เนคเทค สวทช. ดำเนินโครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ประจำปี 2564 (Agritronics @ R-Cheewa) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพในการพัฒนาผลงาน (ค่าย Workshop 1)” ในระหว่างวันที่ 8 – 12 ธันวาคม 2564 ณ ห้อง Auditorium บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
พฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2564 จัดให้มีพิธีเปิดค่ายฯ โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเข้าร่วมเป็นประธานในการเปิดค่ายฯ ในครั้งนี้ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติที่ทางโครงการฯเชิญร่วมด้วย เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มี ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค (กล่าวต้อนรับผ่านระบบ webex) และ ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการ เข้าร่วมให้การต้อนรับ
โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” เป็นโครงการที่เนคเทค สวทช.ตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนน้อง ๆ นักศึกษาอาชีวะ ในการพัฒนาโครงการ โดยการนำองค์ความรู้ ทักษะในสายวิชาชีพ และนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ สารสนเทศต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในชุมชนในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งตรงตามวิสัยทัศน์ขององค์กรในการสร้างระบบนิเวศน์ในการใช้งานเทคโนโลยี โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนอาชีวะ ได้รับประสบการณ์ตรงในการนําองค์ความรู้ทักษะในสายวิชาชีพ รวมถึง นําเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้สร้างสรรค์พัฒนาผลงาน สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริงให้กับเกษตรกรในชุมชน และช่วยปรับปรุงพัฒนากระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ นับเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนทั้งระดับ ปวช. และปวส. ให้มีสมรรถนะการใน ทำงาน ก่อนที่จะเข้าสู่สถานประกอบการหรือเติบโตไปตามเส้นทางต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษา และทิศทางการพัฒนาประเทศอีกด้วย
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด Agritronics @ R-Cheewa จะเป็นกลไกหนึ่งในกระบวนการส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนอาชีวศึกษาในด้านการเกษตรแม่นยำ โดยการนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์สารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการการพัฒนาและคิดค้นเพื่อให้ได้ผลงานและสิ่งประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพประกอบกับเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เยาวชนอาชีวศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ และทักษะที่ได้รับการพัฒนาในสายวิชาชีพมาร่วมประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในชุมชนของตนเองในพื้นที่ ตลอดจนสามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการผลิตต่างๆ รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้ผลิตผลทางการเกษตรนั้น มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการฯ สอดคล้อง ตรงกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะมุ่งเน้นในพัฒนานักศึกษาอาชีวะ ดังนี้
- มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะสายอาชีพด้วยคุณภาพ และ เติมเต็มช่องว่างระหว่างทักษะ โดยขยาย และ ยกระดับอาชีวศึกษาทวิภาคี สู่คุณภาพมาตรฐาน เน้นร่วมมือกับสถานประกอบการชั้นนำ ขับเคลื่อนความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
- มุ่งเน้น Re-Skills, Up Skill และ New Skill การฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น รวมทั้งผลิตกำลังแรงงานที่มีคุณภาพตามความเป็นเลิศของแต่ละสถานศึกษาและตามบริบทของพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและสถานประกอบการ
- มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอาชีวศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 รวมทั้ง ให้ความร่วมมือในการพัฒนาขีดความสามารถของผู้เรียน ผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
- มุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณผู้เรียน ในหลักสูตรอาชีวศึกษา สร้างภาพลักษณ์สถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อดึงดูดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียน
- สนับสนุนให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ และจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือปฏิบัติที่ทันสมัย
ขอขอบคุณ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ให้ความสำคัญและได้ช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการดีๆ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษาอาชีวะจะเก็บเกี่ยวความรู้ และสามารถเรียนรู้จากนักวิจัย เนคเทค สวทช. ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ เพื่อให้สามารถนำสิ่งที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลงานและประกอบอาชีพในอนาคต ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมประเทศต่อไป
คุณวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงาน SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล มีแนวทางหลักในการดําเนินงานด้านกิจกรรมเพื่อสังคม คือการสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะของเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา ในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่21 ที่ประกอบด้วย ทักษะการคิดวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหา (Critical Thinking) ทักษะการทํางานเป็นทีม (Collaboration) ทักษะการสื่อสาร (Communication) และทักษะความคิดสร้างสรรค์(Creativity) การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงการสร้างเสริมสํานึกพลเมือง จิตอาสา ให้กับเยาวชน ซึ่งได้มีการดําเนินงานอย่างจริงจัง มุ่งเน้นที่การพัฒนาเยาวชนในระดับโครงสร้างทั้งระบบ โดยการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือภาคีที่อยู่ในระบบนั้น
โครงการนี้ จึงเป็นหนึ่งในโครงการหลักของธนาคารไทยพาณิชย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ในการพัฒนาสมรรถนะของเยาวชนตามแนวทางดังกล่าว โดยมี NECTEC ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนา Digital Literacy ของคนไทย เปรียบเสมือนเครื่องจักรสําคัญในการสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีให้ประเทศ เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ทีสําคัญมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา สําหรับความร่วมมือ ในปีนี้ โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนอาชีวะได้รับประสบการณ์ตรงในการนําองค์ความรู้ทักษะในสายวิชาชีพ รวมถึงนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สร้างสรรค์พัฒนาผลงาน สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริงให้กับเกษตรกรในชุมชน และช่วยปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ ให้มีประสิทธิภาพ นับเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนทั้งระดับ ปวช. และปวส. ให้มีสมรรถนะการในทํางาน ก่อนที่จะเข้าสู่สถานประกอบการหรือเติบโตไปตามเส้นทางต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษา และทิศทางการพัฒนาประเทศอีกด้วย
กิจกรรมครั้งนี้เป็น “การอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพในการพัฒนาผลงาน” ครั้งที่ 1 ที่ทุกคนจะได้เรียนรู้ทักษะและพัฒนาสมรรถนะที่หลากหลาย และหวังว่าน้อง ๆ ที่ได้เข้าร่วมเรียนรู้ในโครงการนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง ยกระดับผลงาน และสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรและชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ดร.ชัย วุฒิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้มอบงบประมาณส่วนหนึ่งมาสนับสนุนเยาวชนในโครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” นี้ ซึ่งเชื่อว่า โครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดต่อจากนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาผลงานด้านเทคโนโลยีเกษตร และสารสนเทศไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เศรษฐกิจ และสังคม ผลักดันไปสู่กลุ่มผู้ใช้งานได้จริง ผมเชื่อมั่นว่า นักพัฒนาที่เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ ได้ผ่านการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้นโดยคณะกรรมการของโครงการ ที่ได้คัดเลือกจาก 57 ผลงาน จากสถาบันอาชีวศึกษา 42 แห่ง ที่สมัครเข้าร่วม ผ่านการพิจารณารอบแรก 35 ผลงาน จากนั้นได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาผลงานในรูปแบบออนไลน์ต่อคณะกรรมการ จนได้รับการพิจารณาให้ได้รับทุนสนับสนุนพัฒนาผลงานทั้งสิ้น 15 ผลงาน ที่ได้มาเข้าร่วมค่ายฯ
เนคเทคได้เตรียมสถานีอุตุน้อย ที่สามารถวัดสภาพอากาศผ่านบอร์ด KidBright และ รวบรวมข้อมูลจากทุกสถานีมาเก็บ และแสดงผลบนหน้าเว็ป Utunoi โดยแสดงข้อมูลแต่ละสถานีบนแผนที่ตามพิกัดที่ได้ลงทะเบียนไว้จำนวน 30 สถานี ให้แก่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อส่งต่อให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี