ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) พร้อมด้วยทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI) นำโดยดร.สุทธิพงษ์ ธัชยพงษ์ หัวหน้าทีมวิจัยฯ ร่วมนำเสนอผลงานและนิทรรศการชูความสำเร็จระบบ TPMAP ในการเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม
ในโอกาสนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการประชุมการเสนอ แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่โดยการใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) โดยได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความ เหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่โดยการใช้ระบบ TPMAP เพื่อให้การดําเนินช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสําคัญกับการขจัดและแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศนําไปสู่การพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมมอบนโยบายให้ทุกจังหวัดใช้ระบบ TPMAP ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ พร้อมดำเนินการพัฒนาข้อมูลในระบบฯให้มีคุณภาพ ครอบคลุมมิติการพัฒนาทุกพื้นที่ของประเทศ
นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น เชียงราย นครพนม นครศรีธรรมราช และอุทัยธานี ได้มีการนําเสนอตัวอย่างการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่โดยใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP อีกด้วย
TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ ระบบบริหารข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เพื่อเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สําหรับบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนตลอดทุกช่วงวัยแบบชี้เป้า ซึ่งครอบคลุมถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ ซึ่งระบบ TPMAP สามารถใช้ระบุปัญหาความต้องการในการพัฒนาในแต่ละช่วงวัยได้และในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ รวมทั้งปัญหาความยากจนในมิติต่าง ๆ ทําให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ได้มากขึ้น และสามารถออกแบบนโยบายหรือโครงการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้อย่างตรงจุด ดังนั้น ระบบ TPMAP จึงเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายชิ้นแรกของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งในครัวเรือนและบุคคล ส่งผลให้ หน่วยงานระดับนโยบายและระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องสามารถจัดลําดับความสําคัญของ ครัวเรือนและบุคคลที่มีความจําเป็นต้องได้รับการพัฒนาและช่วยเหลือเร่งด่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence Base) โดยบูรณาการข้อมูลประชาชนหลากมิติจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันซึ่งกันและกันนำไปสู่ “กลุ่มคนเป้าหมาย” ที่ต้องเข้าไปติดตามและช่วยเหลือตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงหมู่บ้าน ซึ่งล่าสุดได้ต่อยอดสู่ระบบ “แฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย” หรือ TPMAP Logbook สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการ สำรวจและติดตามการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างใกล้ชิด
- ข้อมูลจาก TPMAP ตอบคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ 1) กลุ่มคนเปราะบางอยู่ที่ไหน 2) กลุ่มคนเหล่านั้นมีปัญหาอะไร โดยระบุปัญหาความยากจน 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ และท้ายที่สุด…กลุ่มคนเหล่านี้จะหลุดพ้นจากปัญหาได้อย่างไร นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนแบบชี้เป้าแบบตรงจุด