- เรื่อง | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์ และ ปาลิตา อินทรักษ์
- ถ่ายภาพ | ตุลลาวัฒน์ หอมสินธ์
สถานการณ์ COVID-19 ทำให้งานประชุมวิชาการประจำปีเนคเทค หรือ NECTEC-ACE พลิกโฉมสู่รูปแบบออนไลน์ ประเดิมตอนแรกด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานการณ์และการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ร่วมเหลียวหลัง แลหน้า “การสู้ COVID-19 ด้วยเทคโนโลยี”
- ผ่านการสัมมนาในหัวข้อ “เทคโนโลยีเพื่อการเฝ้าระวังสถานการณ์ทางระบาดวิทยาของโรคติดต่ออย่างบูรณาการ”
นำโดย นายแพทย์ยงเจือ เหล่าศิริถาวร ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ – สวทช. ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ เนคเทค-สวทช. และดร.ปรัชญา บุญขวัญ นักวิจัยกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค-สวทช. ร่วมดำเนินรายการ
เหลียวหลัง | วิกฤตการระบาดของ COVID-19 และการรับมือที่ผ่านมา
การสัมมนาเริ่มต้นด้วยเรื่องราวจุดเริ่มต้นของวิกฤตการระบาดของ COVID-19 และการรับมือที่ผ่านมาของประเทศไทยในมุมมองของกรมควบคุมโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์สถานการณ์ดังกล่าวของสวทช.
นายแพทย์ยงเจือ เหล่าศิริถาวร ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรับมือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ไปจนถึงประสิทธิภาพในการตรวจและวินิจฉัยโรค COVID-19 ได้เป็นประเทศแรกในโลก
ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับว่ามีความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับ 6 ของโลก เนื่องจากมีการวางรากฐานในการเตรียมความพร้อมการรับมือภัยสุขภาพทางด้านของโรคอุบัติใหม่มากว่า 20 ปี . . . สำหรับการแพร่ระบาดของ COVID – 19 เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่าประเทศไทยควบคุมโรคได้อย่างดีเพราะจากการประเมินในช่วงแรกเราคาดว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่เกิดขึ้นจริงกลางเดือนมีนาคม
ทั้งนี้นายแพทย์ยงเจือยังได้แนะนำ 5 แพลตฟอร์มทางดิจิทัลที่เกิดขึ้นเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้แก่ DDC Covid-19 สำหรับการรายงานและสอบสวนโรค , DDC-Care ใช้สำหรับติดตามผู้ป่วย ผู้สัมผัส และกลุ่มเสี่ยง, COSTE ใช้ติดตามผู้เดินทางจากต่างประเทศที่กักตัวใน State quarantine, ไทยชนะ ใช้ตรวจสอบประวัติการใช้สถานที่ร่วมกันกับผู้ป่วยยืนยัน และหมอชนะใช้ ตรวจสอบประวัติการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน
- สำหรับการใช้งานแอปพลิเคชัน DDC-Care ในการรับมือส่วนของการ Quarantine ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้น
นายแพทย์ยงเจือ กล่าวว่า “การที่จะไปติดตาม สอบสวนโรค ควบคุมโรคกับผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงจริง ๆ เราต้องการใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยลดเวลาในการทำงาน เราจึงไปคุยกับทีมงานสวทช. เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้มาสอดรับในเรื่องนี้ ซึ่ง DDC-Care เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่เราใช้ เรามีเทคโนโลยีที่ร่วมกันจัดทำกับพาร์ทเนอร์อื่นอีกหลายส่วน โดย DDC-Care เป็นส่วนหลักที่ทำให้เราสามารถติดตามผู้ป่วยกับผู้สัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ – สวทช. ได้เล่าถึงโจทย์และความท้าทายในการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ DDC-Care โดยมีระยะเวลาพัฒนาอันจำกัดภายใน 2 – 3 สัปดาห์ และต้องสามารถรองรับผู้ใช้งานกว่า 5 แสนคนได้อีกด้วย พร้อมแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชัน DDC-Care
“ในแง่ของผู้พัฒนา คือ เราต้องทำระบบให้เร็วและรองรับ scalability ได้ระดับหลายแสนคนจะทำอย่างไรให้รวดเร็ว ส่วนตัวตอนนั้นกังวลเรื่องการแพร่เชื้อว่าเราจะมีกลุ่มเสี่ยงในประเทศถึง 5 แสนคนเลยหรือ แต่เราเข้าใจว่าถ้ามีระบบออกมาได้ทัน ตัวเลขคาดการณ์ worse case scenario ก็คงจะไปไม่ถึง ก็เป็นที่น่าดีใจว่าสุดท้ายแล้ว ตัวเลขการใช้งาน DDC-Care ก็ยังไม่ได้ใกล้เคียงจุดนั้น อาจเป็นเพราะว่าระบบของเรามีความเข้มแข็งหลายๆด้าน” ดร.อนันต์ลดา กล่าว
เช่นเดียวกันกับ DDC – Care แดชบอร์ด ที่จำเป็นต้องพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันจำกัด ซึ่งเป็นส่วนที่รับข้อมูลแบบเรียลไทม์จาก DDC-Care แอปพลิเคชัน เพื่อประมวลผลร้อยเรียงข้อมูลและนำเสนอออกมาในรูปแบบของแดชบอร์ดเพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขรวมถึงบุคคลากรทางการแพทย์ใช้บริการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้อย่างทันท่วงนี้
โดย ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ เนคเทค-สวทช. ได้เล่าถึงความท้าทายในการพัฒนา DDC – Care แดชบอร์ด ว่า “การได้มาซึ่ง DDC-Care Dashboard เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามและประเมินกลุ่มเสี่ยงนั้น เราจะต้องจัดการเรื่อง Security Flexibility และ Scalability โดยเราสามารถดำเนินการได้ภายใน 2 สัปดาห์ เพราะเรามีเทคโนโลยีพร้อมใช้ คือ BigStream ที่ช่วยในการรวบรวม จัดการ จัดเก็บข้อมูล และ IAM ช่วยยืนยันตัวตนและจัดการสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล”
แลหน้า | เตรียมการรับมือ COVID-19 ในอนาคต และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับโรคอุบัติใหม่
ช่วงที่สองของการสัมมนาวิทยากรทั้ง 3 ท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเตรียมการรับมือ COVID-19 ในอนาคต รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับโรคอุบัติใหม่
สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรับมือ COVID – 19 นั้น นายแพทย์ยงเจือให้ความเห็นว่าในอนาคตต้องมีการวิเคราะห์ระบบงานว่าจุดใดควรนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยสนับสนุนและมีส่วนร่วม โดยประเทศไทยและพันธมิตรหลายภาคส่วนต่างร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้น ที่สำคัญ คือ จะต้องสามารถเชื่อมโยงแอปพลิเคชัน หรือ แพลตฟอร์มเข้าหากันได้ สู่แพลตฟอร์มกลางของประเทศ
“เทคโนโลยีโดยตัวมันเองไม่สามารถป้องกันโรคได้ การป้องกันควบคุมโรคได้อย่างดีต้องอาศัย Frontend operation แต่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยประเทศไทยมีทั้ง Frontend operation ที่มีประสิทธิภาพ คือ ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและประชาชน โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเสริมทัพ” นายแพทย์ยงเจือกล่าว
สำหรับการรับมือ COVID-19 ในอนาคตสำหรับแอปพลิเคชัน DDC-Care นั้น ดร.อนันต์ลดา กล่าวว่า “สำหรับ ประสบการณ์ที่ผ่านมา DDC-Care ได้รับการพัฒนาในระยะเวลาอันสั้นก็มีความไม่สมบูรณ์ของระบบในช่วงแรก เราก็ได้ปรับปรุงจากปัญหาที่เราเจอ จุดที่เราขาด อย่างปัจจุบันเราก็กำลังทดสอบเทคโนโลยีเพื่อปิดช่องโหว่ของการติดตามพิกัดกักตัว”
โดยช่องโหว่ดังกล่าว คือ โอกาสที่ผู้ที่ต้องกักตัวจะไม่ได้อยู่ในพิกัดตามที่ส่งจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสวทช.และภาคเอกชนได้พัฒนาริชแบรนด์ NFC ร่วมกับแอปพลิเคชัน DDC-Care เพื่อยืนยันตัวตนได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบทางเทคนิค
นอกจากนี้ ดร.นัยนา ยังได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีการตรวจวัดอุณหภูมิเข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการรับมือการระบาดของ COVID -19 ในอนาคตอีกด้วย “ในอนาคตมีโอกาสที่จะนำสมาร์ตเทอร์โมมิเตอร์เข้ามาแจกจ่ายตามครัวเรือน เมื่อมีการตรวจวัดไข้ข้อมูลดังกล่าวสามารถส่งแบบเรียลไทม์สู่ระบบ DDC-Care ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังภาวะที่อุณหภูมิสูง เนื่องจากอุณหภูมิเป็นจุดบ่งชี้หนึ่งของการติดเชื้อ COVID-19 นอกจากนี้เทคโนโลยี มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์” (μTherm-FaceSense) เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ ผนวกระบบตรวจจับใบหน้าบุคคลอัตโนมัติ (Face detection) ตรวจวัดได้หลายคนพร้อมกัน โดยเนคเทค – สวทช. ถ้าในอนาคตสามารถส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์สู่ระบบได้ก็จะทำให้การเฝ้าระวังโรคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
สำหรับการประยุกต์ใช้ DDC-Care กับโรคอุบัติใหม่นั้น นายแพทย์ยงเจือ กล่าวอย่างมั่นใจว่า DDC-Care ไม่ใช่ระบบที่ใช้สำหรับ COVID-19 เพียงเท่านั้น พร้อมอธิบาย 3 ฟังก์ชันใน DDC-Care ที่สามารถประยุกต์ใช้กับโรคอุบัติใหม่ได้
“ระบบและการใช้งาน DDC-Care นั้นสอดรับกับโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำทุกโรคอยู่แล้ว โดย 3 ฟังก์ชันหลัก คือ การดูพิกัดว่ากลุ่มเสี่ยงอยู่ในสถานที่กักตัวหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าโรคติดต่อใดเราก็ต้องการรู้พิกัดของกลุ่มเสี่ยง ฟังก์ชันถัดมา คือการ tracking ไม่ว่าจะเป็นโรคไหน เราจำเป็นต้องทราบพื้นที่ที่กลุ่มเสี่ยงอาจมีโอกาสไปแพร่เชื้อ ฟังก์ชันสุดท้าย คือ การรายงานสุขภาพ โดยอาจจะต้องดัดแปลงให้เหมาะสมกับโรคนั้น ๆ ดังนั้น 3 ฟังก์ชันของ DDC-Care พร้อมใช้กับทุกโรคอยู่แล้ว”
สอดคล้องกับความเห็นของดร.อนันต์ลดาที่ว่า DCC-Care ได้รับการออกแบบให้พร้อมรับมือกับโรคติดต่อ หรือ โรคระบาดอื่น ๆ อยู่แล้ว “เรามอง DDC-Care ในระยะยาวตั้งแต่เรื่องชื่อแอปพลิเคชัน โดยตั้งให้เป็นกลาง ๆ คือ ชื่อของกรมควบคุมโรค โดยฟังก์ชันอื่น ๆ เช่น จำนวนวันที่ต้องกักตัว ก็สามารถปรับให้เหมาะสมได้ หรือ หากมีคำถามสุขภาพใหม่ ๆ ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้”
นอกจากนี้ ดร.นัยนา ยังได้นำเสนอร่างแพลตฟอร์มการเฝ้าระวังสถานการณ์ทางระบาดวิทยาของโรคติดต่ออย่างบูรณาการสำหรับการประยุกต์ใช้กับโรคอุบัติใหม่ ดังนี้
“แพลตฟอร์มนี้จะถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีการวางกรอบ หรือ ขอบเขตการทำงานทางด้านระบาดวิทยาอย่างคร่าว ๆ และสนับสนุนให้มีการพัฒนาต่อยอดได้ ประกอบไปด้วย การรับข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เข้าสู่แพลตฟอร์ม (Data Ingestion Agent) การเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบ (Data lake) การจัดการคุณภาพของข้อมูล (Data Management) และมาตรฐานต่าง ๆ (Standards) เช่น การควบคุมโรค ข้อมูลส่วนบุคคล การวินิจฉัย การสอบสวนโรค เป็นต้น นำไปสู่โอกาสที่จะทำข้อมูลจากแอปพลิเคชันต่าง ๆ มาบูรณาการใช้งานร่วมกันได้ และการวิเคราะห์ หรือ นำไปสู่การจัดทำข้อมูลเปิดสาธารณะ (Open Data) เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป”
ในโอกาสนี้ เนคเทค-สวทช.ได้แนะนำพิธีกรคนพิเศษ “คุณกิตติ สิงหาปัด” ในรูปแบบนักข่าวปัญญาประดิษฐ์ Text to Speech ที่สามารถแปลงข้อความเป็นเสียงพูดโดยเรียนรู้จากข้อมูลเสียงของคุณกิตติตัวจริง ผลงานวิจัยล่าสุดจากกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค-สวทช. ที่มาร่วมดำเนินรายการ พร้อมซักถามประเด็นที่น่าสนใจร่วมกับวิทยากรอีกด้วย
- NECTEC-ACE Online Series ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ . . . สำหรับตอนต่อไปจะเป็นประเด็นใด ?
- 👉 ติดตามพร้อมกันเร็ว ๆ นี้ ! ทาง Facebook NECTEC NSTDA