology มหาวิทยาลัยลอนดอน และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ประวัติการทำงานอดีตและปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยผู้บุกเบิกการจัดตั้งสถาบันวิจัยระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับผู้บุกเบิกท่านอื่นๆ และทำให้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีแบบแผน เป็นระบบ เริ่มรับราชการในปี 2518 เป็นอาจารย์สอนหนังสือและทำวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากลกว่า 30 เรื่องใน Proceedings of the IEEE และ IEEE Transactions/Journals

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 10 เมื่ออายุ 39 ปี และระดับ 11 เมื่ออายุ 40 ปีเศษ และดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 2 สมัยติดต่อกัน ขณะเดียวกันก็ได้ไปช่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งปัจจุบันสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเป็นผู้อำนวยการคนแรกของเนคเทค ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการ สวทช. จนครบวาระ 2 สมัย ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษียณอายุราชการเมื่อกันยายน พ.ศ. 2548 แต่ยังทำงานด้านวิจัยและพัฒนา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสภากาชาดไทย กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ช่วยประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญพิเศษของ สวทช. ภาคีสมาชิก สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน และประธานกิตติมศักดิ์ KASIKORN Business-Technology Group

รางวัลและเกียรติยศที่ได้รับ
  • นักวิจัยดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2527
  • รางวัลนักวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2534
  • รางวัลส่งเสริมการใช้ดาวเทียมระหว่างประเทศในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากกระทรวงไปรษณีย์และโทรเลข ประเทศญี่ปุ่น (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงการสื่อสารและกิจกรรมภายใน) พ.ศ. 2541
  • รางวัล “ผู้นำการจัดการเทคโนโลยี” (LTM) เป็นคนแรกของประเทศไทยจาก PICMET (Portland International Center for Management of Engineering and Technology) พ.ศ. 2548
  • รางวัลบุคคลคุณภาพแห่งปี 2554 ด้านวิทยาศาสตร์ จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)
  • ได้รับการบันทึกชื่อและเกียรติประวัติลงในทำเนียบเกียรติยศ หรือ Hall of Fame ของมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2554
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
  • ประถมาภรณ์มงกุฎไทย พ.ศ. 2531
  • ประถมาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2534
  • มหาวชิรมงกุฎ พ.ศ. 2537
  • มหาปราภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2540
  • ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ พ.ศ. 2542
  • ทุติยจุลจอมเกล้า พ.ศ. 2548
  • Order of the Rising Sun, Gold Rays with Neck Ribbon From the Government of Japan. พ.ศ. 2550

จากประวัติ ผลงานและเกียรติประวัติข้างต้น ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น ของมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ปัจจุบันและสังคมต่อไป สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงมีมติมอบรางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

มหิดลทยากร 60
มหิดลทยากร 60
มหิดลทยากร 60